‘มวยไทย’ ปะทะ ‘กุนขแมร์’ บทพิสูจน์ศิลปะประจำชาติไทย

ไม่ว่าจะกี่ครั้งๆ ที่มีการจัดการแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ ขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่มักจะมาเป็นประเด็นอยู่เสมอ คือเรื่องของชนิดกีฬาที่เจ้าภาพประเทศนั้นๆ มักจะยัดเข้ามาเพื่อให้ตัวเองได้เป็นเจ้าเหรียญทอง

เช่นเดียวกันกับซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ ประเทศกัมพูชา จะได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติพวกเขา ก็ยังคงคอนเซ็ปต์จัดกีฬาให้มีข้อครหาได้เช่นเดิม

จากเดิมทีเจ้าภาพทำสถิติจัดชิงชัยมากสุดถึง 608 เหรียญทอง ก่อนที่หลายชนิดกีฬาจะถูกตัดทอนออกไปจนตอนนี้เหลือแค่ 581 เหรียญทองเท่านั้น

ซึ่งในซีเกมส์หนนี้ กัมพูชายัดกีฬาที่เรียกว่าศิลปะการต่อสู้ หรือ มาร์เชียลอาร์ต เข้ามาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น อาร์นิส 12 ทอง, โววีนัม 30 ทอง, ปันจักสีลัต 22 ทอง, วูซู 24 ทอง

หรือการยัดกีฬาพื้นบ้านอย่าง กุน ลโบกาตอร์ อีกหนึ่งศิลปะป้องกันตัวของชาวกัมพูชา (มีการใช้กระบี่กระบองร่วมด้วย) เข้ามาชิงถึง 21 ทองด้วยกัน

 

อย่างไรก็ตาม ถ้ามันมีแค่นี้ ก็คงจะไม่ได้มีประเด็นอะไรมากมายเท่าไหร่นัก

ปัญหามันกลับมาเกิดขึ้นเมื่ออยู่ดีๆ กัมพูชาก็เปลี่ยนชื่อการแข่งขันกีฬามวย ซึ่งคือมวยไทยในซีเกมส์ ที่มีการชิงชัยถึง 17 เหรียญทอง มาเป็น กุนขแมร์ ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ใช้หมัด-เท้า-เข่า-ศอก คล้ายคลึงกับมวยไทยแทน

เดิมทีกีฬามวยหรือ มวยไทย นั้น ถูกบรรจุเข้ามาอยู่ในกีฬาซีเกมส์ ตั้งแต่ครั้งที่ 23 ที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ ที่กรุงมะนิลา เมื่อปี พ.ศ.2548

ซึ่งกว่าจะบรรจุเข้ามาได้ มีการต่อต้านอย่างมากมาย เพราะว่าแต่ละประเทศต่างก็เคลมกันว่าตัวเองมีมวยแบบประจำชาติตัวเองแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา, พม่า, ลาว ก็ตาม

จนสุดท้ายจึงต้องใช้ชื่อการแข่งขันว่า มวย แทนที่จะใช้มวยไทยแทน

แต่กติกาและสหพันธ์ที่ควบคุมการแข่งขัน ก็คือ สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (อิฟม่า) อยู่ดี

แต่ในครั้งนี้ อยู่ดีๆ กัมพูชาก็ทึกทักเอาเองมาเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็นกุนขแมร์ โดยเดิมทีก็เขียนระเบียบการแข่งขันว่า กุนขแมร์ (มวย) แล้วให้อิฟม่าเป็นสหพันธ์ที่ทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขัน

ทว่าก็มาเปลี่ยนโดยใช้ สหพันธ์กุนขแมร์นานาชาติ (เคไอเอฟ) มาเป็นสหพันธ์ที่รับรองการแข่งขันแทน

 

ในการประชุมสำนักงานซีเกมส์ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องของกุนขแมร์มาก่อนเลย มีเพียงการทำหนังสือเปลี่ยนชื่อมา พร้อมกับมีการวงเล็บคำว่ามวยเอาไว้หลังคำว่ากุนขแมร์แทน

แต่ทางคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ก็เห็นแก่ความสัมพันธ์เพื่อนบ้าน จึงได้แค่ทัดทานในที่ประชุม แต่สุดท้ายอยู่ที่กัมพูชาเองจะดื้อจัดต่อหรือไม่

เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันผิดหลักการจัดการแข่งขัน เนื่องจากธรรมนูญซีเกมส์กำหนดชัดเจนว่ากีฬาใดก็ตามที่จะจัดการแข่งขัน จะต้องมีสหพันธ์ที่ได้รับรองจาก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) หรือ สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) รวมถึง องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (วาด้า)

แต่ว่าเคไอเอฟนั้นไม่มีการรับรองจากสหพันธ์ใดๆ เลย

 

สําหรับกุนขแมร์ นับเป็นศิลปะการต่อสู้พื้นบ้านของประเทศกัมพูชา มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Kbach Kun Pradal Khmer มีความหมายว่า “การต่อสู้อย่างอิสระ” เป็นศิลปะการต่อสู้ท่ายืนโดยมีเป้าหมายเพื่อน็อกคู่ต่อสู้ บีบให้ยอมแพ้หรือการชนะคะแนน

