เขย่าสนาม / จริงตนาการ/อันท์เวิร์ป 1920-โตเกียว 2020 100 ปีที่โอลิมปิกแข่งท่ามกลางเชื้อร้าย

เขย่าสนาม/จริงตนาการ [email protected]

อันท์เวิร์ป 1920-โตเกียว 2020

100 ปีที่โอลิมปิกแข่งท่ามกลางเชื้อร้าย

 

โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ใกล้จะเริ่มแข่งขันเต็มทีแล้ว หลังจากเลื่อนแข่งขันออกมา 1 ปีเต็ม เพราะการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก

แต่คณะกรรมการจัดการแข่งขันและคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ก็เดินหน้าฝ่าข้อจำกัดและการต่อต้านมาได้จนถึงตอนนี้

โอลิมปิกที่เจอโรคระบาดไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะในโอลิมปิกฤดูร้อน 1920 ที่เมืองอันท์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม หรือเมื่อ 101 ปีที่แล้ว ก็เคยมีไข้หวัดใหญ่สเปนระบาดหนักไปทั่วโลก ซึ่งเริ่มระบาดในปี 1918 และใช้เวลากว่า 2 ปีกว่าจะเอาอยู่

การระบาดของ ไข้หวัดใหญ่สเปน มีผู้ได้รับผลกระทบ 500 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งรวมหมู่เกาะแปซิฟิกห่างไกลและอาร์กติก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 40 ล้านคน ทำให้เป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ นับเฉพาะปี 1991 มีการประมาณการว่าเชื้อร้ายนี้ได้พรากชีวิตของคนในยุคนี้ไปถึง 25-39 ล้านคน

ในขณะที่โควิด-19 นับตั้งแต่ปลายปี 2019 มาถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 4 ล้านราย

แน่นอนว่าช่วงเวลา 100 ปีก่อนกับปัจจุบัน เทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ย่อมต้องพัฒนาไปมากแล้ว ทำให้ค่อนข้างมั่นใจได้ว่า โควิด-19 จะมีผู้เสียชีวิตไม่มากเท่าช่วงที่ไข้หวัดใหญ่สเปนระบาด

 

ไข้หวัดใหญ่สเปนทำให้โลกเสียหายอย่างหนัก แต่เบลเยียมในฐานะเจ้าภาพโอลิมปิก เลือกที่จะไม่ยกเลิกการแข่งขัน เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงอยากให้โอลิมปิกเป็นหนึ่งในปัจจัยในการฟื้นฟูประเทศ

อันท์เวิร์ป 1920 แข่งขันกันท่ามกลางโรคระบาดที่ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและรักษา และเชื้อนี้ก็อันตรายกับผู้ที่มีอายุน้อยและผู้สูงอายุ แต่โควิด-19 อันตรายกับผู้ที่เป็นโรคอยู่แล้ว ทั้งความดัน โรคอ้วน หอบหืด ซึ่งจะเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายอ่อนแอลงมาก โดยไม่เกี่ยวว่าจะอายุเท่าไร อยู่ในวัยไหน

ดร.แอนโธนี ซานเตลลา ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการและนโยบายสุขภาพ มหาวิทยาลัยนิว ฮาเวน เปิดเผยว่า ในยุคที่ไข้หวัดใหญ่สเปนระบาด ผู้คนก็ป้องกันตัวด้วยการใส่หน้ากาก และเว้นระยะห่างทางสังคมแบบเดียวกันกับยุคปัจจุบัน แต่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องไวรัสต่างๆ เหมือนในปัจจุบัน สิ่งที่ควรทำในโตเกียว 2020 คือ การห้ามแฟนกีฬาเข้าไปดูเกมในสนาม เพราะมันจะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกใหม่ได้ และโควิด-19 ก็ยังไม่หยุดระบาดในเร็วๆ นี้แน่ๆ

ขณะที่ ฮิโตชิ โอชิตานิ นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่มีส่วนร่วมในการหาแนวทางในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กล่าวว่า ไม่มีทางที่โอลิมปิกเกมส์จะแข่งขันจบโดยที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึงแม้ว่ารัฐบาลและไอโอซีจะยืนยันว่าโอลิมปิกจะจัดด้วยมาตรการการป้องกันที่เข้มงวดมาก

“ตอนนี้มีหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อน้อย และตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น เราไม่ควรทำให้โอลิมปิกเป็นต้นเหตุในการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อให้หนักขึ้นในประเทศเหล่านั้น” โอชิตานิกล่าว

 

ย้อนกลับไปที่อันท์เวิร์ป 1920 เบลเยียมที่เสียหายอย่างหนักจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกวางไว้ให้เป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูหลังจบสงครามโลก ปิแอร์ เดอ คูแบร์แต็ง ประธานไอโอซีในวันนั้น ยืนยันว่าไม่มีประเทศไหนที่เหมาะเท่ากับเบลเยียมอีกแล้ว

แต่หลังจบการแข่งขัน บิลล์ มาลลอน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โอลิมปิก ระบุว่า นักกีฬาที่ไปแข่งขันโอลิมปิก 1920 เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สเปน 7 คน

ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่ากรุงโตเกียว กล่าวว่า เมื่อ 100 ปีก่อน เบลเยียมถูกเล่นงานด้วยสงครามและไข้หวัดใหญ่ มีคนหลายล้านคนเสียชีวิต แต่เมื่อโอลิมปิกถูกจัดขึ้น มันเป็นการสร้างความหวังให้กับคนที่ยังอยู่จำนวนมาก

หวังว่าโตเกียว 2020 จะส่งข้อความแบบเดียวกันกับอันท์เวิร์ป 1920 และสร้างพลังใจให้กับคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั่วโลก

 

โตเกียว 2020 ห้ามแฟนกีฬาเข้าชมการแข่งขันในเกือบทุกเมืองแล้ว กรุงโตเกียว, ฮอกไกโด, ไซตามะ, ชิบะ, คานากาวะ, ฟูกุชิมะ ยกเว้นมิยากิและชิซึโอกะ เท่านั้น ที่ยังอนุญาตให้เข้าชมได้

แต่ในอันท์เวิร์ป 1920 ไม่ได้ห้ามเพื่อป้องกันโรคระบาด แต่เพราะสงครามเพิ่งจบไปไม่นาน ผู้คนมีชีวิตที่ยากลำบาก ตั๋วเข้าชมการแข่งขันตั้งราคาไว้สูง ทำให้ผู้คนไม่สนใจจะเข้าไปชมการแข่งขันนัก

ขณะที่เบลเยียมเองก็มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เพราะต้องเร่งเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้จะตั้งงบประมาณไว้ถึง 4 ล้านฟรังก์ แต่ก็ไม่พอ ต้องไประดมทุนมาเพิ่มเติม และหลังจากจบโอลิมปิก คณะกรรมการโอลิมปิกเบลเยียมก็ล้มละลาย ส่วนประเทศอื่นๆ ก็ต้องระดมทุนจากประชาชนเพื่อหาเงินส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา เพราะรัฐบาลไม่มีเงินเหลือที่จะเอามาสนับสนุนกีฬา

ประวัติศาสตร์ในช่วงระยะห่าง 100 ปีได้วนกลับมาซ้ำรอยแล้ว เชื้อโรคที่สร้างความยากลำบากให้กับคนเกือบทั้งโลก และทำให้โอลิมปิกเกมส์เสียหายอย่างหนัก

มองในแง่ดีว่า โลกเคยผ่านเหตุการณ์หนักๆ มาแล้ว ก็ย่อมต้องผ่านมันไปได้ แล้วจะถูกบันทึกเป็นเรื่องเล่าให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และเอาไปปรับใช้ให้สู้กับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม