ไทม์เอาต์/SearchSri /ทำไมถึงไม่ยกเลิกโอลิมปิก?

A person protests against International Olympic Committee (IOC) President Thomas Bach's visit to Hiroshima, in Tokyo, Japan, July 16, 2021. REUTERS/Edgar Su TPX IMAGES OF THE DAY

ไทม์เอาต์/SearchSri

ทำไมถึงไม่ยกเลิกโอลิมปิก?

 

ยิ่งใกล้วันเปิดฉากการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 23 กรกฎาคม กระแสต่อต้านก็ยิ่งทวีความรุนแรง

ไอพีเอสโอเอส บริษัทวิจัยตลาดนานาชาติ ทำการสำรวจความเห็นประชาชนวัยผู้ใหญ่ 19,510 คน ใน 28 ประเทศ กระจายทั่วโลก เกี่ยวกับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์หนนี้ ปรากฏว่า เฉลี่ยแล้วมีคนเห็นด้วยให้เดินหน้าจัด 43 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออยากให้ “เลื่อน” หรือ “ยกเลิก” ไปเลยมากกว่า

โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นเองที่เหลือเสียงสนับสนุนเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ (ขณะที่เกาหลีใต้สนับสนุนน้อยที่สุดจากประเทศกลุ่มตัวอย่าง เพียง 14 เปอร์เซ็นต์)

ผลโพลในประเทศเจ้าภาพซึ่งจัดโดยสำนักข่าวใหญ่ของญี่ปุ่น อาทิ เกียวโด หรือ เอ็นเอชเค ก็ตรงกันคือ คนสนับสนุนไม่ถึง 1 ใน 3 อาจจะมีบางช่วงที่เริ่มเห็นด้วยมากขึ้นบ้างตอนที่เริ่มไล่ฉีดวัคซีน แต่ความล่าช้าในการฉีด ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดกระแสต่อต้านมากขึ้น

เหตุผลหลักๆ ที่คนไม่อยากให้เดินหน้าจัดการแข่งขัน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงรุนแรงทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจอกับสายพันธุ์เดลต้าที่วัคซีนปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพรับมือไม่ดีเท่าที่ควร

 

กระนั้น ทั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขัน และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ก็ยังคงยืนยันหนักแน่นว่า จะเดินหน้าจัดการแข่งขันต่อไป ไม่มีคำว่า “ยกเลิก” เป็นอันขาด หลังจากต้องเลื่อนแข่งมาแล้วรอบหนึ่งจากปีที่แล้ว

ขณะที่คณะกรรมการโอลิมปิกรวมถึงรัฐบาลชาติต่างๆ ก็เลิกพูดเรื่องไม่สนับสนุนให้จัดไปแล้ว ต่างพร้อมใจกันส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน บางชาติถึงขั้นส่งจำนวนมหาศาล เช่นสหรัฐอเมริกาที่ส่งทัพใหญ่สุดอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของตัวเองเข้าร่วม

เหตุผลหลักๆ ฝ่ายบริหารยืนยันต้องเดินหน้าจัดการแข่งขันต่อมีด้วยกันหลายประการ

แรกสุด เจ้าของการแข่งขันคือ ไอโอซี สุดท้ายแล้วอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ไอโอซีว่าจะให้จัดต่อหรือไม่ ซึ่ง โธมัส บาค ประธานไอโอซีก็ยืนยันหนักแน่นว่า “จัด”

ญี่ปุ่นเจ้าภาพสามารถยกเลิกสัญญาได้ แต่ก็หมายถึงทุกเม็ดเงินที่ลงทุนไปต้องสูญเปล่า โดยผลจากการเลื่อนแข่งทำให้งบประมาณที่ใช้ในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้เพิ่มขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์ เป็น 15,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.93 แสนล้านบาท) และนักวิเคราะห์ประเมินว่าอาจเพิ่มเป็น 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (8.32 แสนล้านบาท) เมื่อจัดแข่งเบ็ดเสร็จแล้ว

คัตสึฮิโร่ มิยาโมโตะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคันไซ ประเมินว่า ถ้ายกเลิกการแข่งขันไปเลย ญี่ปุ่นจะสูญเงินไปเปล่าๆ รวมถึงสูญเสียรายได้จากส่วนอื่นๆ รวมแล้ว 41,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.33 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว

การเดินหน้าจัดการแข่งขัน ถึงจะไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวหรือการขายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน แต่ทั้งไอโอซีและเจ้าภาพก็ยังมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอด รวมถึงสปอนเซอร์ ซึ่งคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด

 

สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ด้วยว่าอีกเหตุผลที่ยังไงญี่ปุ่นก็ต้องเดินหน้าจัด เพราะปีนี้เป็นปีเลือกตั้งทั่วไป นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ สึกะ กับพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหลักของรัฐบาล เสียคะแนนนิยมไปไม่น้อยจากการรับมือสถานการณ์โควิด ที่ผ่านมาพรรค LDP กุมอำนาจในฝ่ายบริหารมาถึง 61 ปี จาก 65 ปีหลังสุด จึงต้องพยายามเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา โดยหวังว่าเมื่อจัดโอลิมปิกเกมส์ได้ลุล่วง จะเห็นผลเชิงบวกที่จะตามมา

นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับโลกยังเป็นเหมือนเวทีแสดงแสนยานุภาพของประเทศเจ้าภาพ ดังที่เกาหลีใต้จัดโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาวปี 2018 ที่เมืองพยองชาง หรือปักกิ่งเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 2008 และกำลังจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว 2022 ในปีหน้าด้วย

ไหนจะเรื่องศักดิ์ศรีเพราะเคยลั่นวาจาไปแล้วว่ายังไงก็ต้องจัด เพื่อให้โอลิมปิกเกมส์เป็นสัญลักษณ์การฟื้นตัวของประเทศจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2011 รวมถึงให้โตเกียว 2020 เป็นการประกาศชัยชนะของมวลชนประชาคมโลก หลังจากต้องต่อสู้กับโควิดมายาวนานกว่า 1 ปี

ถึงแม้จะเป็นชัยชนะที่ดูกระท่อนกระแท่น และยังต้องเดินไปในวิถี “นิวนอร์มอล” อีกพักใหญ่ๆ ก็ตาม