โดยจากการเปิดระเบียบการแข่งขันของกุนขแมร์ที่จะใช้ในซีเกมส์ครั้งนี้ แทบจะไม่มีอะไรต่างออกไปจากการแข่งขันมวยของเดิมเลยแม้แต่นิดเดียว ยกเว้นการเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็นกุนขแมร์ กับสหพันธ์ที่รับรองเป็นเคไอเอฟ และยกเลิกการไหว้ครูไปเท่านั้น

แน่นอนว่าการทำแบบนี้มันทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมาทันทีสำหรับชาวไทยเอง เพราะมันเหมือนกัมพูชาพยายามจะเคลมการแข่งขันมวยไทยไปเป็นของตัวเอง ทั้งๆ ที่คนไทยลงทุนสร้างกีฬานี้ขึ้นมาอย่างยาวนานจนได้รับการรับรองจากนานาชาติ

ซึ่งทางอิฟม่าในฐานะสหพันธ์ที่ดูแลเรื่องการแข่งขันเองก็ออกมาประกาศชัดเจนเลยว่า ประเทศใดก็ตามที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน จะต้องถูกแบนจากรายการที่รับรองโดยอิฟม่า อย่างเช่น เอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

ทว่า กัมพูชาเองก็ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ทั้งสิ้น ในฐานะที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ เพราะทาง วัธ จำเริญ เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกกัมพูชา ก็ยังคงยึดมั่นตามเดิมว่าจะจัดการแข่งขันมวยไทยในชื่อ กุนขแมร์ พร้อมทั้งบอกว่ามี 7 ประเทศที่ยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนเข้าร่วมการแข่งขันในซีเกมส์ครั้งนี้ ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว เมียนมา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ นายวัธ จำเริญ ยังประกาศด้วยว่าในซีเกมส์ครั้งต่อไป ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในอีก 2 ปีข้างหน้า ถ้ามีจัดการแข่งขันมวยไทย ทางประเทศกัมพูชาก็จะไม่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน และพร้อมจะผลักดันกุนขแมร์ไปสู่ระดับโลกในอนาคตด้วยเช่นกัน

นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะมนตรีซีเกมส์ด้วยนั้น ออกมายืนยันแน่ชัดว่า เมื่อเจ้าภาพยืนยันว่าจะจัดการแข่งขันกุนขแมร์ ขณะที่ทางสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้รับคำเตือนจากอิฟม่าว่าห้ามส่งการแข่งขัน ฉะนั้น คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ก็จะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกุนขแมร์ในซีเกมส์ครั้งนี้

สอดคล้องกับทางด้านของ ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และประธานกิตติมศักดิ์ของอิฟม่า ที่ได้ทำหนังสือแจ้งไปทางคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ว่าเราได้รับคำชี้แจงเชิงคำสั่งจากอิฟม่าว่าประเทศสมาชิกไม่สามารถส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันได้

ในขณะที่ประเทศไทยเป็นองค์กรที่มีความสำคัญกับอิฟม่า จึงต้องปฏิบัติตาม ถ้าหากโดนแบนจะส่งผลเสียหายอย่างมากจนถึงขั้นการผลักดันมวยไทยไปสู่โอลิมปิกเกมส์จบลงได้เลยทีเดียว

 

ในส่วนของกรณีนี้ก็ต้องยอมรับสภาพไปว่า ตราบเท่าที่กีฬาซีเกมส์ยังคงจัดกันแบบตามใจเจ้าภาพ และเห็นแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรวมถึงเหรียญรางวัล มันก็จะยังมีความไม่เป็นมืออาชีพแบบนี้ให้เห็นอยู่เรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามวยไทยตอนนี้มันมาไกลเกินกว่าจะมาสนใจดราม่าอะไรเล็กๆ แบบนี้อีกแล้ว เพราะปัจจุบันเองมวยไทยได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา รับรองให้มวยไทยเป็นกีฬาสมาชิกใหม่ อย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจจะทำให้มีลุ้นถูกบรรจุอยู่ในโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพอีกด้วย

อย่างที่ สามารถ พยัคฆ์อรุณ ตำนานนักมวยไทย ออกมาบอกว่า มวยไทยของเรามีหลักฐานการบันทึก รูปภาพ การแข่งขัน มาอย่างยาวนานอยู่แล้ว และพวกเราชาวมวยไทยได้ผ่านอุปสรรคได้ต่อสู้อะไรกันมามากมายกว่าจะมาถึงจุดนี้ จุดที่มวยไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมจากทุกมุมโลก พวกเรามาไกลเกินกว่าที่จะมาสนใจว่าใครจะใช้เราเป็นบันไดในการใช้สร้างชื่อเสียง สร้างเครดิตให้พวกเขา

ฉะนั้น ปล่อยเขาภูมิใจกับการแข่งขันเล็กๆ ระดับภูมิภาคแบบนี้กันไปเถอะ •