กฎ ‘มัสต์แฮฟ (Must Have)’ เมื่อรัฐเป็น ‘พ่อค้าคนกลาง’ บ่อนทำลายธุรกิจกีฬาโลก

A man walks outside the Al-Thumama Stadium in Doha on November 8, 2022, ahead of the Qatar 2022 FIFA World Cup football tournament. (Photo by Kirill KUDRYAVTSEV / AFP)

เหลือเวลาอีกไม่นาน ศึกฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มเปิดฉากฟาดแข้งกันอย่างเป็นทางการแล้ว ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2565

ฟุตบอลโลกเป็นมหกรรมที่สะกดจิตคนทั่วโลกให้หยุดแทบทุกกิจกรรมแล้วโฟกัสเฉพาะเกมฟุตบอล เชียร์ทีมรัก ทีมโปรดกันทุกคืนตลอด 28 วันเต็มๆ นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของคนที่ชื่นชอบฟุตบอลอย่างแท้จริง

32 ทีมในรอบสุดท้าย ประเทศที่ได้เข้าไปฟาดแข้งกระแสการต้อนรับฟุตบอลโลก 2022 คึกคักกันมาร่วมเดือนแล้ว ในหลายๆ ชาติอาเซียนที่เป็นชาติยักษ์ใหญ่อย่างอินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และเวียดนาม ต่างก็ควักกระเป๋าทุ่มทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมาให้คนในประเทศได้ชมฟุตบอลโลก 2022 กันไปแล้ว จึงทำให้กระแสตอบรับจากแฟนบอลเริ่มคึกคัก

แต่สำหรับประเทศไทย ยังคงต้องร้องเพลงรอกันต่อไป และต้องลุ้นกันจนวินาทีสุดท้ายว่า จะได้รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่ช่องทางใด อย่างไร

เหมือนฟุตบอลยูโรครั้งที่ผ่านมาที่ต้องรอกันจนวินาทีสุดท้ายก่อนเตะถึงจะรู้ว่าจะได้ดูทางช่องทางไหน อย่างไร

แต่ที่ยืนยันได้แน่นอนคือ คนไทยจะได้ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 แบบฟรีๆ ตามความต้องการของคนไทยแน่นอน

เพราะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ดันไปออกกฎ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) 7 ชนิดกีฬาที่คนไทยต้องดูฟรี ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก

โอเคว่า 6 มหกรรมกีฬาแรก คนไทยควรได้ดูและเชียร์ลูกหลานคนไทยที่ไปแข่งขันเพื่อส่งกำลังใจไปให้นักกีฬาไทยแบบฟรีๆ

แต่สำหรับฟุตบอลโลกนั้น “มัสต์แฮฟ” (Must Have) ทำลายระบบกลไกลทางการตลาดในธุรกิจกีฬาลงอย่างสิ้นเชิง เพียงเพราะว่า กสทช.ต้องการเอาใจคนไทย

เข้าใจว่าในมุมของ กสทช. มองแต่เรื่องของผลประโยชน์ของคนไทยที่จะต้องได้ดู “ของฟรี” จากการลงทุนของ “ใคร” ก็แล้วแต่ สุดท้ายคนไทยต้องได้ดูฟุตบอลโลกแบบฟรีๆ จุใจ 64 แมตช์

ในมุมของคนที่เข้าใจเรื่องธุรกิจกีฬา (เป็นอย่างดี) เขารับได้ที่จะยอมควักกระเป๋าเพื่อซื้อกล่องบอกรับรหัส หรือช่องทางที่ผู้ถือลิขสิทธิ์กำหนดเพื่อให้สามารถเข้าไปชมการแข่งขันฟุตบอลโลกได้และปล่อยให้การดำเนินการเรื่องของธุรกิจกีฬาเป็นไปตามกลไก

อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มที่รู้เรื่องธุรกิจกีฬา (เป็นอย่างดี) เป็นคนจากภาครัฐในวงการกีฬา แต่ “ตีมึน” เพราะต้องการใช้เงิน “รัฐ” มาถลุงแล้วคอยทำตัวเป็น “ตัวกลาง” หรือ “พ่อค้าคนกลาง” นำลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาขายสู่ตลาดในประเทศอีกทอดหนึ่งเรียกง่ายๆ คือ พ่อค้าคนกลาง ที่ตัดราคา แล้วนำมาแสวงหาผลประโยชน์

จะอ้างว่า หารายได้กลับคืนสู่ภาครัฐ

จะอ้างว่า เป็นองค์กรที่มีผลประโยชน์ตอบแทนคืนรัฐบาล

แต่สำนึกของคนกีฬา สามัญสำนึกของคนที่รู้ซึ้งเรื่องของธุรกิจกีฬา ผิดเพี้ยน ผิดกระบวนการคือ องค์กรดังกล่าวใช้วิธีแทงกั๊ก ไม่เปิดเสรีการแข่งขันเรื่องของการประมูลซื้อลิขสิทธิ์ เพราะกลัวว่าภาคเอกชนจะลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ กลัวหน่วยงานตัวเองจะไม่ได้หน้า ไม่ได้เครดิตในสายตาคนไทย เลยไปเจรจากับองค์กรใหญ่อย่าง กสทช. เพื่อออกกฎ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) โดยเล่นทีเผลอด้วยการ “ยัดไส้” มหกรรมฟุตบอลโลกพ่วงกับ 6 มหกรรมกีฬาแรกอย่างที่กล่าวไป

คนที่ไม่คิดอะไรเพราะชอบดู “ของฟรี” ก็จะได้ผลประโยชน์ไม่ต้องควักกระเป๋า 300-500 บาท เพื่อลงทุนดูฟุตบอลโลก 64 แมตช์ แต่สำหรับคนที่เขาเคารพกฎ กติกา มารยาทธุรกิจกีฬาโลกพวกเขายอมที่จะควักเงินเพื่อดูการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลก

เมื่อติดกฎ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) จึงไม่มีภาคเอกชนรายไหนกล้าที่จะเข้าไปลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) มาดำเนินการเพราะซื้อมาก็ไปหารายได้อะไรไม่ได้เนื่องจากต้องถ่ายทอดสด “ฟรี” ให้คนไทยได้ชมกันตามกฎ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) อีก

ฟุตบอลโลก 2022 แม้ว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จะออกมาประกาศสู่สาธารณชนว่า รอการเจรจาระหว่างภาคเอกชนในการซื้อลิขสิทธิ์

แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีภาคเอกชนรายใดเข้าไปตั้งโต๊ะเจรจากับเอเย่นต์ของฟีฟ่าเลยแม้แต่รายเดียว

แต่ กกท.ต้องปล่อยข่าวเพื่อให้ภาครัฐได้รับความชอบธรรมในการเข้าไปดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์ ในการนำ “เงินหลวง” มาใช้อย่างชอบธรรมนั่นเอง

ฟุตบอลโลก 2022 คนไทยได้ดูฟรีแน่นอน การันตีว่าแน่นอน และทุกๆ ครั้งนับจากนี้เป็นต้นไปก็จะได้ดูฟรีแน่นอน ตราบใดที่ฟุตบอลโลกยังเป็น 1 ใน 7 กีฬาตามกฎ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) แม้จะขัดต่อนานาอารยประเทศที่เขาทำกัน แม้จะเป็นการทำแบบไทยๆ ชนิดไม่สนใจว่า นั่นคือการทำลายระบบธุรกิจกีฬาโลกก็ตาม

แต่สุดท้ายคนไทยก็ได้ดูของฟรีภายใต้เงินลงทุนของภาครัฐ ทุกๆ วงรอบ 4 ปี

นี่ดีนะที่ฟุตบอลโลกเตะกัน 4 ปีครั้ง ถ้าเตะกันทุกๆ ปี รัฐบาลจะต้องนำเงินมาลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ปีละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท แทนที่จะนำไปพัฒนาด้านอื่นๆ เพราะนี่คือวิธีคิดแบบ “ไทยแลนด์”

ตราบใดที่เรายังเห็นดีเห็นงามกับนโยบาย “มัสต์แฮฟ” (Must Have) ก็จงอยู่ใน “โคลนตม”

เมื่อไม่หัดลืมตาเปิดใจรับวิถีธุรกิจกีฬาโลกที่มันคือ การค้าแบบเสรี ก็จงยอมรับสภาพที่รัฐบาลจะ “มัดมือชก” นำเงินภาษีประชาชนไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเพื่อนำมาแสวงหาผลกำไร “ต่อยอด” เข้าสู่ภาครัฐ ทุกๆ 4 ปี

เรื่องนี้ต้องกล้าที่จะยอมรับ และต่อต้านวิธีคิดของภาครัฐในการทำตัวเป็น “พ่อค้าคนกลาง”

หรือว่าไม่จริง…???