เรื่องยุ่งๆ ในมุ้ง ม.การกีฬาชาติ ปฏิบัติการ ‘ล้างไพ่’ สลายขั้วอำนาจ

นายวิษณุ ไล่ชะพิษ

เรื่องยุ่งๆ ในมุ้ง ม.การกีฬาชาติ ปฏิบัติการ ‘ล้างไพ่’ สลายขั้วอำนาจ

 

สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเรื่องยุ่งเหยิงฝุ่นตลบในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ (มกช.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผลักดันจนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรื่องให้มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ อยู่ภายใต้คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความมั่นคงสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันการอุดมศึกษา ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ลงประกาศโดย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ประกาศดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ที่ถูกมองว่ามีปัญหาสะสมมาในหลายๆ เรื่อง ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้

เปรียบเสมือนคือการยึดการใช้อำนาจของสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ปี พ.ศ.2562 ให้กลับสู่การดำเนินการแก้ไขและอยู่ภายใต้ข้อบังคับของคำสั่งของหัวหน้า คสช.

 

หลังจากราชกิจจานุเบกษามีคำสั่งออกมา ทำให้ นายปริวัฒน์ วรรณกลาง อธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ทันที ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

คำสั่งดังกล่าวยังสะเทือนไปถึง 17 วิทยาเขตสถาบันการพลศึกษา (เดิม) ที่ถูกยกสถานะขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติทำให้ตำแหน่ง “รองอธิการบดี” ทั้ง 17 วิทยาเขตพ้นจากตำแหน่งโดยปริยายตามข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติไปพร้อมกับการลาออกของนายปริวัฒน์ วรรณกลาง ทันที

คนในวงการพลศึกษา และคนกีฬา ว่ากันว่า ต้นตอสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหายุ่งเหยิงในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ เนื่องจากการแย่งชิงเก้าอี้ “อธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” ที่คาราคาซังอยู่ 1 ปีกว่าที่ผ่านมา เพราะนอกจากกลุ่มที่สนับสนุนนายปริวัฒน์ วรรณกลาง แล้วยังมีกลุ่มที่ต่อต้านด้วยเช่นกัน

รวมไปถึงตำแหน่ง “นายกสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” ที่ชื่อของ “บิ๊กแน๊ต” นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ถูกเสนอไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทูลเกล้าฯ ในขั้นตอนต่อไป

แต่กระบวนการขั้นตอนดังกล่าวไม่เกิดขึ้นเนื่องจากกระทรวงมองเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในหลายๆ เรื่องของกระบวนการสรรหา “อธิการบดี” และการสรรหา “นายกสภามหาวิทยาลัย”

ว่ากันต่ออีกว่า นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ให้การสนับสนุนนายปริวัฒน์ วรรณกลาง นั่งตำแหน่ง “อธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” ท่ามกลางเสียงสนับสนุนจำนวนหนึ่ง และเสียงคัดค้านอีกจำนวนหนึ่งของสมาชิกทั้ง 17 วิทยาเขต

 

การลาออกดังกล่าวทำให้สถานการณ์ของมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ หยุดนิ่งทั้งส่วนกลาง และ 17 วิทยาเขต เพราะไม่มี “รองอธิการบดี” เซ็นหนังสือต่างๆ อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณ การเซ็นจบให้นักกีฬาศึกษา เป็นต้น

ทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต้องแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยการออกคำสั่งการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา พร้อมกับแต่งตั้งคณะบุคคล ปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติดังนี้

1.พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ เป็นประธานกรรมการ 2.หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล เป็นกรรมการ 3.พล.อ.พอพล มณีรินทร์ เป็นกรรมการ 4.นายกุศล แย้มสะอาด เป็นกรรมการ 5.นางญาใจ พัฒนะสุขวสันต์ เป็นกรรมการ 6.นายถกล นันธิราภากร เป็นกรรมการ 7.นพ.พิชญา นาควัชระ เป็นกรรมการ 8.นายวิษณุ ไล่ชะพิษ เป็นกรรมการ 9.นางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ เป็นกรรมการ

นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งนายวิษณุ ไล่ชะพิษ ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติอีกตำแหน่งหนึ่ง และให้คณะบุคคลผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้ง หรือคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ที่ได้กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย

 

นายวิษณุ ไล่ชะพิษ อดีตรองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะ “รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” เปิดใจว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีเจตนาดีที่จะพัฒนาและยกระดับมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติของไทย แต่เบื้องต้นต้องล้างไพ่สางปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กรให้หมดก่อน

โดย รมว.กีฬา ให้อิสระในการทำงานตามกรอบ 180 วัน เพราะมีเจตนาที่ดีในการทำให้มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักด้านกีฬาของไทย โดยได้รับการทาบทามให้มาช่วยงานก่อนที่จะเกษียณอายุราชการจากรองผู้ว่าการ กกท.

“ผมก็รับปากทันทีว่าจะมาช่วย เรื่องแรกตอนนี้ผมต้องเร่งทำคือ การเฟ้นหาผู้เหมาะสมมาทำหน้าที่ “รองอธิการบดี” ของแต่ละวิทยาเขต โดยผมจะต้องเสนอชื่อให้คณะกรรมการพิจารณาก่อนจะลงนามแต่งตั้งเพื่อให้แต่ละวิทยาเขตขับเคลื่อนงานได้ทั้งเรื่องงบประมาณ และการเซ็นคำสั่งจบของนักศึกษา”

“ผมไม่หนักใจนะเรื่องบุคลากร ผมได้เรียกประชุมทำความเข้าใจกับทุกวิทยาเขตไปแล้ว บอกไปแล้วว่า เรามาดี มีเจตนาดี ไม่มีเจตนามาจับผิดใคร เรามาเพื่อวางโครงสร้างให้งานเดินหน้าต่อไป มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ จะต้องผลิตบุคลากร นักกีฬาป้อนวงการกีฬา”

“ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติยังต้องให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนนโยบายสปอร์ตทัวร์ริซึ่มของภาครัฐอีกด้วย อาจต้องมีการคุยกันว่าควรใส่ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนหรือไม่ อย่างไร ตรงนี้กำลังหารือกันอยู่ ผมเข้าใจดีว่าผมเข้ามาตรงนี้มีคนที่เห็นด้วย และคนที่ต่อต้าน แต่ผมจะทำให้ดีที่สุดภายใต้หลักการที่ถูกต้อง”

นายวิษณุเปิดใจอีกว่า ผมมีเวลาทำงาน 180 วันให้เสร็จ และเมื่อเสร็จแล้วกระบวนการสรรหา “อธิการบดีคนใหม่” (ตัวจริง) จะเป็นอย่างไร ตรงนั้นค่อยว่ากัน หากผมคิดว่างานยังไม่เรียบร้อย และผู้ใหญ่เมตตา และให้โอกาสทำงานต่อ ผมก็พร้อมที่จะทำงานต่อไปตามกรอบวาระที่กำหนด เพราะเป็นคนกีฬา ทุกคนเป็นพี่เป็นน้องกัน รู้จักกันหมดอยู่แล้ว และผมเชื่อว่า ผมมีเจตนาที่ดีที่จะมาช่วยกันทำงาน และผมก็ทำความเข้าใจกับทุกๆ คนไปแล้ว

นี่คือ เรื่องยุ่งๆ ในมุ้งมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ที่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นเรื่องแย่งชิงเก้าอี้ แย่งชิงอำนาจ แย่งชิงงบประมาณกันอยู่ดี

นี่แหละที่ทำให้การพัฒนาด้านกีฬาของเมืองไทยไปไม่ถึงขีดสุด…

หรือไม่จริง…??? •

 

เขย่าสนาม | เงาปีศาจ