โลกกีฬาท่ามกลางวิกฤต ‘รัสเซีย-ยูเครน’ / Technical Timeout : SearchSri

Technical Timeout

SearchSri

 

โลกกีฬาท่ามกลางวิกฤต

‘รัสเซีย-ยูเครน’

 

ตั้งแต่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย มีคำสั่งให้ส่งกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครน ชาวโลกต่างร่วมส่งกำลังใจให้กับชาวยูเครนที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง

ขณะที่วงการกีฬาโลกก็เคลื่อนไหวในขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของตัวเอง เพื่อหวังช่วยเหลือชาวยูเครน และกดดันรัสเซียไปด้วยในตัว

นักกีฬาและแฟนกีฬาทั่วโลกต่างร่วมแสดงพลังด้วยการชูป้ายหรือเขียนข้อความส่งกำลังใจให้ยูเครนและเรียกร้องสันติภาพ

อาทิ ป้ายผ้าก่อนเกมเตะฟุตบอลถ้วยยุโรปและฟุตบอลลีกแต่ละนัดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

รวมถึงการเปิดเสื้อที่เขียนข้อความด้านในหลังนักเตะบางคนทำประตูได้

 

อันเดร รูเบลฟ นักเทนนิสมือท็อป 10 ของโลกชาวรัสเซีย เขียนข้อความบนกล้องโทรทัศน์ตามธรรมเนียมของผู้ชนะในการแข่งขันที่ดูไบว่า “No war please” หรือ “อย่าทำสงครามกันเลย” รวมถึงให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อมั่นในสันติภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกันของผู้คน

ด้านองค์กรกีฬาต่างๆ ประกาศแบนหรือจำกัดสิทธิของรัสเซีย (บ้างรวมถึงเบลารุสซึ่งให้การช่วยเหลือรัสเซียในการบุกครั้งนี้) มากน้อยแตกต่างกันไป

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ออกแถลงการณ์ร่วมแบนรัสเซียจากการแข่งขันทุกรายการที่สหพันธ์ทั้ง 2 ให้การรับรอง ส่งผลให้ทีมฟุตบอลชายรัสเซียหมดสิทธิลงแข่ง ฟุตบอลโลก 2022 รอบเพลย์ออฟเพื่อชิงตั๋วบอลโลกรอบสุดท้ายที่กาตาร์ในเดือนมีนาคม

ขณะที่ทีมฟุตบอลหญิงหมดสิทธิเข้าร่วม ยูโร 2022 ช่วงกลางปี และทีม สปาร์ตัก มอสโก ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายฟุตบอลยูโรป้าลีกโดยยังไม่ได้เตะกับ ไลป์ซิก

ก่อนหน้านั้น สหพันธ์และสมาคมฟุตบอลหลายชาติต่างออกแถลงการณ์ว่าจะไม่ลงเตะกับรัสเซียอย่างเด็ดขาดจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนฟีฟ่าก็สั่งห้ามรัสเซียใช้ธงชาติและเพลงชาติในการแข่งขัน

นอกจากนี้ ยูฟ่ายังยกเลิกสัญญาสปอนเซอร์กับ กาซพรอม บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของแดนหมีขาว ส่วนสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ยกเลิกสัญญาสปอนเซอร์ของสายการบิน แอโรฟล็อต ของรัสเซีย

ฟอร์มูล่าวันประกาศยกเลิกการแข่งขัน รัสเซียน กรังด์ปรีซ์ ที่เมืองโซชิ ซึ่งกำหนดแข่งในเดือนกันยายน ส่วนทีมเอฟวัน ฮาส ยกเลิกสปอนเซอร์กับบริษัทที่ ดมิทรี มาเซปิน นักธุรกิจซึ่งสนิทสนมกับปูตินอย่างกะทันหัน

ขณะที่สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (เอฟไอวีบี) ถอนสิทธิการเป็นเจ้าภาพวอลเลย์บอลชายชิงแชมป์โลกของรัสเซียในเดือนสิงหาคม ส่วนสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (ฟีบ้า) ประกาศเลื่อนการแข่งขันบาสเกตบอลเวิลด์คัพ 2023 รอบคัดเลือก ระหว่างเนเธอร์แลนด์กับรัสเซีย และสหราชอาณาจักรกับเบลารุส เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์

 

เรียกว่าตอนนี้วงการกีฬาโลกพยายามใช้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตัวเองร่วมกดดันรัฐบาลรัสเซียให้ระลึกถึงความร้ายแรงที่ตัวเองกระทำ และยุติการรุกรานประเทศเพื่อนบ้านอย่างที่ทำอยู่

อีกแง่มุมที่น่าสนใจคือการตั้งคำถามถึงการใช้ “ซอฟต์เพาเวอร์” ผ่านการกีฬา และการเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐานขององค์กรกีฬาระหว่างประเทศ

โดยมีเสียงสะท้อนบางส่วนตั้งข้อสังเกตโดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า ตอนที่อิสราเอลใช้กำลังรุกรานและทำร้ายชาวปาเลสไตน์ในเยรูซาเลม

หรือย้อนไปถึงสงครามในหลายพื้นที่ของตะวันออกกลาง องค์กรกีฬาเหล่านี้ได้มีความเคลื่อนไหวรวดเร็วหรือมากเท่ากับที่ดำเนินการในกรณีรัสเซีย-ยูเครนหรือไม่?

ในปี 2009 โมฮัมหมัด อาบู ทริก้า นักเตะอียิปต์ เคยโดนฟีฟ่าออกหนังสือเตือนอย่างเป็นทางการ หลังเปิดเสื้อส่งข้อความให้กำลังใจคนในฉนวนกาซา หลังยิงประตูได้ในเกมแอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ โดยฟีฟ่าระบุว่า ห้ามการแสดงออกทางการเมืองทุกกรณี

คำพูดติดปากของผู้บริหารองค์กรกีฬาทั่วโลก คือการแยกขาดระหว่างกีฬากับการเมือง แต่การลงโทษแบนรัสเซียจากการแข่งขันกีฬาต่างๆ ถือว่าเป็นการนำการเมืองเข้ามามีส่วนกับกีฬาหรือไม่?

 

การถอนสิทธิการเป็นเจ้าภาพกีฬาต่างๆ ของรัสเซียนั้นเป็นเรื่องที่พึงกระทำได้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ส่วนการยกเลิกสัญญาสปอนเซอร์เป็นเรื่องธุรกิจ แต่กรณีฟีฟ่าสั่งห้ามรัสเซียใช้ธงชาติหรือเพลงชาติก่อนหน้านี้ (ต่างจากตอนโอลิมปิกที่รัสเซียโดนลงโทษจากการโด๊ป) รวมถึงการตัดสิทธิจากการแข่งขันฟุตบอลทุกระดับในความดูแลนั้น จำเป็นต้องหาเหตุผลที่ดีมาสนับสนุน เพราะทางสหภาพฟุตบอลรัสเซียแจ้งแล้วว่า จะดำเนินการทางกฎหมายกีฬาระหว่างประเทศ ซึ่งอาจหมายถึงการอุทธรณ์ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาโลก (ซีเอเอส) แล้ว

คงจะดีไม่น้อยหากฟีฟ่ารวมทั้งองค์กรกีฬาต่างๆ ปฏิบัติกับทุกปัญหาในลักษณะเดียวกันอย่างเท่าเทียม หรืออย่างน้อยก็ใช้กรณีรัสเซีย-ยูเครน เป็นบรรทัดฐานสำหรับกรณีคล้ายๆ กันในอนาคต

ถึงเวลานั้นจึงจะเรียกว่า “ยุติธรรม” โดยปราศจากข้อสงสัยอย่างแน่นอน