วิเคราะห์ : ปลด “โค้ช” พยุงเก้าอี้นายก “อ๊อด” วิบากกรรม “ลูกหนังไทย” ศึกใหญ่ “ใน-นอก” สนาม

นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ด้วยวิบากกรรมครั้งใหญ่สำหรับวงการฟุตบอลไทยที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากอีกครั้งทั้งปัญหา “ในสนาม” และ “นอกสนาม” ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงการลูกหนังไทย เกิดการชะงักในการพัฒนาต่อไปข้างหน้า…

วิบากกรรมในสนามคงหนีไม่พ้นผลงานทัพนักเตะ “ช้างศึก” “ทีมชาติไทย” ซึ่งประเดิมต้นปีใหม่ด้วยการพ่ายแพ้อัปยศให้กับ “อินเดีย” 1-4 ในศึกฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย “เอเชี่ยน คัพ 2019” รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอ ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

หลังจบเกม “บิ๊กอ๊อด” “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เรียกประชุมด่วนโดยเรียกสต๊าฟโค้ชชาวไทย รวมถึงนักฟุตบอลเข้ามาคุยระบายปัญหาต่างๆ อย่างคร่ำเครียดกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อหาทางออกจากเกมในค่ำคืนอันโหดร้ายของวงการลูกหนังไทย รวมถึงเก้าอี้นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่สั่นคลอนของบิ๊กอ๊อดด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว พล.ต.อ.สมยศตัดสินใจปลด “โค้ชมิโล่” มิโลวาน ราเยวัช กุนซือชาวเซอร์เบีย กระเด็นออกจากตำแหน่งทันควัน พร้อมแต่งตั้งให้ “โค้ชโต่ย” ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย ขึ้นเป็นเฮดโค้ชขัดตาทัพ และ “โค้ชโชค” โชคทวี พรหมรัตน์ เป็นผู้ช่วยในอีก 2 เกมที่เหลือกับบาห์เรน และยูเออี

เบื้องหลังการปลดราเยวัชออกจากเก้าอี้ครั้งนี้ไม่มีต้นเหตุมาจากเพียงแค่แท็กติกในเกมพ่ายอินเดีย 1-4 แต่มีชนวนก่อนหน้านี้ตั้งแต่ในศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018” เมื่อปลายปีก่อน ซึ่งทีมชาติไทยพลาดท่าตกรอบ และไม่สามารถป้องกันแชมป์ไว้ได้

ในศึกซูซูกิ คัพ 2018 ราเยวัชสั่งให้นักเตะไทยเล่นเกมรับมากไปจนสร้างความอึดอัดให้กับนักเตะ เพราะการลงเตะในระดับอาเซียนนั้น ทีมชาติไทยชื่อชั้นเหนือกว่าอยู่แล้ว และควรจะเปิดเกมบุกแหลกสู้ไม่ไว้หน้าทีมใด แต่แผนเกมรับของราเยวัชนั้นสร้างทั้งความอึดอัด และสร้างทั้งความล้มเหลวให้กับทีมชาติไทย

จากนั้นพอเข้าสู่รายการยิ่งใหญ่ของทวีปเอเชียอย่างศึกเอเชี่ยนคัพ 2019 ทีมชาติไทยก็ควรจะเล่นด้วยแท็กติกตั้งรับ และรอจังหวะโต้กลับเร็ว แต่ราเยวัชกลับจัดทัพตัวผู้เล่นเปิดเกมรุกเต็มสูบกับอินเดีย และไม่เหลือทรงบอลเกมรับอันเหนียวแน่นที่เป็นเครื่องหมายการค้าของเขาเลยแม้แต่น้อย

อีกทั้งการปรับทัพแก้เกมก็ผิดแปลกประหลาด ซึ่งฟางเส้นสุดท้ายก็คือการส่ง “ปีโป้” “สิโรจน์ ฉัตรทอง” กองหน้าร่างยักษ์ลงมาเล่นมิดฟิลด์ตัวรับ แทนที่ของ “เจ” “ชนาธิป สรงกระสินธ์” ดาวเตะฝีเท้าคลาสเอเชีย ทำให้แฟนลูกหนังไทยมึนงงกันทั้งประเทศ

กลายเป็นวิบากกรรมในสนามครั้งใหญ่กลางทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งทวีปเอเชียกับการฝากความหวังไว้ที่ 2 กุนซือไทยอย่าง “โค้ชโต่ย” และ “โค้ชโชค” ที่พร้อมเข้ามากอบกู้สถานการณ์ แต่แฟนบอลไทยจำนวนมากก็เรียกร้องไปถึง “โค้ชซิโก้” “เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง” ให้หวนกลับมาคุมทีมอีกครั้ง

แต่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยกับการที่โค้ชซิโก้จะกลับเข้ามากุมบังเหียนทีมชาติไทยอีกครั้งหนึ่งในยุคการบริหารสมาคมของ พล.ต.อ.สมยศ ที่เคยประกาศชัดเจนว่า “อับอาย” กับการที่ทีมชาติไทยแพ้ทีมญี่ปุ่น 0-4 ในศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย เมื่อปี 2560 สมัยที่โค้ชซิโก้ยังเป็นกุนซือช้างศึก

สำหรับโค้ชต่างชาติเข้ามาคุมทีมแล้วก็จากไป ทิ้งไว้เพียงร่องรอยวิบากกรรมให้กับวงการฟุตบอลไทยที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งแน่นอนว่า กุนซือทีมชาติไทยคนใหม่จะยังใช้โค้ชนอกอยู่กันอีกหรือไม่? หรือจะกลับมาใช้โค้ชไทยอีกครั้ง?

