เผยแพร่ |
---|
นับเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ สำหรับกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นำคณะรัฐมนตรีทำพิธีรับพระราชดำรัส พร้อมลายพระราชหัตถ์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562
โดยกล่าวถ้อยคำไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ขาดหายไปในประโยคสาระสำคัญ
ทั้งนี้ ถ้อยคำที่คณะรัฐมนตรีต้องกล่าวถวายสัตย์ เป็นบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
ปรากฏว่าในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562
จากคลิปวิดีโอข่าวพระราชสำนักซึ่งได้รับการเผยแพร่เป็นการทั่วไปของสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง พบว่า พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน หายไปในประโยคสุดท้ายอันเป็นสาระสำคัญที่ว่า
“ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
ต่อมา ในวันที่ 25 ก.ค. 2562 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.อนาคตใหม่ เปิดประเด็นกรณีคลิปข่าวพระราชสำนัก ปรากฏถ้อยคำที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ใน ม.161 ของรัฐธรรมนูญ
และที่ร้ายแรงคือ ผลกระทบอาจทำให้รัฐบาลเป็นโมฆะ ไม่สามารถเข้ารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งข้อสังเกตกรณีนายกรัฐมนตรีนำกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบ อาจเป็นด้วยหลายสาเหตุ เช่น
1.ผู้ร่างร่างข้อความไม่ครบ 2.ผู้ร่างร่างให้แล้วแต่นายกรัฐมนตรีกล่าวไม่ครบเอง 3.ไม่มีผู้ร่างให้เนื่องจากเป็นข้อความที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแล้วและเห็นว่านายกรัฐมาตรีเคยถวายสัตย์มาแล้ว น่าจะไม่พลาด
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ฟังนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่อภิปรายในสภาวันแถลงนโยบายรัฐบาล ตอนแรกยังคิดว่านายปิยบุตรดูข่าวที่อาจนำเสนอไม่ครบ
แต่พอดูข่าวช่อง 3 ถึงเห็นเป็นจริงว่าตกบรรทัดสุดท้ายไปทั้งบรรทัด
งานนี้ที่ปรึกษากฎหมายหรือรองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายต้องตอบให้ดีว่าจะดำเนินการอย่างไร
เมื่อไม่กล่าวให้ครบถ้วน เรื่องนี้คงเป็นประเด็นใหญ่ต่อเนื่อง ไม่จบด้วยคำพูดง่ายๆ ว่าก็ผ่านไปแล้ว เพราะข้อความถวายสัตย์ที่เขียนชัดเจนในรัฐธรรมนูญ คงมิใช่ให้นายกฯ คนใดอยากอ่านอะไรหรือกล่าวถ้อยคำใด ก็สามารถอ่านหรือตัดตอนได้ตามใจชอบ
มิเช่นนั้นจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทำไม
มีความพยายามจากฝ่ายรัฐบาลที่จะ “ตัดบท” ไม่ให้ลุกลาม หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากนักการเมืองฝ่ายค้าน นักวิชาการ นักกฎหมาย สื่อมวลชน ฯลฯ ส่อเค้าว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลในระดับร้ายแรง
ไม่เพียงนักร้องอย่างนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะยื่นคำร้องถามหาความชัดเจนผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินไปยังศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติรับคำร้องไว้แล้ว
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยังยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันว่าการกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ถือเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ การถวายสัตย์นั้นต้อง “โมฆะ” หรือไม่
ในขณะที่ 7 พรรคฝ่ายค้านนำโดยเพื่อไทยและอนาคตใหม่ มีมติร่วมกันว่าจะยื่นกระทู้ถามเรื่องนี้ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ผู้รับผิดชอบกรณีที่เกิดขึ้นโดยตรง
“แต่หากนายกฯ ยังไม่คลี่คลายปัญหาให้ชัดเจน เราจำเป็นต้องยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้เดิมทีอยากให้รัฐบาลได้ทำงานก่อน แต่เมื่อนายกฯ ไม่ได้หาทางออกก็จำเป็นต้องเลื่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจขึ้นมา เพราะเรื่องการถวายสัตย์เป็นเรื่องใหญ่ เป็นบรรทัดฐานของประเทศ” นายสุทิน คลังแสง แกนนำฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทยระบุ
ขณะที่นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ตั้งข้อสงสัยต่อกรณีดังกล่าวอย่างแหลมคมว่า เป็นการจงใจถวายสัตย์ผิดหรือไม่ เพื่อที่รัฐบาลจะได้เป็นโมฆะ เปิดโอกาสให้ คสช.กลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ยืนกราน “ไม่ขอตอบอะไรทั้งสิ้น” ในประเด็นปัญหาเรื่องนี้ ขณะเผชิญคำถามแบบยิงรัวจากกลุ่มสื่อมวลชน ก่อนตบท้ายด้วยคำพูดยกระดับความคลางแคลงใจของสังคมมากขึ้นกว่าเดิม
“แล้ววันหนึ่งจะรู้เองว่าทำไมถึงไม่ควรพูด”
