
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 ธันวาคม 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
ไทม์เอาต์/จริงตนาการ
คว่ำบาตรโอลิมปิก ฤดูหนาว
ยักษ์ใหญ่เสียงแตกเขวี้ยงหินใส่มังกร
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2022 ฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน มีประเด็นการเมืองมาโยงอย่างหนักในช่วงก่อนแข่งขัน 3 เดือน
สหรัฐอเมริกา ไม้เบื่อไม้เมาของจีน ประกาศคว่ำบาตรการแข่งขันระหว่างวันที่ 4-20 กุมภาพันธ์ ปีหน้า ด้วยการให้เหตุผลว่า จีนละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศมากมาย
โดยยกประเด็นของ เผิง ส่วย นักเทนนิสชื่อดัง ที่ออกมาแฉว่าโดนอดีตนักการเมืองระดับสูงของจีนบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วยเป็นระยะเวลาหลายปี แล้วก็หายหน้าหายตาไปจากวงการเทนนิสไปเรื่อยๆ จนมีการตั้งคำถามว่า นักหวดที่เคยขึ้นมือ 1 ของโลกประเภทหญิงคู่ ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ก่อนจะมีโผล่ออกมาให้เห็นหน้าเห็นตากัน
ส่วนอีกเรื่อง คือ การใช้แรงงานประชาชนในเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์มณฑลซินเจียง ในธุรกิจสิ่งทอ โดยมีการเปิดเผยภาพว่ามีค่ายกักกันที่มีคนกว่า 1 ล้านคนอยู่ในนั้น และถูกบังคับให้ทำงานในโรงงานสิ่งทอ มีการล่วงละเมิดทางเพศ และการสังหารหมู่
แต่การคว่ำบาตรของสหรัฐ ทำในเชิงการทูต ด้วยการไม่ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงและเจ้าหน้าทางการทูตไปร่วมพิธีต่างๆ เท่านั้น ส่วนนักกีฬาก็ยังคงแข่งขันได้เหมือนเดิม
เมื่อพี่ใหญ่ออกตัวแล้ว แคนาดา, ออสเตรเลีย, อังกฤษ, นิวซีแลนด์ และโคโซโว ก็เดินตามรอยของสหรัฐอเมริกา คือ ไม่ร่วมสังคายนา แต่นักกีฬายังแข่งขันกันตามปกติ
น่าสนใจว่าการบอยคอตครั้งนี้จะเสียงดังพอให้โลกได้หันมาสนใจสิ่งที่จีนถูกกล่าวหาหรือไม่ เมื่อตัวละครสำคัญของมหกรรมกีฬา คือ นักกีฬา ไม่ใช่ทูตหรือผู้นำประเทศ
เชมี่ ลาโม นักสิทธิมนุษยชนแคนาดา-ทิเบต แนะนำว่า การไม่ส่งนักกีฬาไปร่วมแข่งขันจะเป็นการส่งข้อความที่หนักแน่นกว่านี้ เพราะเมื่อยังส่งนักกีฬาไปแข่งก็ยังทำให้รัฐบาลจีนจัดการแข่งขันรายการใหญ่ได้อยู่ดี ทั้งๆ ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
ด้าน ซูซาน บราวเนลล์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยมิซซูรี-เซนต์ หลุยส์ ยืนยันว่า ถ้าประเทศทั่วโลกนับร้อยร่วมบอยคอตโอลิมปิกฤดูหนาว นั่นถึงจะเป็นการบอกว่าแนวทางนี้ได้ผล เพราะถ้ามีเพียงไม่กี่ชาติ เสียงที่จะสื่อคงแผ่วเบาเกินไป
หลายๆ ประเทศต่างไม่เอากับแนวทางนี้ เพราะไม่อยากเอาการเมืองไปแตะต้องกีฬา ที่เป็นธรรมนูญของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) มาตลอด
เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส บอกว่า ถ้ามองในมุมที่เผิง ส่วย ถูกกระทำ ฝรั่งเศสและไอโอซีสามารถปกป้องนักกีฬาได้ โดยไม่ต้องใช้การเมืองมาเกี่ยว ควรใช้แนวทางที่สร้างประโยชน์มากกว่านี้ เพราะยังไงก็ต้องส่งนักกีฬาไปแข่งขันอยู่ดี
ด้านผู้นำของประเทศในยุโรปที่อยู่ในสหภาพยุโรปมีแนวทางที่แตกต่างกันไป ตามแต่ผลประโยชน์ที่จะได้จากเรื่องนี้
ฮังการีที่มีความสนิทชิดเชื้อกับจีน เป็นหนึ่งในประเทศที่ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ร่วมบอยคอต ลิทัวเนียที่ถูกจีนบล็อกเรื่องการค้าก็จะยกมือไปทางให้คว่ำบาตร
อเล็กซานเดอร์ ชาลเลนเบิร์ก ผู้นำออสเตรีย มองว่า ถึงจะไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการเอาการเมืองไปวุ่นวายกับโอลิมปิก
ต้องไม่ลืมว่าจีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 2 ของอียู เมื่อเล่นการเมืองมา แล้วจีนเอาคืนด้วยการเมืองและการค้า ก็คงเจอปัญหาหนักเหมือนกัน
เพราะจีนไม่ใช่ชาติเล็กๆ การเขวี้ยงหินใส่มังกร อาจจะเจอมังกรพ่นไฟใส่กลับมา แล้วจะเห็นว่าได้ไม่คุ้มเสีย
ถึงแม้จะมีเรื่องมากระทบเยอะก่อนแข่ง แต่ถ้าไม่หนักพอ วินเตอร์ โอลิมปิก 2022 ก็น่าจะแข่งจบกันไปได้ด้วยดีเหมือนที่จีนเคยเป็นมาหลายมหกรรม