เมื่อนักกีฬาเป็นเหยื่อสงคราม เมื่อการเมืองใช้กีฬาเป็นอาวุธ / Technical Timeout : จริงตนาการ

Technical Timeout

จริงตนาการ

[email protected]

 

เมื่อนักกีฬาเป็นเหยื่อสงคราม

เมื่อการเมืองใช้กีฬาเป็นอาวุธ

 

การที่รัสเซียรุกรานยูเครน และเบลารุสเข้าไปมีส่วนสนับสนุนรัสเซีย ทำให้พี่ใหญ่และลูกน้องต่างถูกกดดันและลงโทษในวงการต่างๆ ของโลกอย่างหนัก โดยเฉพาะวงการกีฬาที่แบนนักกีฬารัสเซียและเบลารุส รวมไปถึงผู้ตัดสิน จากการแข่งขันรายการระดับนานาชาติกันหลายต่อหลายชนิด

นักกีฬาคนพิการของทั้งสองประเทศไม่ได้ร่วมแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน แบบที่รู้ตัวเพียงไม่กี่วันก่อนจะเดินทางเท่านั้น

เมื่อไม่กี่วันมานี้สหพันธ์กีฬาคนตาบอดนานาชาติ ก็ได้ออกแถลงการณ์แบนนักกีฬารัสเซียกับเบลารุสออกจากการแข่งขันที่สหพันธ์รับรองเช่นกัน

“เป็นการตัดสินใจที่ยากและเจ็บปวดมากที่ต้องลงโทษนักกีฬาที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเลย อย่างไรก็ตาม สหพันธ์ขอแสดงจุดยืนในการอยู่เคียงข้างชาวยูเครนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม และจะพิจารณาให้นักกีฬาที่ถูกแบนกลับมาแข่งขันได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย” แถลงการณ์ของสหพันธ์กีฬาคนตาบอดนานาชาติระบุเอาไว้

นักกีฬารัสเซียจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้นำประเทศทำ บางคนแสดงออกในการให้กำลังใจชาวยูเครน แต่น้อยคนที่จะกล้าวิจารณ์สงครามครั้งนี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะรู้ดีว่าจะมีผลต่อชีวิตทั้งของตัวเองและครอบครัว

 

เมื่อมองกันตามหลักสากลของกีฬาแล้ว มักจะมีประโยคที่ว่า “อย่าเอาการเมืองมาข้องเกี่ยวกับกีฬา” แนวทางของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ที่พยายามอย่างมากที่จะไม่ให้มีสัญลักษณ์ทางการเมืองใดๆ มาเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะโอลิมปิกเกมส์

โธมัส บาค ประธานไอโอซีเคยกล่าวไว้ในปี 2020 ว่า โอลิมปิกจะต้องไม่เกี่ยวกับการเมือง โอลิมปิกจะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันไม่ใช่รัฐบาลที่เป็นเจ้าภาพ แต่เป็นคณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศนั้นๆ ต่างหาก การที่เชิญนักการเมืองหรือผู้นำประเทศมากล่าวเรื่องใดๆ ในพิธีเปิด-ปิดนั้น ไอโอซีจะต้องพิจารณาแล้วว่าคำพูดเหล่านั้นต้องไม่เกี่ยวกับการเมือง

สหพันธ์กีฬานานาชาติในโลกนี้ต่างขึ้นตรงกับไอโอซี ดังนั้น แนวทางการผลักการเมืองออกจากกีฬาจึงควรรับต่อกันมา แต่สุดท้ายก็ยังคงมีการแบนนักกีฬาที่ไม่มีส่วนกับสงครามให้เห็นกันอย่างชินตาในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ออยวินด์ วัตเทอดาล รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกนอร์เวย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่วงการกีฬาโลกร่วมกันแบนนักกีฬารัสเซียและเบลารุส โดยมีจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับสงครามที่ยูเครน แต่การตัดนักกีฬารัสเซียและเบลารุสออกจากพาราลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาว 2022 รวมทั้งฟุตบอลโลก 2022 ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะไม่ควรเอานักกีฬาไปเกี่ยวกับการก่อสงคราม เนื่องจากไม่ควรเหมารวมว่าทุกคนที่เป็นคนรัสเซียหรือเบลารุสจะไปร่วมก่อสงครามด้วย

ขณะที่ สตีฟ ไซม่อน ประธานสมาคมนักเทนนิสอาชีพหญิง (ดับเบิลยูทีเอ) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า นักเทนนิสเบลารุสและรัสเซียควรได้แข่งขันกันต่อไป เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตบ้าง และไม่ควรนำเอาการเมืองที่ผู้นำในประเทศของพวกเขาทำ มาแบนไม่ให้นักกีฬาลงแข่งขัน ทุกคนควรช่วยกันสร้างสันติภาพ ไม่พยายามทำให้คนอื่นๆ ต้องมาเป็นเหยื่อของสงคราม

ดังนั้น การแบนนักกีฬาจากรัสเซียและยูเครนจึงเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม

 

วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ก็ยกเอาแนวคิดของปิแอร์ เดอ คูแบร์แต็ง ผู้ริเริ่มโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ คือ โอลิมปิกจะต้องเป็นสากล ทุกคนต้องได้รับโอกาสที่จะเข้าร่วม โดยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ไอเดียนี้กลับถูกกัดกร่อนลงไปทุกวัน

ด้าน แอนน์ อิดาลโก้ นายกเทศมนตรีกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน 2024 ก็ไม่ปิดโอกาสที่จะแบนรัสเซียและเบลารุส ในการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

“ปูตินฝ่าฝืนกฎหมายสากล ดังนั้น เราจึงต้องเอาเรื่องนี้มาพิจารณา และจะตัดสินใจเรื่องการเข้าร่วมการแข่งขันของรัสเซียและเบลารุสเมื่อถึงเวลานั้น” อิดาลโก้กล่าว

บาคเคยกล่าวทิ้งท้ายไว้เมื่อปี 2020 ว่า โอลิมปิกไม่สามารถหยุดความขัดแย้งและสงครามได้ แต่สามารถแสดงให้เห็นถึงความเคารพต่อกฎที่มีร่วมกัน และเคารพคนอื่นๆ ได้ ที่สำคัญโอลิมปิกจะสร้างแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหาด้วยน้ำใจและมิตรภาพ สร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นให้กับทุกคน เป็นหนทางที่นำไปสู่สันติภาพ

สงครามสร้างความเสียหายเสมอ และตอนนี้กีฬาเป็นหนึ่งในอาวุธทางการเมืองที่เอามาฟาดฟันใส่คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ปวดใจกันนับหลายร้อยชีวิตแล้ว •