เงาปีศาจ : กีฬาอาชีพ ธุรกิจหมื่นล้านของคนไทย

คอลัมน์เขย่าสนาม


ในปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับวงการกีฬาเป็นอย่างมาก เนื่องจากกีฬาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงยังมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ย้อนไปเมื่ออดีต กีฬาเป็นกิจกรรมหรือการเล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเพื่อความแข็งแรงของร่างกาย แต่ปัจุบันกีฬากลับมามีบทบาทต่อการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับชาติต่างๆ เป็นอย่างมาก

ตราบใดที่กระแสโลกยังมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าสู่การแข่งขันด้านต่างๆ อย่างเอาจริงเอาจัง” “กีฬา”” จึงเป็นตัวเลือก หรือกิจกรรมหนึ่งที่ทุกชาติจะมองข้ามไม่ได้

โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วจะมีการนำเอากิจกรรมกีฬาเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาคน และพัฒนาชาติ

 

ไทยเองก็เช่นกัน ณ วันนี้ ทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล และภาคเอกชนเริ่มหันมาให้ความสนใจในการยกระดับพัฒนาวงการกีฬาของไทยกันอย่างเอาจริงเอาจังเพราะกีฬาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์และให้ความสุขแก่สมาชิกในสังคมและครอบครัว โดยเฉพาะโอกาสที่นักกีฬาไปสร้างผลงานนำชัยชนะและชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ผู้คนในสังคมไทยต่างก็มีความสุขกันถ้วนหน้า

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันกีฬายังเป็นหนึ่งในธุรกิจที่รัฐบาลและผู้ประกอบการเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนจนนำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายของรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา

กระทั่งปัจจุบันกีฬาอาชีพของเมืองไทยกลายเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้ ทำเงินหมุนเวียนในวงจรตลาดกีฬาในประเทศ รวมถึงระดับทวีป และระดับโลกอย่างมหาศาลหลักหมื่นล้านกันไปแล้ว

 

“การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)” ที่เป็นหน่วยงานฝ่ายปฏิบัติจากภาครัฐที่สามารถผลักดันให้กีฬาอาชีพของไทยเติบโตขึ้นมาจากเมื่อก่อนแทบจะไม่มีอะไรเลย จนเดี๋ยวนี้กีฬาอาชีพเป็นแหล่งเงินแหล่งทองของบุคลากรกีฬาไปอย่างเต็มตัว

อาชีพนักกีฬาเมื่อก่อนใครๆ ก็มองว่าไม่มั่นคงเพราะมีข้อจำกัดเรื่องของอายุในการเล่นกีฬา กระแสความสนใจก็น้อย

แต่ กกท. สามารถทำให้กลายเป็น” “ขุมทรัพย์“” ใหม่ให้คนกีฬาได้อย่างเต็มภาคภูมิในปัจจุบัน

ไม่เพียงแค่สร้างรายได้ให้กับตัวบุคลากรกีฬาอาชีพเท่านั้น ธุรกิจกีฬาอาชีพในปัจจุบันยังกลายเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลภายใต้ผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงหญิงแกร่งหัวเรือใหญ่กระทรวงกีฬาอย่าง “มาดามน้อง” “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำมาเกื้อกูลส่งเสริมดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ตลาดท่องเที่ยวในเมืองไทย

หรือที่เราเรียกกันว่า” “สปอร์ตทัวริซึ่ม”” นั่นเอง

ซึ่งจากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า จากตัวเลขนักท่องเที่ยวภาพรวมทั้งหมดของประเทศในปี 2559 ที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 30.52 เปอร์เซ็นต์เป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยผ่านกิจกรรม” “สปอร์ตทัวริซึ่ม”” ของรัฐบาล

และช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศเฉพาะยอดนักท่องเที่ยวในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท

 

เมื่อกีฬาเข้ามามีส่วนกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นตามลำดับ ในด้านเศรษฐกิจนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจึงเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนเพื่อส่งผลให้ปรากฏเป็นรูปธรรมที่จะทำให้เห็นว่ากีฬากำลังเข้ามาเป็นหนึ่งในเส้นเลือดใหญ่ของการพัฒนาเศรษฐกิจชาติโดยเฉพาะรัฐบาลนั้น “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศในลักษณะของสปอร์ตทัวริซึ่ม

โดย “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เคยแสดงความมั่นใจว่า ทั้งกีฬา และท่องเที่ยวจะช่วยทำให้รายได้รวมด้านการท่องเที่ยวของประเทศจากเดิมปี 2559 จำนวน 2.23 ล้านล้านบาท จะขยับไปอยู่ที่ 2.30 ล้านล้านบาท หรือ 2.40 ล้านล้านบาทเมื่อจบปี 2560

จากข้อมูลรายงานการประเมินผลการแข่งขันกีฬาอาชีพของ กกท. ตามหลักเกณฑ์ประกาศกำหนดชนิดกีฬาอาชีพ ประจำปี 2559 ที่ผ่านมา 13 ชนิดกีฬาอาชีพ 42 รายการแข่งขันที่ได้จัดทำรายงานเสนอต่อสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังนั้น มีการสรุปตัวเลขประเมินกันว่าธุรกิจกีฬาอาชีพเฉพาะ 13 ชนิดกีฬาให้การสนับสนุนสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนทะลุหลักหมื่นล้านตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ของรัฐบาล

รัฐบาลกำหนดตัวชี้วัดกีฬาอาชีพไว้ 6 ข้อหลักๆ ประกอบด้วย

1. ประเทศชาติได้รับประโยชน์ พิจารณาจากมีเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมกีฬาพิจารณาจากค่าใช้จ่ายต่อหัว/วัน/คน (ที่พัก อาหาร และขนส่ง) ของนักกีฬา และบุคลากรสาขาต่างๆ

2. จัดแข่งขันเป็นระบบมาตรฐานสากล

3. การแข่งขันเป็นที่นิยม

4. มีรายได้จากการแข่งขัน

5. นักกีฬามีขีดความสามารถสูง

และ 6. สมาคมหรือผู้จัดแข่งขันมีการบริหารจัดการเป็นระบบมีมาตรฐาน

 

“มาดามน้อง” “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา บอกว่า ตลอดปี 2560 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังคงวางยุทธศาสตร์การพัฒนากีฬาไว้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะกีฬาอาชีพที่มีตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางที่ดี และน่าพึงพอใจ ทั้ง 13 ชนิดกีฬาอาชีพ ประกอบด้วย ฟุตบอล, แบดมินตัน, ตะกร้อ, วอลเลย์บอล, สนุ้กเกอร์, โบว์ลิ่ง, มวยไทย, แข่งรถยนต์, รถจักรยานยนต์, เทเบิลเทนนิส, เทนนิส, กอล์ฟ และบาสเกตบอล

หลายชนิดกีฬาเติบโตอย่างพุ่งพรวด อย่างเช่น ฟุตบอล และกอล์ฟ รวมไปถึงแบดมินตัน ที่มีนักกีฬาไทยไปประสบความสำเร็จในระดับโลก

ส่วนการจัดแข่งขันกีฬาอาชีพในประเทศที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจจากรัฐบาลอย่างมาก หลายๆ กีฬาบูมขึ้นมา เมื่อมีการแข่งขันเกิดขึ้นและกระจายไปทั่วภูมิภาคอย่างต่อเนื่องจะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ในวงจรอันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศอีกด้วย

ดังนั้น วันนี้กีฬาอาชีพของไทยถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จสูง และเอื้อต่อการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดไปในตัว

“มาดามน้อง”” บอกต่อไปว่า เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจกีฬาอาชีพของไทยให้เติบโตอีกสู่ระดับเอเชีย และระดับโลกอย่างยั่งยืนด้วยนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงพยายามสุดตัวที่จะให้ดึงเกมการแข่งขันกีฬาอาชีพระดับโลกมาจัดแข่งขันในเมืองไทย

รวมถึงการจัดประชุมด้านกีฬาต่างๆ

ทั้งนี้ เพื่อหวังที่จะดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในประเทศไทย สร้างเงินสะพัด โดยที่เรายื่นเสนอตัวมาได้แล้วและเป็นไฮไลต์หลักเป็นผลงานชิ้นโบแดงคือ การที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือ “โมโตจีพี” ยาว 3 ปี ระหว่าง พ.ศ.2561-2563 และการจัดกระชุมสปอร์ตแอคคอร์ด

“รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา” กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจกีฬาในยุคนี้เติบโตไปได้ด้วยดี ยิ่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ บุคลากรกีฬาในทุกมิติด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า กีฬาอาชีพของไทยยังเติบโตและจะเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการหารายได้เข้าสู่ประเทศของไทยไปได้อีกนาน

ยุคนี้เป็นยุคทองของกีฬาอาชีพของเมืองไทยอย่างแท้จริง

หากทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล และเอกชนให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อนาคตกีฬาอาชีพของไทยจะก้าวกระโดดไปไกลกว่านี้อีก

ไม่เชื่อคอยดู…