จากหัวร้อนดราม่าแข้ง “ช้างศึก” ถึงตรรกะป่วยๆ ของ “อีสปอร์ต”

จากหัวร้อนดราม่าแข้ง “ช้างศึก” ถึงตรรกะป่วยๆ ของ “อีสปอร์ต”

ตั้งแต่ดูเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซียมา มีเรื่องทำให้” “หัวร้อน” 2 เรื่องใหญ่

เรื่องแรก กรณีที่นักเตะทีมฟุตบอล” “ช้างศึก” ตกรอบแรกแบบหมดรูป แต่แค่การตกรอบก็ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยแปลกใจมาก แต่ที่ตะลึงคือ หลังจากตกรอบ แน่นอนว่าบรรดาพวกนักเลงคีย์บอร์ดย่อมต้องก่นด่า ตำหนิต่างๆ นานา ซึ่งมีทั้งสร้างสรรค์ มีทั้งตั้งหน้าตั้งตาด่าแบบไม่ลืมหูลืมตา

แต่ที่บอกว่า” “หัวร้อน” เพราะนักฟุตบอลของเราดัน” “น็อตหลุด” ออกลูกนักเลงท้ารบกับพวกเกรียนคีย์บอร์ดในโลกโซเชียลชนิดที่ว่า ก่อนไปท้ารบกับคนที่เราไม่รู้จัก ทำไปเพื่อ?

เข้าใจว่า ทุกคนผิดหวัง ทั้งนักเตะ ทั้งแฟนบอล แต่พวกนักบอล” “ทีมชาติไทย” ขอย้ำว่า” “ทีมชาติไทย” จะไปทำอย่างนั้นไม่ได้ จะไปตอบโต้อย่างนั้นไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ขอโทษแฟนบอลที่ทำให้ผิดหวัง ขอโทษทุกคน แล้วนำข้อผิดพลาดจากประสบการณ์ครั้งนี้ไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีฟุตบอลไทย

ทำได้แค่นั้นจริงๆ ถ้าคุณเป็นพวกปล่อยให้” “โซเชียล” มามีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคุณขนาดนั้น วิธีการง่ายๆ คือ ไม่อ่าน ไม่เปิดดูคอมเมนต์ต่างๆ จากคนที่เราไม่รู้จักด้วยในโซเชียล คิดซะว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป หรือถ้าอ่านก็เลือกดูแต่ที่มีสารประโยชน์ หรือคำวิจารณ์ที่มัน” “ติเพื่อก่อ” ไม่ต้องไปใส่ใจกับคอมเมนต์” “ติเพื่อทำลาย” ก็แค่นั้น เราก็จะไม่หงุดหงิด ไม่เกิดกรณีมาท้าทายแฟนบอลออกสื่อ

เพราะทำไปแล้วคนในที่สว่างก็ย่อมเสียเปรียบคนในที่มืดอยู่ดี

อันนี้เรื่องแรกที่ผมรู้สึกว่า “หัวร้อน” กับการกระทำของนักเตะ “ช้างศึก”

เรื่อง” “หัวร้อน” อีกเรื่อง วันแรกของการแข่งขันกีฬา” “อีสปอร์ต” ขอย้ำว่า” “กีฬา” ซึ่งเป็นกีฬาสาธิตในเอเชี่ยนเกมส์คราวนี้ ผมต้องบอกก่อนว่า ผมเคยเล่นเกมในยุคสมัยของผม เกมในยุคปัจจุบันผมรู้จักแต่ชื่อ ไม่เคยเล่น

ทีวีของไทยถ่ายทอดสดการแข่งขันระหว่างทีมอีสปอร์ตไทย VS จีน ผมเห็นว่าแปลกดี เลยนั่งดูอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะได้คำตอบกับตัวเองว่า

นี่หรือ” “กีฬา” ตอนนี้กำลังแข่งเกมยอดฮิตอย่าง” “ROV” ท่านผู้บรรยายก็บรรยายกันอย่างได้อรรถรสอย่างมาก “บุกเข้าไป ตีป้อมๆ ล้อมกันไว้แล้ว เราฆ่าได้แล้วตัวหนึ่ง” ผมถึงกับงงว่า นี่มันแข่งกีฬากันหรืออยู่ในร้านเกมย่านรามคำแหงที่ผมเคยสัมผัส รู้สึกทันทีว่า ตรรกะกีฬามันป่วยอยู่หรือไม่?