ถึงไม่พูด ไม่ตอบ แต่นายวิษณุก็ยืนยันว่ารัฐบาลสามารถทำงานได้ ไม่มีปัญหา เพราะ 1.เข้าสู่กระบวนการในการถวายสัตย์แล้ว 2.ได้รับพระราชทานพรแล้ว 3.แถลงนโยบายแล้ว และ 4.ลงมือทำงานกันไปแล้ว
ก็ถือว่าจบแล้ว
จากเคยลื่นไหลปรู๊ดปร๊าดในข้อกฎหมาย
เมื่อมาถึงคำถามเรื่องคำถวายสัตย์ รองนายกรัฐมนตรีเจ้าของฉายา “เนติบริกร” กลับไปต่อไม่เป็น และดูเหมือนอาการจะหนักหนาสาหัสมากขึ้น
เมื่อนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เปิดประเด็นในสภาออกมาตามขยี้ซ้ำจนนายวิษณุ เครืองาม แหลกสลายคามือ ด้วยการโชว์หนังสือ “หลังม่านการเมือง” ตีพิมพ์เมื่อปี 2554 นายวิษณุเขียนบรรยายถึงการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ผ่านข้อความตอนหนึ่ง
“ความสำคัญจึงอยู่ที่นายกฯ ซึ่งจะผิดไม่ได้ ท่านนายกฯ ชวนจะไม่อ่าน แต่ใช้วิธีจำเอา ส่วนนายกฯ ท่านอื่นๆ จะใช้วิธีอ่านทีละวรรค ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิมพ์ลงในบัตรแข็ง ซึ่งดูปลอดภัยกว่าการจำ เพราะจะไม่ผิดพลาด ขืนท่องจำผิดๆ ถูกๆ ตกคำว่า “และ” คำว่า “หรือ” ไปสักตัว ก็อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าได้ถวายสัตย์ครบถ้วนหรือยัง จะยุ่งเปล่าๆ”
เป็นอันว่าจบเห่
เหมือนที่นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทีมกฎหมายพรรคอนาคตใหม่ สงสัยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ นายวิษณุเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายที่เก่ง ทำไมจึงละเลยประเด็นนี้ การออกมาพูดของนายวิษณุ ยิ่งทำให้ทุกอย่างไม่จบ คำพูดนั้นจะฆ่านายวิษณุเอง
เมื่อระดับนายวิษณุจบเรื่องนี้ไม่ลง จึงเป็นหน้าที่ของเบอร์ 1 อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกโรง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวชี้แจงเรื่องนี้ในครั้งแรกว่า ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการในการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระมหากษัตริย์ ซึ่ง ณ ตรงนั้นก็เสร็จไปแล้วว่าจะต้องทำอะไรในการดูแลประชาชน
ข้อความต่างๆ ที่พูดไปแล้วถือว่าครอบคลุมทั้งหมด
เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในการดูแลพี่น้องประชาชนคนไทย ที่สำคัญที่สุดเป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งพระองค์ท่านรับสั่งมาให้ทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ตรงกับรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าทำเพื่อประชาชนทั้งเพื่อประเทศ
“เรื่องนี้ควรจบ อย่าให้บานปลาย”
อย่างไรก็ตาม การชี้แจงว่าคำถวายสัตย์ครอบคลุมทั้งหมดแล้วนั้น หลายคนมองว่าก็ยังไม่ถูกต้องอยู่ดี
เพราะถ้อยคำถวายสัตย์ เป็นบทบัญญัติตายตัวในรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 คือต้องกล่าวตามนั้นทุกประโยค ทุกตัวอักษรแบบเป๊ะๆ ห้ามตกหล่นแม้แต่คำเดียว จะกล่าวแบบ “ครอบคลุม” ไม่ได้
โดยเฉพาะกรณีนี้เป็นการขาดหายไปทั้งประโยค ทั้งยังมีการ “เพิ่มคำ” เข้าไป ที่เข้าข่ายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับในเวลาต่อมาว่า เรื่องดังกล่าวตนเองกำลังหาทางแก้ไขปัญหาอยู่ และล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ก็รับสารภาพแบบกลายๆ ว่าได้กระทำผิดรัฐธรรมนูญจริง แต่ไม่มีเจตนา “เดี๋ยวคงเรียบร้อย เพราะผมไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ผิด เขาดูกันที่เจตนา”
เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงจุดนี้ นายกฯ ยอมรับว่าได้กระทำผิดโดยไม่มีเจตนา คำถามคือเรื่อง “จบ” หรือไม่
คำตอบคือ “ยังไม่จบ”
ยังไม่จบเพราะประชาชนเฝ้าจับตาดูอยู่ว่าผู้นำรัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร เพราะในกรณีเดียวกันหากเกิดกับรัฐบาลอื่นหรือพรรคการเมืองอื่น การจะอ้างว่าไม่มีเจตนาเพื่อให้ตนเองพ้นผิด หรือไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ได้หรือไม่
เรื่องนี้จะจบ ต่อเมื่อนายกฯ ในฐานะผู้นำกล่าวถวายสัตย์แสดงความรับผิดชอบ ไม่ว่าด้วยการขอพระราชทานอภัยโทษและเข้าถวายสัตย์ใหม่ หรือจะด้วยวิธีใดก็ตาม คือสิ่งจำเป็นต้องเร่งทำโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม สุดท้าย “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับจบให้ โดยมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากการถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวเป็นการกระทำทางการเมือง ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจรับคำร้องไว้ได้ และการถวายสัตย์ดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด