ค่าลิขสิทธิ์บอลโลก 570 ล้าน คนไทยจะได้ดู ‘ฟรี’ หรือไม่? กลเกมวัดใจ ‘รัฐบาล-กสทช.’ | เขย่าสนาม : เงาปีศาจ

ค่าลิขสิทธิ์บอลโลก 570 ล้าน คนไทยจะได้ดู ‘ฟรี’ หรือไม่?

กลเกมวัดใจ ‘รัฐบาล-กสทช.’

 

เหลือเวลาอีกเพียงเดือนกว่า ศึกฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 2022 ภายใต้ชื่อ “ฟีฟ่า เวิลด์คัพ กาตาร์ 2022” ที่ประเทศกาตาร์ ก็จะเริ่มเปิดฉากอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2565

ต้องยอมรับว่า ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย จะทำให้โลกสงบหยุดทุกกิจกรรมและไปโฟกัสกันที่เกมการแข่งขัน

สำหรับฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายคราวนี้มี 32 ทีมที่ผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้าย แบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมี 4 ทีม แข่งขันแบบพบกันหมดเพื่อหา 2 ทีมเข้าไปแข่งรอบน็อกเอาต์ 16 ทีมสุดท้าย

กลุ่ม A ได้แก่ กาตาร์ (เจ้าภาพ), เอกวาดอร์, เซเนกัล และเนเธอร์แลนด์

กลุ่ม B ได้แก่ อังกฤษ, อิหร่าน, สหรัฐอเมริกา และเวลส์

กลุ่ม C ได้แก่ อาร์เจนตินา, ซาอุดีอาระเบีย, เม็กซิโก และโปแลนด์

กลุ่ม D ได้แก่ ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, เดนมาร์ก และตูนิเซีย

กลุ่ม E ได้แก่ สเปน, คอสตาริกา, เยอรมนี และญี่ปุ่น

กลุ่ม F ได้แก่ เบลเยียม, แคนาดา, โมร็อกโก และโครเอเชีย

กลุ่ม G ได้แก่ บราซิล, เซอร์เบีย, สวิตเซอร์แลนด์ และแคเมอรูน

กลุ่ม H ได้แก่ โปรตุเกส, กานา, อุรุกวัย และเกาหลีใต้

คู่เปิดสนาม วันที่ 21 พฤศจิกายน จะเป็นการพบกันระหว่าง เซเนกัล พบกับ “กังหันลม” เนเธอร์แลนด์ เวลา 17.00 น. (ตามเวลาเมืองไทย) โดยรอบแบ่งกลุ่มจะแข่งขันเสร็จสิ้นในวันที่ 2 ธันวาคม หลังจากนั้นรอบ 16 ทีมสุดท้าย (เตะแบบน็อกเอาต์) จะแข่งขันระหว่างวันที่ 3-6 ธันวาคม

รอบก่อนรองชนะเลิศ (8 ทีมสุดท้าย) จะแข่งขันระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม ส่วนรอบรองชนะเลิศจะแข่งขันในวันที่ 13-14 ธันวาคม โดยผู้แพ้ต้องไปชิงอันดับสามวันที่ 17 ธันวาคม ส่วนผู้ชนะจะได้ผ่านเข้าไปเล่นรอบชิงชนะเลิศวันที่ 18 ธันวาคม

Photo by AFP

หลากหลายคำถามที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาสำหรับคอบอลพันธุ์แท้ชาวไทยคือ จะดูถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่ไหน…?

คำตอบ ณ เวลานี้ยังบอกไม่ได้ว่า คนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลก 2022 ผ่านช่องทางใด จะเป็นฟรีทีวี หรือกล่องบอกรับสัญญาณของค่ายใดๆ ที่เอกชนจะเข้าไปลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)

ข้อมูลจากฟีฟ่า ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ระบุว่า ขณะนี้มี 95 ประเทศซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากฟีฟ่าเรียบร้อยแล้ว โดยยังไม่มีประเทศไทย…!!!

แต่ในส่วนชาติในภูมิภาคอาเซียนที่ซื้อลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้วมี 4 ชาติ ประกอบด้วย บรูไน, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย

ประเทศที่ลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 แพงที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา ที่ซื้อแพ็กเกจ 2 ครั้งคือ ปี 2018 พ่วงปี 2022 จ่ายไปทั้งสิ้น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท

ครั้งก่อนเมื่อปี 2018 ประเทศเวียดนาม เป็นประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเป็นประเทศสุดท้ายด้วยมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 380 ล้านบาท

สื่อเวียดนามสำนักหนึ่งรายงานว่า เวลานี้ประเทศเวียดนามกำลังเจรจากับเอเย่นต์ที่ดูแลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของฟีฟ่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยระบุว่า ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดครั้งนี้อยู่ที่ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 570 ล้านบาท

ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขเดียวกันหากประเทศไทยจะยื่นซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชมกัน

แต่ปัญหาคือ ใครจะเป็นเจ้าภาพ ใครออกเงินส่วนดังกล่าว…!

Photo by AFP

เพราะนับตั้งแต่ประเทศไทยโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปออกกฎ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) ว่า ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ต้องถ่ายทอดสดให้ประชาชนดูฟรี ก็ไม่มีภาคเอกชนรายใดเข้าไปลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอีกเลย เพราะซื้อมาก็ขาดทุนย่อยยับ

กฎมัสต์แฮฟ (Must Have) ออกมาเพื่อเอาใจแฟนกีฬาชาวไทยบางส่วนที่ไม่สนใจวัฒนธรรมการดูกีฬาแบบสากลโลกเขาทำกัน แฟนกีฬากลุ่มนี้นิยม “ของฟรี” ไม่ชอบควักเงินซื้อกล่องบอกรับสัญญาณ พอมีเอกชนลงทุนซื้อมาทำกล่องขายก็ตีโพยตีพายว่า ทำไมรัฐบาลปล่อยให้ประชาชนต้องมาควักเงิน ซึ่งสวนทางกับทั่วโลกที่เจริญแล้วเขาทำกันในเรื่องของการตลาดในวงการกีฬา

สุดท้ายกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) กลายเป็นหอกทิ่มแทงกลับไปยังรัฐบาลไทยในทุกๆ ครั้ง เพราะภาคเอกชนเขาก็บอกว่า ผมไม่ลงทุน ถ้าคุณอยากให้ประชาชนดูฟรี คุณก็เอา “เงินหลวง” ไปซื้อมาเอาใจประชาชนเองสิ…

โค้งสุดท้ายก่อนฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มต้นขึ้นต้องวัดใจ รัฐบาลไทย วัดใจ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วัดใจ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ว่าจะยอมควักเงิน 570 ล้านบาทเพื่อไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 มาดำเนินการถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ชมกันหรือไม่

หรือต้องรอ “ฮีโร่” ภาคเอกชนใจถึงที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยเหมือนเช่น aerosoft ในศึกฟุตบอลยูโร 2020 ครั้งที่ผ่านมาชนิดใจหายใจคว่ำว่าจะได้ดูหรือไม่ได้ดู

Photo by KARIM JAAFAR / AFP

บอกไว้ ณ ตรงนี้เลยว่าตราบใดที่รัฐบาลไทย ยังชอบแสดงบทการเป็นฮีโร่ และไม่บังคับให้ กสทช. ไปยกเลิกกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) ที่สวนหลักสากลโลก รัฐบาลไทยจะต้องเสียเงินไปเรื่อยๆ ทุกๆ วงรอบ 4 ปี สำหรับค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเพื่อให้ประชาชนได้ดู “ของฟรี”

ทำไมไม่คำนึงในมุมของเรื่องกระบวนการลิขสิทธิ์กีฬา เคารพในกลไกทางการตลาดในวงการกีฬา

เลิกได้แล้วกับคำว่า “ของฟรี” หัดมองดูชาวโลก หรือมองประเทศที่เขาเจริญแล้วเป็นตัวอย่างก็ได้

ฝากไว้ให้คิด…ฝากไว้ให้คิด •

 

เขย่าสนาม | เงาปีศาจ