เพราะต้องอย่าลืมว่า นอกจากโค้ชจะต้องเรียนสไตล์ของนักเตะไทยแล้ว ยังจะต้องเรียนรู้ศรัทธาของแฟนบอลไทยทั้งชาติกว่า 70 ล้านคนด้วย…

ยิ่งกว่านั้นการฟุตบอลไทยยังต้องพบวิบากกรรมนอกสนามอีกกับกรณีที่ “บิ๊กเจี๊ยบ” “พล.ต.ท.พิสัณห์ จุลดิลก” อดีตเลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้ตรวจสอบการดำเนินงานของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เพราะเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และข้อบังคับสมาคมใน 4 ประเด็นหลัก

1. สภากรรมการสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ บางคนรับเงินเดือนโดยไม่ผ่านมติสภากรรมการ และที่ประชุมใหญ่

2. ตรวจสอบการนำภรรยาของผู้บริหารสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ มารับเงินเดือน เพื่อเลี่ยงภาษี

3. สั่งย้ายผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ให้ย้ายไปทำงานที่บริษัท ไทยลีก จำกัด พร้อมลดเงินเดือนโดยไม่ชอบธรรม อีกทั้งยังมีการดำเนินการรับเงินเดือนแทนกันด้วยความไม่โปร่งใส

4. การจ่ายโบนัส 1 เดือนให้กับพนักงานบริษัท ไทยลีก จำกัด ทั้งที่บริษัทถือหุ้นโดยสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ 99.98 เปอร์เซ็นต์ จึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107

อีกทั้งยังมีพนักงานบางส่วนที่รับเงินเดือนจากทั้งสองฝั่ง

ด้าน “บิ๊กก้อง” “ดร.ก้องศักด ยอดมณี” ผู้ว่าการ กกท. ยืนยันว่า กกท.จะรับฟังข้อเท็จจริง และพิจารณาตามเอกสารจากทั้งสองฝั่ง เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย แต่จะเร่งแก้ไข เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาคาราคาซัง นอกจากนี้ หากการตรวจสอบออกมาแล้วสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ มีความผิด กกท.ก็จะมีอำนาจตามกฎหมายในการลงโทษจากเบาไปจนถึงหนัก

สำหรับบทลงโทษนั้นก็ไล่ตั้งแต่การตักเตือน เพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง การระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกระทั่งการเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ หรือการเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ แต่จะต้องพิจารณาเรื่องบทลงโทษหนักเบาตามเจตนา และผลกระทบต่อวงการฟุตบอลไทยด้วย

ส่วนของกรอบเวลาในการตรวจสอบของ กกท.ไม่ได้มีการกำหนดเอาไว้ตามกฎหมาย แต่ผู้ว่าการ กกท.ยืนยันว่า จะไม่ปล่อยเรื่องราวนี้ให้ยืดเยื้อยาวนานจนเกินไป เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และอาจขยายวงกว้างทำให้วงการลูกหนังไทยเกิดการชะงักต่อการพัฒนา

วิบากกรรมนอกสนามที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่เข้ามาทำให้เกิดความสั่นสะเทือนต่อการพัฒนาฟุตบอลไทย ซึ่งทั้งภาครัฐโดย กกท. รวมทั้งสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จะต้องเร่งแก้ไข และออกมาชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ฟุตบอลไทยได้เดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งวิบากกรรมในสนามกับทีมชาติไทยที่ผลงานกำลังถอยหลังลงคลอง และวิบากกรรมของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่มีผู้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการบริหาร ถือเป็นวิบากกรรมครั้งใหญ่ที่โคจรมาชนกันอย่างจังโดยไม่ได้นัดหมาย และจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้วงการลูกหนังไทยถอยกลับไปสู่จุดตกต่ำอีกครั้งก็เป็นได้หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลงตัวมากที่สุด สำหรับผลงานของทีมชาติไทยก็จำเป็นต้องยกระดับพัฒนาให้ดีกว่าเดิมอย่าให้อับอายชาติอื่น ส่วนการบริหารงานภายในสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ก็ควรที่จะออกมาชี้แจงข้อกล่าวหาให้ชัดเจน…

วิบากกรรมครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับวงการฟุตบอลไทยตั้งแต่เปิดหัวศักราช ซึ่งหวังว่า ปัญหาทุกอย่างจะจบสิ้นโดยเร็วที่สุด เพราะทีมชาติไทยยังมีรายการสำคัญในปีนี้ ทั้งฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 47 วันที่ 18-26 มีนาคม และทัวร์นาเมนต์สำคัญในศึกฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสอง ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป…

หรือความฝันที่จะได้เห็นทีมชาติไทยไปฟุตบอลโลกสักครั้งหนึ่งจะต้องเป็นเพียงความฝันต่อไปเท่านั้น เพราะวิบากกรรมเดิมๆ ที่ยังคงเกิดขึ้นวนเวียนอยู่กับวงการฟุตบอลไทยนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้เลย…