Technical Time-Out : ‘ทีมผู้ลี้ภัย’ โอลิมปิก แสงแห่งความหวัง และคุณค่าที่มากกว่าเหรียญรางวัล

ไทม์เอาต์

Red Monster

 

‘ทีมผู้ลี้ภัย’ โอลิมปิก

แสงแห่งความหวัง

และคุณค่าที่มากกว่าเหรียญรางวัล

 

ศึก โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีพิธีปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยสหรัฐอเมริกาแซงเข้าป้ายเป็นเจ้าเหรียญทองในวันสุดท้ายที่ 39 เหรียญ เฉือนจีนมหาอำนาจเอเชียเพียงเหรียญเดียวเท่านั้น

แต่นอกจากเรื่องชาติยักษ์ใหญ่และบรรดาประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมชิงชัยนั้น สิ่งหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจนั่นคือชื่อของ ทีมผู้ลี้ภัย หรือทีมผู้อพยพ (Refugee Team หรือ EOR)

ทีมผู้ลี้ภัยคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร คงเป็นคำถามแรกๆ ที่หลายคนนึกสงสัย

 

เรื่องนี้มีส่วนมาจากการที่นักกีฬาหลายๆ คน ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในประเทศบ้านเกิด จนต้องระหกระเหินลี้ภัยไปยังประเทศอื่น ทำให้ไม่สามารถลงแข่งขันกีฬาในนามประเทศบ้านเกิดตัวเองได้

โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) เห็นถึงการให้คุณค่าความเสมอภาคและโอกาสในการเข้าร่วมแข่งขันของนักกีฬา จึงประกาศจัดตั้งทีมผู้ลี้ภัยขึ้นในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคมปี 2015

“ทีมผู้ลี้ภัยนี้ จะเป็นสัญลักษณ์ของความหวังสำหรับผู้ลี้ภัยทุกคนในโลก และจะทำให้โลกตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตครั้งนี้มากขึ้น และยังเป็นสัญญาณไปยังประชาคมระหว่างประเทศว่าผู้ลี้ภัยคือเพื่อนมนุษย์ของเราและเป็นการเติมเต็มให้กับสังคม” โธมัส บาค กล่าว

โดยตั้งแต่รีโอเกมส์ถึงปัจจุบัน ไอโอซีมอบทุนในการฝึกซ้อมและอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับนักกีฬาผู้ลี้ภัยทั่วโลกรวมแล้วเป็นเงินราว 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (64 ล้านบาท) ซึ่งในปี 2017 ได้จัดตั้งมูลนิธิโอลิมปิกผู้ลี้ภัย เพื่อมอบโอกาสให้เยาวชนนับล้านที่เข้าข่ายผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงการเล่นกีฬาได้อย่างทั่วถึง

 

ในการแข่งขันโอลิมปิก หากมีการคว้าเหรียญทองเกิดขึ้น ปกติแล้วจะมีการบรรเลงเพลงชาติของนักกีฬาคนนั้นๆ แต่สำหรับนักกีฬาผู้ลี้ภัยจะเข้าร่วมแข่งขันภายใต้ธงของโอลิมปิก และหากคว้าเหรียญทองก็จะบรรเลงเพลงประจำการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์แทน

ทั้งนี้ ทีมผู้ลี้ภัยเข้าร่วมการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกในศึกโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล

ครั้งนั้นมีนักกีฬาทั้งหมด 10 คนลงแข่งขันภายใต้ทีมผู้ลี้ภัย เป็นนักกีฬาที่อพยพจากเซาธ์ซูดาน 5 คน, ซีเรีย 2 คน, สาธารณรัฐคองโก 2 คน และเอธิโอเปีย 1 คน

ซึ่งในจำนวนนี้มี 6 คนร่วมแข่งขันกรีฑา, 2 คนร่วมแข่งขันว่ายน้ำ และ 2 คนร่วมแข่งขันกีฬายูโด แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครคว้าเหรียญมาได้

ยุสร่า มาร์ดินี นักว่ายน้ำสาวชาวซีเรีย วัย 18 ปีในตอนนั้น กลายเป็นนักกีฬาคนแรกที่ลงแข่งขันภายใต้ทีมผู้ลี้ภัย หลังลงสระในประเภทผีเสื้อ 100 เมตรหญิง หลังเธอลี้ภัยจากสงครามในบ้านเกิดไปอยู่ที่เยอรมนี

ในขณะที่ในศึกโตเกียวเกมส์ 2020 มีนักกีฬาทีมผู้ลี้ภัยเพิ่มเป็น 29 คน ประกอบด้วยนักกีฬาเชื้อชาติซีเรีย 9 คน, อิหร่าน 5 คน, เซาธ์ซูดาน 4 คน และอัฟกานิสถาน 3 คน แข่งขันใน 12 ชนิดกีฬา

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้ลี้ภัยยังคงไม่สามารถคว้าเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ของทีมได้

โดยคนที่เข้าใกล้การคว้าเหรียญมากที่สุด คือ คิเมีย อาลิซาเดห์ นักกีฬาเทควันโด ผู้เคยคว้าเหรียญทองแดงให้กับอิหร่านในศึกโอลิมปิกเมื่อปี 2016 ก่อนประกาศขอลี้ภัยในปี 2020 ไปอยู่ที่เยอรมนี หลังจากวิจารณ์ระบอบการปกครองของประเทศ และเปิดเผยถึงการถูกกดขี่ในบ้านเกิด

ซึ่งในโอลิมปิก 2020 นี้ คิเมีย อาลิซาเดห์ มาไกลถึงรอบชิงเหรียญทองแดง ก่อนพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งจากตุรกีหวุดหวิด 6-8 คะแนน

 

แต่สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ บางทีอาจไม่ใช่เหรียญรางวัลเสมอไป

เห็นได้จากสิ่งที่โธมัส บาค ประธานไอโอซี ได้กล่าวถึงนักกีฬาผู้ลี้ภัยในโตเกียวเกมส์ว่า “ด้วยความสามารถและจิตวิญญาณของมนุษย์ คุณกำลังแสดงให้เห็นว่าผู้ลี้ภัยเติมเต็มคุณค่าให้สังคมอย่างไร คุณต้องลี้ภัยจากบ้านเพราะความรุนแรง หรือเพียงเพราะว่าคุณแตกต่าง เรายินดีที่จะอ้าแขนต้อนรับและมอบบ้านที่สงบสุขให้กับคุณ ยินดีต้อนรับสู่ชุมชนโอลิมปิก”

ขณะที่ ฟิลิปโป้ กรันดี้ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าวว่า การมีชีวิตรอดจากภัยสงคราม การกดขี่ข่มเหง และความทุกข์ทรมานจากการต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน นอกจากจะทำให้พวกเขาเหล่านี้เป็นคนน่ามหัศจรรย์แล้วนั้น การที่พวกเขาสามารถแสดงออกเรื่องศักยภาพทางการกีฬาในเวทีระดับโลกได้ยิ่งเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจมากๆ

แน่นอนว่า การที่ไอโอซีเลือกจัดตั้งทีมผู้ลี้ภัยนั้น คงไม่ได้ทำเพราะสงสารหรือแค่เห็นใจ เพราะโอกาสที่นักกีฬาจะได้รับย่อมต้องแลกมาด้วยความสามารถเช่นกัน

ดังนั้น ทีมผู้ลี้ภัย ย่อมถือเป็นตัวแทนแห่งความหวัง ความมุ่งมั่น รวมถึงยังส่งสารให้ทั่วโลกได้รับรู้ถึงสิ่งที่เรียกว่าคุณค่าความเท่าเทียมอย่างแท้จริง