สนุ้กเกอร์ VS พ.ร.บ.การพนัน บ่วงพันธนาการฉุดรั้งกีฬา ถึงเวลาแล้ว ‘คิดใหม่ทำใหม่’ / เขย่าสนาม : เงาปีศาจ

เขย่าสนาม

เงาปีศาจ

 

สนุ้กเกอร์ VS พ.ร.บ.การพนัน

บ่วงพันธนาการฉุดรั้งกีฬา

ถึงเวลาแล้ว ‘คิดใหม่ทำใหม่’

 

เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันหลายสิบปีว่า เมื่อไหร่ กีฬาสนุ้กเกอร์ จะหลุดพ้นจาก พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478

ต้องยอมรับกันตามตรงว่า “บ่วงพันธนาการ” ที่ฉุดรั้งการพัฒนาวงการสอยคิวเมืองไทยเกิดจากการนำเอา “สนุ้กเกอร์” ไปบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 แม้ว่านักกีฬาของเมืองไทยจะพิสูจน์ฝีมือก้าวไปถึงอันดับต้นๆ ของโลก ตั้งแต่คนแรกอย่าง “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” วัฒนา ภู่โอบอ้อม ที่ขึ้นไปถึงมืออันดับ 3 ของโลก จนต่อมาอีกหลายๆ คนที่โลดแล่นอยู่ในสังเวียนโลก

แต่ผู้มีอำนาจในเมืองไทยก็ไม่อาจที่จะแยก “สนุ้กเกอร์” ออกจากพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478

จวบจนทุกวันนี้ผ่านมา 87 ปี หรือ 1 ชั่วอายุคนก็ยังล้าหลังในเรื่องของกฎหมายที่ฉุดรั้งต่อการพัฒนากีฬาของประเทศ

 

ประเด็นหลักคือ นับตั้งแต่มีการใช้พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่สามารถเข้าไปฝึกซ้อมหรือเล่นสนุ้กเกอร์ได้อย่างอิสระ ต้องหาที่ฝึกซ้อมกันอย่างยากลำบาก ทำให้มีนักกีฬาแจ้งเกิดได้น้อย และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในระยะยาว

ขณะเดียวกันเพื่อนบ้านอย่างประเทศจีน ที่เริ่มต้นด้วยการเดินตามรอย “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” ที่ไปเขย่าวงการสอยคิวโลกเมื่อ 30 ปีก่อน แต่วันนี้เขากลับแซงหน้าเราไปแล้วหลายช่วงตัว มีการเปิดโรงเรียนสอนสนุ้กเกอร์ ปั้นนักกีฬาเข้าสู่เวทีอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง

คนไทยจำนวนหนึ่ง นักการเมืองจำนวนหนึ่ง หรือผู้มีอำนาจจำนวนหนึ่ง ยังไม่ยอมปรับตัว ปรับทัศนคติเกี่ยวกับ “สนุ้กเกอร์” ยังตีกรอบความคิดของตัวเองว่า สนุ้กเกอร์เป็นกีฬาการพนัน เป็นเรื่องราวของนักเลงหัวไม้ชอบจับกลุ่มรวมตัวกันในโต๊ะสนุ้ก จึงถูกมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุมของพวกนักเลง

ปี พ.ศ.2535 ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย ได้มีการประชุมพิจารณาให้กีฬาสนุ้กเกอร์หลุดจากพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ซึ่งเกือบที่จะแยกกีฬาสนุ้กเกอร์หลุดจากบ่วงพันธนาการได้อยู่แล้ว

แต่สุดท้ายเรื่องก็กลับมาอยู่ในจุดเดิม เพราะความคิดเห็นของกลุ่มคนไม่กี่คนที่คัดค้านเรื่องดังกล่าวอย่างหัวชนฝา

ครั้งหนึ่ง “บิ๊กแนต” ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ อดีต รมช.คมนาคม ที่ปัจจุบันก้าวสู่วงการกีฬาเมืองไทยเต็มตัวในฐานะรองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ พยายามผลักดันสนุ้กเกอร์ให้เป็นกีฬาโรงเรียนเหมือนบาสเกตบอล หรือฟุตบอล

ปรากฏว่า ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ โดนผู้ปกครองโจมตีเละเพราะว่าตอนนั้นสนุ้กเกอร์ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ยังถูกมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุมของเด็กวัยรุ่น

ต่อมา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เล็งเห็นว่า กีฬาสนุ้กเกอร์สามารถก้าวสู่การเป็นกีฬาทั้งเพื่อความเป็นเลิศ และกีฬาอาชีพของนักกีฬาไทยได้ รวมถึงกีฬาสนุ้กเกอร์ถูกบรรจุในมหกรรมกีฬาอย่างซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์ กกท.จึงได้กำหนดให้บรรจุสนุ้กเกอร์อยู่ในพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2528

นั่นทำให้ “สนุ้กเกอร์” เป็นกีฬาชนิดเดียวที่ถูกบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติ 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.การพนัน และ พ.ร.บ.กีฬา

 

จริงอยู่ว่า สมัยก่อนบรรยากาศโต๊ะสนุ้กเกอร์มันก็คือแหล่งมั่วสุมของพวกขาโจ๋ เซียนพนัน เป็นแหล่งรวมซื้อ-ขายยาเสพติด

อันนี้พวกคนวงการสนุ้กเกอร์ต้องยอมรับความจริงแบบเจ็บปวดว่า มันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นจริง

ภาพลักษณ์ของสนุ้กเกอร์เลยเป็น “สีเทา” ยังไม่รวมถึงบางที่เจ้าของกิจการเห็นแก่ได้ ในโต๊ะสนุ้กเกอร์มีตู้สล็อต ตู้ม้า และอบายมุขหลายๆ อย่าง

ปัจจุบันอีกเช่นกันว่า ภาพลักษณ์ของเจ้าของกิจการผู้ให้บริการโต๊ะสนุ้กเกอร์ส่วนใหญ่ยกระดับตามการเปลี่ยนแปลงของโลก มีการพัฒนาสถานที่เป็นคลับ โอ่อ่า หรูหรา ห้ามสูบบุหรี่ บางแห่งมี “ครู” มีผู้เชี่ยวชาญคอยสอนการเล่นสนุ้กเกอร์สำหรับผู้ที่สนใจ

แทบจะไม่หลงเหลือบรรยากาศของคำว่า “แหล่งมั่วสุม” อีกแล้ว

ปัจจุบันต้องเรียกว่า สถานที่ออกกำลังกาย พักผ่อน และนันทนาการ สำหรับกีฬาสนุ้กเกอร์

“ต๋อง ศิษย์ฉ่อย”

ประเด็นหนึ่งว่ากันว่าเป็นสาเหตุที่ทำไมกีฬาสนุ้กเกอร์ถึงยังติดอยู่ในบ่วงพันธนาการพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์แอบแฝงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อก่อนการขอใบอนุญาตมีโต๊ะสนุ้กเกอร์ต้องขอจากตำรวจ แต่ปัจจุบันขอไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ใบอนุญาตที่ถือกันอยู่คือใบเดิมๆ ที่ซื้อขายต่อกันมา 1 ใบ อนุญาตให้มีโต๊ะสนุ้กเกอร์ได้ 6 ตัว แต่กฎหมายบ้านเรามีช่องว่าง บางคนเปิดโต๊ะใหญ่มีโต๊ะกว่า 30 ตัว เลยเป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐทำมาหากิน ถ้ามีใบอนุญาตไม่ถึงแล้วเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ จะเกิดอะไรขึ้น…?

คำตอบคือ ต้องจ่าย “ส่วย” ยัดใต้โต๊ะให้ตำรวจแลกกับการไม่มากวนใจ นี่จึงอาจเป็นต้นตอสาเหตุที่ทำให้สนุ้กเกอร์ไม่หลุดออกจากพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 เสียที

“ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” อดีตนักสอยคิวเบอร์ 3 โลก บอกว่า อยากเรียกร้องให้คนที่มีอำนาจผลักดันแก้ไขแยกกีฬาสนุ้กเกอร์ออกจากพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 เรื่องนี้เป็นปัญหาอมตะ ผมเรียกร้องมาตั้งแต่สมัยผมเล่นอาชีพโลก ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่วิธีคิด และวิธีมอง ในเมืองไทยสนุ้กเกอร์เปรียบเสมือนเป็นกีฬาลูกเมียน้อยที่ถูกโจมตีในแง่ของการพนันจนส่งผลกระทบต่อการพัฒนามาเสมอ อะไรบ้างที่ไม่มีการพนันในเมืองไทย อย่าให้ได้เอ่ยเลย อยู่ที่วิธีคิด เราจะมองเป็นเกมพนัน หรือเป็นกีฬาเพื่อการพัฒนา ถ้ามองว่า สนุ้กเกอร์คือการพนัน แต่วงการกีฬาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพนันคนกลับไม่พูดแบบ บอกให้ดูและศึกษาเรียนรู้เวลามีเรื่องเลวร้าย โจมตีสนุ้กเกอร์บอกเป็นแหล่งพนัน เป็นสถานที่มั่วสุม ทั้งที่จริงๆ แล้วมันมั่วสุมได้ทุกที่

“มิ้งค์ สระบุรี” ณัชชารัตน์ วงศ์หฤทัย

“มิ้งค์ สระบุรี” ณัชชารัตน์ วงศ์หฤทัย ผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักสนุ้กเกอร์หญิงคนแรกของไทยที่คว้าแชมป์โลกหญิงมาครองได้หมาดๆ บอกว่า ถ้าสนุ้กเกอร์ออกจากพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ก็น่าจะทำให้กีฬาชนิดนี้พัฒนาขึ้น น่าจะมีคนเข้ามาสนับสนุนเป็นสปอนเซอร์มากขึ้น เพราะสนุ้กเกอร์เป็นกีฬาอาชีพ

อยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจให้กว้าง คิดใหม่ทำใหม่ เชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ สนุ้กเกอร์ก็น่าจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

 

ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ผู้มีอำนาจต้องคิดใหม่ทำใหม่ ปรับทัศนคติของตัวเองต่อกีฬาสนุ้กเกอร์กับการพนัน

ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่จะแยกแยะให้เป็น มองแบบนักบริหาร มองแบบใช้สมองไตร่ตรองว่าสนุ้กเกอร์คือกีฬา

วางเรื่องผลประโยชน์ทิ้งไปแล้วคืนศักดิ์ศรีให้คนวงการสนุ้กเกอร์ บิลเลียด เมืองไทยกันได้แล้ว…!!! •