‘หญิงข้ามเพศ’ ประเด็นร้อนของโลกกีฬา / Technical Time-out : SearchSri

Leah Thomas /Hunter Martin/Getty Images

Technical Time-out

SearchSri

 

‘หญิงข้ามเพศ’

ประเด็นร้อนของโลกกีฬา

หลังจากเป็นประเด็นที่คลุมเครือ ไม่ก็ผู้เกี่ยวข้องพยายามมองข้ามมาสักระยะหนึ่งด้วยมองว่าเป็นเรื่องค่อนข้างอ่อนไหว ในที่สุดวงการกีฬาโลกก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นนักกีฬาแปลงเพศอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ตอนนี้หลายๆ สหพันธ์กีฬาระดับนานาชาติกำลังถกเถียงและหาคำตอบของคำถามที่ว่า ผู้หญิงข้ามเพศควรได้รับอนุญาตให้ร่วมแข่งขันในกีฬาหญิงไม่ว่ากีฬาใดๆ หรือไม่?

ประเด็นเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศนั้นเป็นเรื่องที่นักกีฬาหญิงพยายามต่อสู้มายาวนาน แน่นอนว่าด้วยข้อจำกัดด้านสรีระและความแข็งแกร่งของร่างกายทำให้กีฬาส่วนใหญ่ต้องแบ่งประเภทชายและหญิง ยกเว้นบางชนิดกีฬาที่แข่งขันร่วมกันได้เนื่องจากไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องเพศ เช่น กีฬาขี่ม้า หรือบางชนิดกีฬาเริ่มบรรจุกีฬาประเภท “ผสม” เข้าไป เช่น วิ่งผลัด ว่ายน้ำผลัดที่มีนักกีฬาทั้งหญิงและชายร่วมแข่งแต่ละทีมเท่าๆ กัน (ชาย 2 หญิง 2)

แต่ในส่วนของนักกีฬาแปลงเพศนั้นเป็นประเด็นที่แยกออกมา และเริ่มถกเถียงกันมากขึ้นในช่วงหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้

ลีอา โธมัส นักว่ายน้ำหญิงข้ามเพศ

สําหรับ “ผู้หญิงข้ามเพศ” (transwoman) นั้นหมายถึง ผู้ชายที่แปลงเพศเป็นเพศหญิงโดยสมบูรณ์แล้ว ในทางสังคม หลายๆ ประเทศยอมรับว่ามีศักดิ์ศรีเท่าเทียมเพศหญิง

อย่างไรก็ตาม สำหรับวงการกีฬาแล้ว ค่อนข้างละเอียดอ่อนกว่านั้น เพราะก่อนหน้าจะแปลงเพศ นักกีฬาหญิงข้ามเพศเคยเป็นผู้ชายมาก่อน สภาพร่างกาย สรีระ ความแข็งแกร่ง พัฒนามาโดยสมบูรณ์เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ แม้ภายหลังจากแปลงเพศแล้วจะได้รับยาลดระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนแล้วก็ตาม

ยิ่งถ้าเคยเป็นนักกีฬาสมัยก่อนแปลงเพศยิ่งเห็นข้อได้เปรียบนี้ชัดเจน ตัวอย่างที่เป็นประเด็นร้อนก่อนหน้านี้คือ ลีอา โธมัส นักว่ายน้ำชาวอเมริกันวัย 23 ปี ซึ่งสมัยก่อนแปลงเพศเคยเป็นสมาชิกทีมว่ายน้ำระดับมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และทำสถิติระดับท็อปในประเภททีม

ต่อมาเมื่อแปลงเพศแล้ว ต้องรับยาเพื่อควบคุมระดับฮอร์โมน ลีอาทำเวลาแย่ลงกว่าเดิมมาก แต่ก็ยังดีกว่านักกีฬาหญิง โดยในปี 2022 เธอทำลายสถิติว่ายน้ำระดับมหาวิทยาลัยของผู้หญิงแบบกระจุยกระจาย จนกลุ่มผู้ปกครองของนักกีฬาหลายคนร่วมลงชื่อประท้วงให้สมาคมกีฬามหาวิทยาลัยแห่งสหรัฐ (เอ็นซีเอเอ) ออกกฎห้ามลีอาลงแข่งขัน

การถกเถียงเป็นไปอย่างกว้างขวาง เริ่มมีการประท้วงริมสระในการแข่งขันรายการต่างๆ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนก็มองว่าในเมื่อลีอากลายเป็นเพศหญิงแล้วก็ควรได้สิทธิเข้าร่วมแข่งกับนักกีฬาหญิงทั่วไป

 

ประเด็นเรื่องนักกีฬาแปลงเพศเริ่มขยายวงจากกีฬาว่ายน้ำไปกีฬาอื่นๆ ที่เห็นชัดเจนอีกกีฬาคือ จักรยานทางไกลซี่ง เอมิลี่ บริดจ์ส นักปั่นสหราชอาณาจักร เจ้าของสถิติประเภทถนนระยะ 25 ไมล์ ของประเทศสมัยเป็นเยาวชน ก็โดนต่อต้านจากนักกีฬาหญิงเช่นกัน

หลังจากโดนกดดันหนักขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด สหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (ฟีน่า) ก็ออกกฎห้ามหญิงข้ามเพศร่วมแข่งขันว่ายน้ำหญิงระดับนานาชาติ เช่นเดียวกับรักบี้ลีกนานาชาติ (ไออาร์แอล) ขณะที่สหพันธ์กรีฑานานาชาติ (ไอเอเอเอฟ) ก็กำลังพิจารณาออกกฎในลักษณะเดียวกัน

ส่วนสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) นั้น ยอมรับว่ามีความได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้นจริง แต่ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และออกกฎควบคุมโดยใช้เกณฑ์วัดระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนเป็นขีดจำกัดแทน โดยระบุว่า นักกีฬาแปลงเพศที่จะเข้าร่วมแข่งขันต้องมีระดับเทสโตสเตอโรนไม่เกิน 2.5 มิลลิลิตร ในระยะเวลา 24 เดือน

สำหรับสหพันธ์กีฬาที่ออกกฎห้ามหญิงแปลงเพศเข้าร่วมกีฬาประเภทหญิงนั้น พยายามยึดหลักการทางวิทยาศาสตร์โดยมีงานวิจัย 2-3 ชิ้นมาสนับสนุน เช่น งานวิจัยของนักชีววิทยา เอ็มม่า ฮิลตัน และ ทอมมี่ ลุงเบิร์ก ซึ่งระบุว่า การกดระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนทำให้มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแกร่งของหญิงข้ามเพศลงลด 5 เปอร์เซ็นต์ หลังจากผ่านไป 12 เดือน

ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นของ โจอันนา ฮาร์เปอร์ พบว่า ช่วง 3 ปีแรกหลังรับการควบคุมระดับฮอร์โมน ร่างกายของหญิงข้ามเพศอาจจะยังมีความแข็งแกร่งแทบไม่ต่างจากตอนเป็นผู้ชาย

อย่างไรก็ตาม ในแง่การถกเถียงประเด็นทางวิทยาศาสตร์นั้น จำเป็นต้องมีงานวิจัยหลายชิ้นมาสนับสนุน รวมถึงการเจาะกลุ่มนักกีฬาเป็นสำคัญ อีกทั้งแม้ว่าบางสหพันธ์กีฬาจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงกฎกันบ้างแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าอีกหลายๆ ชนิดกีฬาจะเดินตามรอยไปด้วย ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่ายังไม่มีนักกีฬาแปลงเพศที่ทำผลงานโดดเด่นขึ้นมาเหมือนกับบางกีฬาที่เกิดการถกเถียงไปแล้ว

ประเด็นนี้จึงยังไม่จบ และน่าจะยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอีกยาวในอนาคตข้างหน้า •