‘โอลิมปิก’ ทำไม ยิ่งใกล้ ยิ่งวุ่น ?

An anti-Olympics group member holds up a banner during a protest rally, amid the coronavirus disease (COVID-19) outbreak, in Tokyo, Japan May 17, 2021. REUTERS/Naoki Ogura

เขย่าสนาม/จริงตนาการ [email protected]

‘โอลิมปิกเกมส์’ ยิ่งใกล้ ยิ่งวุ่น

เหลือเวลาอีก 2 เดือนเท่านั้น การแข่งขันกีฬา โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะเปิดฉากแล้ว

ถึงแม้ว่า คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) และเจ้าภาพญี่ปุ่นจะยืนยันว่าไม่มีการเลื่อนหรือยกเลิกการแข่งขันอีกแล้ว เพราะมีมาตรการที่ปลอดภัยมากพอสำหรับทุกคนในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ถึงจะมีการยืนยันมาโดยตลอด แต่ประชาชนจำนวนมากในญี่ปุ่นก็ไม่เชื่อมั่นถึงตรงนั้น เพราะกลัวว่านักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาจะทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้น

เคนจิ อุสึโนมิยะ อดีตผู้สมัครนายกเทศมนตรีกรุงโตเกียว ออกมาตั้งแคมเปญให้ร่วมลงชื่อเพื่อยกเลิกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ผ่านทาง www.change.org ล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 350,000 คน ในระยะเวลา 9 วัน

อุสึโนมิยะได้นำชื่อทั้งหมดที่มีการคัดค้านให้กับยูริโกะ โคอิเกะ นายกเทศมนตรีกรุงโตเกียวแล้ว พร้อมทั้งกล่าวว่า ตัวเองและคนที่ลงชื่อไม่ได้มีอำนาจในการยกเลิกการแข่งขัน แต่การปล่อยให้การแข่งขันดำเนินต่อไป จะต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์มากมายในการดูแลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

ไม่ใช่แค่การลงชื่อใน www.change.org แต่สื่อญี่ปุ่นก็เดินหน้าทำโพลสำรวจความเห็นของประชาชนมาตลอด และผลการสำรวจออกมามีแนวโน้มเรียกร้องให้ยกเลิกมากกว่าเดินหน้าแข่งขัน

อาซาฮี ชิมบุน สื่อญี่ปุ่น เปิดเผยผลการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน พบว่า 83 เปอร์เซ็นต์ อยากให้การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 และพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ยกเลิกหรือเลื่อนออกไปก่อน เพราะไวรัสโควิด-19 ยังคงระบาด

ล่าสุดผลการสำรวจความคิดเห็นทางโทรศัพท์ 3,191 ตัวอย่าง ปรากฏว่า 43 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้เกมยกเลิก (จากเดิม 35 เปอร์เซ็นต์) และอีก 40 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้เลื่อนการแข่งขันออกไป จากเดิม 34 เปอร์เซ็นต์ และมีเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ที่ยังต้องการให้เกมเดินหน้าต่อไป จากเดิม 28 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ความคิดเห็นหากโอลิมปิกเกมส์จัดต่อไป 59 เปอร์เซ็นต์มองว่าควรจะจัดการแข่งขันแบบไม่มีผู้ชม อีก 33 เปอร์เซ็นต์จัดแข่งขันแบบผู้ชมน้อยที่สุด และมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ที่อยากเห็นโอลิมปิกเกมส์จัดแบบผู้ชมเต็มสนาม

นอกจากนี้ โพลของสำนักข่าว เกียวโด อีกค่ายยังระบุว่า ประชาชนผิดหวังต่อความล่าช้าในการบริหารวัคซีนให้กับประชาชน 85 เปอร์เซ็นต์ และอีก 71.5 เปอร์เซ็นต์ไม่พอใจกับการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

ความน่าห่วงของโอลิมปิกครั้งนี้ คือการให้ความร่วมมือของประชาชนชาวญี่ปุ่น *นิกเกอิ* สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า 12 เมืองในญี่ปุ่นที่จะใช้เป็นสถานที่เก็บตัวของนักกีฬาโอลิมปิกทั่วโลกก่อนการแข่งขันจริงได้ถอนตัวจากการทำหน้าที่แล้ว เพราะมองว่าโรงพยาบาลและการแพทย์ไม่เพียงพอที่จะดูแลนักกีฬาต่างชาติได้ เพราะต้องใช้ในการรักษาผู้ป่วยในเมืองก่อน

ขณะที่สถานการณ์ในโตเกียวมีคนเริ่มออกมาเดินประท้วงให้ยกเลิกการแข่งขันกันแล้ว ท่ามกลางการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนไม่พอใจกับแนวทางการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีทีท่าว่าอาจจะบานปลาย เพราะเวลาเหลือไม่เยอะแล้ว

 

มาร์ก อดัมส์ โฆษกของไอโอซีออกมายืนยันว่า ไอโอซีรับฟังความคิดเห็นจากชาวญี่ปุ่น แต่จะไม่ปล่อยให้การตัดสินใจต่างๆ มาจากความเห็นของคนอื่น เพราะทุกอย่างบอกกับไอโอซีว่า โอลิมปิกเดินหน้าแข่งขันได้ตามแผนที่วางไว้

ถึงแม้จะมีกระแสต่อต้านในเมืองเจ้าภาพ แต่ทุกชาติก็เตรียมทีม เตรียมความพร้อมเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางไปแข่งขัน โดยเฉพาะการเดินหน้าฉีดวัคซีนให้นักกีฬาและเจ้าหน้าที่

สำหรับนักกีฬาไทยก็ได้รับวัคซีนกันจำนวนหนึ่งไปก่อนหน้านี้แล้ว เพราะต้องเดินทางออกไปแข่งขันรอบคัดเลือกและรายการสำคัญๆ ก่อนโอลิมปิกจะเริ่มต้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า เวลานี้มีทัพนักกีฬาไทยกว่า 400 คนจาก 20 สมาคมกีฬาที่เดินทางเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่ง กกท.พยายามจัดเร่งฉีดให้ตามแผนและความจำเป็นของแต่ละทีมกีฬา

และพยายามกระจายฉีดวัคซีนในกลุ่มนักกีฬาให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นชุดที่ไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์หรือไม่

 

จนถึงตอนนี้ยังบอกไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าโตเกียว 2020 ในปี 2021 จะสามารถแข่งขันได้ เพราะกระแสการต่อต้านอาจจะรุนแรงมากขึ้น โดยที่คาดเดาไม่ได้ว่าในช่วง 2 เดือนก่อนการแข่งขันนี้จะบานปลายไปขนาดไหน แต่ในฐานะเจ้าภาพ ญี่ปุ่นที่ลงทุนในการเตรียมงานไปอย่างมหาศาล คงอยากให้การแข่งขันจัดเสร็จสิ้นไป ถึงจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยคนดูเหมือนโอลิมปิกทุกครั้งที่ผ่านมาก็ตาม

สาเหตุหลักที่ไอโอซียืนยันมาตลอดว่า โอลิมปิกครั้งนี้จะจัดได้ เพราะคำนึงถึงความรู้สึกของนักกีฬาทุกคนเป็นหลัก เนื่องจากนโยบายของโอลิมปิกคือการมีส่วนร่วม และจะไม่ทำลายฝันของนักกีฬาที่อยากจะร่วมแข่งขันในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติสักครั้งหนึ่งในชีวิต

หลายคนเตรียมตัวมา 5 ปีเต็ม เพื่อการแข่งขันเพียงไม่กี่วินาที บางคนเตรียมตัวมาทั้งชีวิต เพื่อจะได้ละเลียดกับความเป็นโอลิมปิก และบางคนอาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้แข่งขันในโอลิมปิก

แต่มันก็ต้องแลกกับความปลอดภัยและชีวิตของอีกหลายคนที่ออกมาบนท้องถนนแล้วตะโกนว่า “ไม่เอาโอลิมปิก” ด้วย