‘อาเซียน’ จับมือยกระดับ ‘ซีเกมส์’ สู่เวทีต่อยอดสร้างชื่อในระดับโลก / เขย่าสนาม : เมอร์คิวรี่

เขย่าสนาม

เมอร์คิวรี่

 

‘อาเซียน’ จับมือยกระดับ ‘ซีเกมส์’

สู่เวทีต่อยอดสร้างชื่อในระดับโลก

 

มหกรรมกีฬา ซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม ชิงชัยกันอย่างเข้มข้นตั้งแต่ต้นจนเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการแข่งขัน ซึ่งเจ้าภาพจัดชิงชัยทั้งสิ้น 526 อีเวนต์จากทั้งหมด 40 ชนิดกีฬา

แต่สัดส่วนระหว่างกีฬาสากล และกีฬาพื้นบ้าน ต่างบรรจุเข้ามาชิงชัยในการแข่งขันมีจำนวนอีเวนต์ค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะกีฬาพื้นบ้านที่เจ้าภาพมีความหวังก็ยัดอีเวนต์ชิงชัยหลายเหรียญ

เวียดนามบรรจุ “โววีนั่ม” ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติของพวกเขาเข้ามาชิงชัยในซีเกมส์ครั้งนี้ โดยมีการชิงชัยถึง 15 เหรียญทอง และพวกเขาก็โกยเหรียญรางวัลไปได้เป็นกอบเป็นกำ

ขณะ “อีสปอร์ต” เป็นชนิดกีฬาที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และมีมูลค่าทางการตลาดค่อนข้างสูง มีชิงชัยในซีเกมส์หนนี้จำนวน 10 เหรียญทอง และแน่นอนว่าเวียดนามก็ได้ลุ้นเหรียญเช่นกัน

ถัดมา “หมากรุกเซี่ยงฉี” เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่เจ้าถิ่นมีความเชี่ยวชาญ และถนัดเรื่องเกมวางหมาก ซึ่งได้บรรจุเข้ามามาซีเกมส์ 2021 เป็นจำนวน 4 เหรียญทอง แต่จริงๆ แล้วไม่มีกีฬานี้แข่งขันก็ได้

รวมถึง “ฟินสวิมมิ่ง” ว่ายน้ำตีนกบ จัดชิงชัยมากถึง 13 เหรียญทอง ซึ่งถือว่ามีจำนวนอีเวนต์มากเกินไปหรือไม่ อีกทั้งที่สำคัญเวียดนาม และอินโดนีเซีย ต่างกวาดเหรียญทองจากกีฬาชนิดนี้มากมาย

รวมทั้งกีฬาต่อสู้ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยูยิตสู, คิกบ็อกซิ่ง, คูราช, ปันจักสีลัต และ วูซู ที่รวมกันแล้วมีการชิงชัยหลายสิบเหรียญทอง ยิ่งตอกย้ำถึงการเป็นมหกรรมกีฬาพื้นบ้านอย่างแท้จริง

หากเป็นเช่นนี้การพัฒนาวงการกีฬา (สากล) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นอย่างไร และจะยกระดับก้าวต่อไปสู่ระดับทวีปเอเชียในเอเชี่ยนเกมส์ จนกระทั่งถึงระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์ได้หรือไม่

เป็นคำถามที่คนวงการกีฬาอย่างแท้จริงรับรู้ได้ถึงคำตอบ แต่ไม่รู้จะแก้ไขปัญหากีฬาพื้นบ้านได้อย่างจริงจังหรือไม่ เพราะแท้จริงแล้วเจ้าภาพซีเกมส์ถูกปลูกฝังแนวคิดเช่นนี้มาเป็นเวลายาวนานพอสมควร

 

ย้อนกลับไปในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 เมื่อปี 1995 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อกว่า 27 ปีที่แล้ว จัดการชิงชัย 338 เหรียญทองจาก 28 ชนิดกีฬา

ด้วยการเป็นเจ้าภาพ ทำให้ทัพนักกีฬาไทยสร้างผลงานโกยเหรียญมากเป็นประวัติการณ์ถึง 157 เหรียญทอง พร้อมกับครองเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ได้สำเร็จ หลังจากเสียเบอร์หนึ่งให้กับอินโดนีเซีย ถึง 4 สมัย

จากนั้นในกีฬาซีเกมส์ครั้งต่อมาต่างผลัดกันครองเจ้าเหรียญทอง ไล่เรียงตั้งแต่อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ บนแผ่นดินของแต่ละชาติที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอง

จนกระทั่งในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 เมื่อปี 2007 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่ จ.นครราชสีมา จัดชิงชัยมากถึง 475 เหรียญทอง จากทั้งหมด 43 ชนิดกีฬา ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากขึ้นจากอดีตที่ผ่านมา

ทัพไทยกลับมาประกาศศักดาครองเบอร์หนึ่งอาเซียนอีกครั้ง ด้วยการคว้าได้มากถึง 183 เหรียญทอง ซึ่งถือเป็นยุคทองของวงการกีฬาไทย และการช่วงชิงความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าภาพอีกด้วย

ช่วงเวลาที่ผ่านมากีฬาพื้นบ้านต่างๆ เริ่มทยอยบรรจุเข้ามาในซีเกมส์แต่ละครั้งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ค่อยๆ ซึมซึบ และด้อยค่าตัวเองลงไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสิ้นมนต์ขลังของมหกรรมกีฬาแห่งอาเซียน

อย่างไรก็ตาม 3 ชาติของอาเซียนนำโดยไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย จึงลงความเห็นที่จะร่วมมือกันยกระดับพัฒนากีฬาซีเกมส์ให้กลับมาเป็นเวทีในการพัฒนากีฬาของแต่ละชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงกีฬาพื้นบ้านเท่านั้น

นอกจากการที่จะต้องเน้นจัดกีฬาสากลเป็นหลักให้มากที่สุดแล้ว กีฬาแบ่งรุ่นน้ำหนัก ซึ่งเดิมให้สิทธิ์เจ้าภาพส่งได้เต็มพิกัด แต่จำกัดชาติอื่นให้ส่งได้ไม่เต็มจำนวน ก็ควรต้องยกเลิกเสียทีด้วย เพื่อความเท่าเทียมของทุกชาติ

 

“บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ระบุว่า ในซีเกมส์ที่ผ่านมามักจะได้เห็นเจ้าภาพบรรจุกีฬาพื้นบ้านเข้าชิงชัยเกือบทุกสมัย เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ไทยไม่เห็นด้วย แต่หลายชาติก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ บรรดาผู้บริหารระดับสูงได้พูดคุยกันแล้วถึงแนวทางการทำให้กีฬาซีเกมส์ในอนาคตกลับมาดูน่าสนใจ และมีมนต์ขลังดังเดิม โดยที่ไทย และสิงคโปร์ เป็น 2 ชาติที่ยืนยันชัดเจนเรื่องการจัดกีฬามาตรฐาน

หลังจากที่ประเทศกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ปี 2023 ตามด้วยประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพปี 2025 จะเน้นหนักในการจัดชนิดกีฬาสากลเป็นหลัก ตามมาตรฐานในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์

“ในซีเกมส์นั้นหลายชาติพัฒนา ไม่ได้หยุดนิ่ง การแข่งขันค่อนข้างสูง แต่เป้าหมายที่แท้จริงของเรา และหลายชาติคือ การพัฒนาเวทีซีเกมส์ในการสร้างดาวรุ่ง เพื่อสร้างเด็กใหม่ๆ ขึ้นมาทุกชนิดกีฬา เพื่อต่อยอดไปเอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์”

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ กกท.ยืนยันว่า ไม่ใช่เราไม่ใส่ใจในทุกชนิดกีฬา เราส่งเสริมทุกชนิดกีฬา และทุกสมาคมกีฬา แต่เป้าหมายที่สูงขึ้นไปกว่านั้นในกลุ่มกีฬาสากล หรือความหมายก็คือ มีบรรจุในโอลิมปิกเกมส์

 

จากจุดนี้เองจึงนับว่าเป็นการจุดประกายความหวังของมหกรรมกีฬาซีเกมส์ให้มีโอกาสกลับมามีมนต์ขลัง และมีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับวงการกีฬาของอาเซียนให้พัฒนาไปพร้อมๆ กัน

ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ถือเป็นหัวเรือใหญ่ในการยกเครื่องมหกรรมกีฬาซีเกมส์ให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น แต่ว่าอีกหลายชาติ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ จะมีความคิดเห็นพ้องตรงกันหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าหากแต่ละชาติต้องการพัฒนากีฬาสากลของตัวเองอย่างแท้จริง ก็คงจะเห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ ซึ่งทุกชาติในอาเซียนควรจะจับมือกันร่วมพัฒนาวงการกีฬา ไม่ใช่ชิงดีชิงเด่นกับความสำเร็จจอมปลอมที่ต่อยอดไปไม่ได้

การจุดประกายครั้งนี้จะทำให้กีฬาซีเกมส์คืนชีพกลับมามีมนต์ขลังอีกครั้ง และหากทำสำเร็จได้จริงกีฬาซีเกมส์จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่จะช่วยผลักดันให้นักกีฬาอาเซียนก้าวไปสร้างชื่อในเวทีระดับเอเชีย และระดับโลกต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน… •