ผมไม่ใจแคบนะ และพร้อมเปิดใจกว้างกับเรื่องนี้ ขอออกตัวไว้ก่อน เพราะเดี๋ยวจะมีดราม่ากันตามมา คนใกล้ชิดผมก็เล่น ROV

มันเกิดคำถามขึ้นในใจทันทีว่า นี่ใช่กีฬาหรือไม่ หรือการแข่งขันเกมมันสมควรจัดหมวดหมู่อยู่ในหมวดของ “สันทนาการ” หรือว่า “นันทนาการ” จะเหมาะสมกว่าหรือไม่

หรืออย่างน้อยๆ ถ้าจะเอากันจริงๆ ถ้าจะดันทุรังจัดกันจริงๆ กีฬาอีสปอร์ต มันก็ควรต้องเป็นอีสปอร์ตจริงๆ อย่างแข่งขันเกมที่เป็นกีฬา อย่างเช่น ฟีฟ่า, วินนิ่ง หรืออะไรก็ว่าไป แต่ไม่ใช่เกมแบ่งทีม วางแผนการเล่น และวิธีการเล่นคือ “เดินหน้าฆ่ามัน” เพื่อให้ได้คะแนนอย่าง ROV

ผมลองหาข้อมูลดูพบว่า ในเอเชี่ยนเกมส์ 2018 อีสปอร์ตมีแข่ง 6 เกมคือ “ROV” / “Pro Evolution Soccer” / “League of Legend” หรือ LoL แนว MOBA บน PC / “StarCraft II” เกมแนววางแผน / “Hearthstone” แนวการ์ดเกม / “Clash Royale” เกมบนมือถือแถว Tower Defense

ถามจากบรรดากูรูเกมสมัยปัจจุบันได้ข้อมูลมาว่า เกมทั้งหมดที่เอ่ยมาถ้าจะเอาเป็นเกมที่แข่งขันในภาพของกีฬาอย่างแท้จริงจะมีเพียง “Pro Evolution Soccer” นั่นคือ เกมแข่งฟุตบอลอย่างเดียว

นอกนั้นจะแนวๆ แบ่งข้าง วางแผนการโจมตี เดินหน้ายึดพื้นที่ เดินหน้าฆ่ามัน แทบทั้งสิ้น…!!!

ผมเข้าใจว่ามันเป็นเทรนด์ยุคใหม่ คนนิยมเล่นกันมาก มีการจัดตั้งสมาคมกีฬาอีสปอร์ตฯ ขึ้นมาในเมืองไทยเพื่อรองรับการควบคุมและดูแลเรื่องการเตรียมนักกีฬา คัดเลือกนักกีฬา ซึ่งผมไม่ได้ต่อต้านเพราะมันเป็นไปตามวิถีของโลกที่พัฒนาไปแบบรวดเร็ว

การมีอีสปอร์ตอย่างชัดเจนก็ดี เด็กๆ ที่เล่นเกม เด็กๆ ที่ติดเกม จะได้มีเป้าหมายที่ชัดเจน วันหนึ่งในอนาคตเขาอาจก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยก็ได้ หากไม่ปล่อยให้ตัวเองโดนเกมเหล่านี้ควบคุม และรู้จักเล่นเพื่อเป็นกีฬา เล่นเพื่อเป็นนักกีฬา

คำว่าเล่นเพื่อเป็นนักกีฬา กับคำว่าเล่นเพื่อความบันเทิงจนติดงอมแงม มันต่างกัน ระเบียบวินัยก็ต่างกันนะครับ

สาเหตุที่บรรดาเกมต่างๆ ที่ผมขอนิยามว่า ไม่ใช่เกมที่เป็นกีฬาที่กล่าวมาข้างต้น ผมเข้าใจดีว่า มันเป็นตลาดใหญ่ มีคนเล่นกันมาก มีมูลค่าสูงในเชิงการตลาดเพราะมันมีเรื่องของเงิน สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมหาศาล

ดังนั้น เจ้าของการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์อย่าง “สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ)” ก็เลยร่วมกับ “เจ้าภาพ” “อินโดนีเซีย” ผลักดันให้อีสปอร์ตได้รับการบรรจุเข้าชิงชัย

ถ้าผมจำไม่ผิด โอซีเอเคยทดลองชิมลางด้วยการบรรจุอีสปอร์ตแข่งขันในกีฬาที่ตัวเองดูแลเป็นครั้งแรกในการแข่งขัน “กีฬาเอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ ครั้งที่ 2” ที่เขตปกครองพิเศษมาเก๊า เมื่อปี 2007

โอซีเอพัฒนาการเลือกชนิดกีฬาตามยุคตามสมัย ตลาดเกมก็โตไปอย่างรวดเร็ว ในอนาคต “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี)” ก็มีความต้องการจะผลักดัน” “อีสปอร์ต” บรรจุแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์เช่นกันนอกจากตอนนี้ที่ไอโอซีรุกตลาดกีฬาจำพวกเอ็กซ์ตรีมทั้งหลายแล้วเพราะเป็นกลุ่มตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริการองรับ

หากใครไม่เข้าใจลองหลับตานึกภาพดูว่า เมื่อมีคนเล่นกันมากทั่วโลก เจ้าของค่ายเกมดังๆ มีเงินมหาศาล ก็ต้องการที่จะอัพเลเวลเกมของตัวเองขึ้นมาเป็น” “กีฬา” ก็ไปติดต่อเจ้าของมหกรรมกีฬา ไปติดต่อเจ้าภาพจัด ให้ช่วยบรรจุแข่งขัน ผลักดันทุกวิถีทางเพื่อให้เกมของตัวเองได้แข่งเป็น” “กีฬา”

ชาติเจ้าภาพมีเงินมหาศาลจากรายรับค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอด ได้ช่วยค่ายเกมโฆษณาโปรโมต ยกเลเวลเกมไปอีกระดับหนึ่ง มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ล้วนๆ

อนาคตเชื่อสิว่า ถ้าคนเลิกเล่น ROV แล้วมีเกมลักษณะเดียวกันแพร่หลายเข้ามา เราก็จะหยิบเกมเหล่านี้ไปบรรจุแข่งขันอีกเหมือนเดิม ต่อไป และต่อๆ ไปเรื่อยๆ ตามยุคตามสมัย

มีคนบอกผมว่าให้ลองเปิดใจ มันเป็นเรื่องของกีฬาจริงๆ ROV ก็เป็นกีฬาได้ เพราะเด็กๆ เล่นกัน (ตรรกะมันก็ดูจะป่วยอีกแล้ว)

ถ้าอย่างนั้น “กระทรวงศึกษาธิการ” ไม่ต้องถึงขั้นบรรจุการเล่น ROV เป็นหนึ่งในชั่วโมงเรียนพลศึกษาในสถานศึกษาทั่วประเทศแทนฟุตบอล, วอลเลย์บอล, เทนนิส, บาสเกตบอล, เทเบิลเทนนิส, ว่ายน้ำ, กรีฑา ฯลฯ กันเลยหรือ

คนที่เขาเห็นด้วยว่า ROV เป็นกีฬาได้ก็เยอะ คนค้านก็เยอะ ทำยังไงให้หาจุดกึ่งกลางไปด้วยกันได้

ทุกอย่างมันทำได้แค่ก่อนการเลือกชนิดของเกมที่บรรจุในกีฬา” “อีสปอร์ต” ต้องลืมคำว่า” “ผลประโยชน์” ไว้ก่อน

มิเช่นนั้น สังคมคนกีฬาของโลกก็จะตกเป็นเครื่องมือของค่ายเกมที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ และก็จะเปล่าประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการกีฬา