คุยกับทูต | เปาโล ดิโอนิซี สานสัมพันธ์ 155 ปี ไทย-อิตาลี (1)

“ผมรักการเดินทางและใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักการทูตมาตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยมีความคิดว่าการประกอบอาชีพทางการทูตเป็นโอกาสในการทำความรู้จักกับประเทศและวัฒนธรรมใหม่ๆ ผมมีคุณพ่อเป็นนายธนาคาร และมีคุณแม่ซึ่งรักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ ครอบครัวของเราจึงออกสำรวจโลกกว้างพร้อมกับการใช้เวลาด้วยกันอย่างเต็มที่”

“ผมรู้สึกขอบคุณทุกๆ วัน ผมขอบคุณพระเจ้าที่ให้โอกาสผมได้ทำงานที่ผมอยากทำมาโดยตลอด เพราะการทูตคืองานของผม และนักการทูตคือตัวผม”

กล่าวโดยนายเปาโล ดิโอนิซี (Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทยคนใหม่ มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชาและลาว ได้เปิดเผยมุมมองเกี่ยวกับประเทศไทย และความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและอิตาลี รวมทั้งแผนการร่วมมือกันในการเฉลิมฉลอง 155 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าระหว่างกัน

ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอิตาลีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2411 (ค.ศ.1868) สนธิสัญญาฉบับแรกระหว่างไทยและอิตาลี คือ สนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation)

ปัจจุบันความสัมพันธ์พัฒนามาเป็นเวลา 155 ปีแล้ว

นายเปาโล ดิโอนิซี (Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย

นายเปาโล ดิโอนิซี สำเร็จการศึกษาด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรม เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่หลากหลาย เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ผู้บริหารสายการบิน Alitalia และผู้บริหารมูลนิธิโรงพยาบาล Fondazione Policlinico A.Gemelli สาธารณรัฐอิตาลี เป็นผู้แทนพิเศษสำหรับวิกฤตในสาธารณรัฐอาหรับซีเรีย และผู้ประสานงานของพันธมิตรสากลเพื่อต่อต้านกลุ่มไอซิส (Global Coalition against Daesh) กระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศสาธารณรัฐอิตาลี

เริ่มต้นการดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลี ประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และรัฐสุลต่านโอมานในปีเดียวกับฟุตบอลโลก 2006

ก่อนเดินทางมารับหน้าที่ในประเทศไทยพร้อมภริยา มาดามทาลา (Tala Dionisi) เมื่อเดือนตุลาคม 2022 ปีที่ผ่านมา นายเปาโล ดิโอนิซี มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาทางการทูตประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจสาธารณรัฐอิตาลี

เอกอัครราชทูตและภริยานางทาลา ดิโอนิชี (Tala Dionisi)

“ตอนผมประจำที่อาบูดาบี เมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็มักจะต้องเดินทางไปดูไบบ่อยครั้ง โดยไป-กลับในวันเดียวกัน ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองที่นั่นตลอดมา เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ที่เติบโตเฟื่องฟูอย่างรวดเร็ว ผมจึงคิดว่าถ้าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้า เราก็ต้องมีความกระตือรือร้นอย่างแข็งขัน นี่คือทัศนคติของผม”

“ผมมาถึงประเทศไทยเมื่อกลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มาถึงวันนี้ย่างเข้าเจ็ดเดือนแล้ว ยังไม่ครบปี ก็รู้สึกว่ายังทำงานไม่เพียงพอ แต่มีเวลาอีก 4-5 เดือนในปีนี้ ซึ่งมีเรื่องต้องทำอีกหลายอย่าง และต้องทำให้ดีที่สุดอย่างถูกที่ถูกเวลา”

“ในเจ็ดเดือนที่ผ่านมา ผมไปเที่ยวเมืองไทยค่อนข้างหลายแห่ง ได้ไปเยือนเชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี ระยอง พัทยา หัวหิน กระบี่ พังงา ภูเก็ต สมุย และเมืองเล็กๆ อีกมาก”

“เนื่องจากผมมีความรับผิดชอบอีกสองประเทศ คือกัมพูชาและลาว จึงได้ไปเมืองเวียงจันทน์ เพื่อยื่นอักษรสาส์นตราตั้งต่อประธานประเทศ สปป.ลาว และเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง ณ พระที่นั่งเทวาวินิจฉัย พระบรมราชวัง กรุงพนมเปญ”

“ทั้งสองประเทศนี้มีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ภูมิหลังต่างกัน มีวิถีทางที่แตกต่างกัน และตอนนี้กำลังมีรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันด้วย นับว่าน่าสนใจมาก”

“เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการดำเนินการในภูมิภาคนี้ ก็จะทำให้ไทยมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในอนาคตอันใกล้”

“ก่อนหน้ามาประจำที่กรุงเทพฯ ผมมีความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยน้อยมาก ตลอดระยะเวลาเจ็ดเดือนผมได้พยายามทำความเข้าใจและรู้จักประเทศไทยให้มากขึ้นตลอดเวลา”

“ต่อคำถามถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากในการปรับตัวของผมที่นี่ ผมจึงตอบได้ว่า ไม่มี และนี่คือ คำขอบคุณของผมต่อคนไทย”

“คนไทยเหมือนชาวอิตาลีที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น จึงทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ที่บ้านมาก ผมเห็นว่าเรามีหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายกัน ในหลายๆ ด้าน หลายๆ แง่มุม ได้รู้สึกถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว การเคารพผู้อาวุโส ความสุขที่แท้จริงในชีวิต ซึ่งคนไทยชอบที่จะสนุกกับชีวิตเหมือนเรา นั่นเป็นเหตุผลที่ผมคิดว่าชาวอิตาเลียนและชาวไทยเข้ากันได้ดีมาก”

“ในด้านอาหารก็เช่นกัน ชอบกินข้าวด้วยกัน ชอบคุยกันเรื่องอาหาร เพียงแต่อาหารของเราอาจจะเผ็ดน้อยกว่าของไทยนิดหน่อยซึ่งเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เป็นความแตกต่าง เพราะอาหารไทยนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังจริงๆ เช่นเดียวกับอาหารอิตาเลียน”

การแสดงคอนเสิร์ตวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ในโอกาสวันชาติอิตาลีและครบรอบ 155 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อิตาลี

“สําหรับการเข้าร่วมงานใหญ่ครั้งแรกของผมที่นี่ เป็นงานสโมสรสันนิบาต เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ทำให้ผมเกิดความรู้สึกอยากเรียนพูดภาษาไทย เพราะผมชอบพบปะพูดคุยกับผู้คน ผมคิดว่าผู้ที่อยู่ในตำแหน่งทูต นับว่าโชคดีที่สุด เพราะคนส่วนใหญ่มักยินดีต้อนรับเอกอัครราชทูตไม่มากก็น้อย และสิ่งนี้ทำให้ผมเริ่มเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น”

“ประเพณีของคนไทยบางอย่างก็เป็นประเพณีที่ใกล้ตัว แน่นอนว่าเป็นวัฒนธรรมที่อยู่ห่างไกลจากเรา แต่ในหลาย ๆ ด้านก็ใกล้ชิดมาก เช่น ผมรู้สึกสนุกในงานเทศกาลสงกรานต์ แม้ในช่วงเทศกาลนี้ ผมจะอยู่ห่างไกลจากบ้าน ผมก็สนุกและมีความสุขกับความจริงที่ว่า ทุกคนได้อยู่ด้วยกัน นี่คือสิ่งแรกที่เรารัก เช่นเดียวกับชาวอิตาลีซึ่งรักที่จะอยู่ด้วยกัน และแม้กระทั่งความจริงที่ว่า เราชาวอิตาลีมีความใกล้ชิดกันมากในความรู้สึก เช่น เราชอบโอบกอดกันและกัน แน่นอนว่าคนไทยค่อนข้างขี้อายในเรื่องนี้ และสงวนท่าทีมากกว่า แต่คนไทยก็มีวิธีแสดงความรักในแบบของไทยเองแม้ว่าบางคนอาจจะเป็นคนเก็บตัวก็ตาม แต่จากสายตา จากรอยยิ้มของคนไทย สามารถแสดงให้เราเห็นถึงความรักความห่วงใยอันยิ่งใหญ่ของคนไทยที่มีต่อเรา ถือเป็นการค้นพบอย่างหนึ่งทำให้ผมรักประเพณีไทยและมีความสุขที่ได้พบทุกคนที่นี่”

“อันที่จริงผมไม่ได้อยู่ที่นี่ช่วงสงกรานต์เพราะวันที่ 12 และ 13 เมษายน ผมอยู่ที่กรุงโรมซึ่งเป็นช่วงเดียวกับวันอีสเตอร์ของเรา ดังนั้น ผมจึงพลาดร่วมงานสงกรานต์ แต่ตอนที่ผมกลับมา ก็มีปาร์ตี้สงกรานต์อีกสองสามงาน จึงพอได้กลิ่นอายของวันสงกรานต์อยู่บ้าง”

“สำหรับคำถาม เกี่ยวกับความคาดหวังของเราในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ผมขอตอบว่า สิ่งที่ทุกคนปรารถนาก็คือ ผลลัพธ์ที่ดีของการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร การเลือกตั้งเป็นการแสดงวุฒิภาวะของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย”

“บางประเทศในยุโรปหรือในอิตาลี อัตราส่วนของผู้ไปลงคะแนนอาจน้อยกว่า 50% ในขณะที่ประเทศไทยมีถึง 77% ดังนั้น นี่คือผลการเลือกตั้งที่ดีที่สุดจากการที่ประชาชนพากันออกไปลงคะแนนเสียง และผมมั่นใจว่า ระบบของประเทศไทยจะสามารถรับมือได้ดีที่สุดตามที่คนไทยต้องการ ผลจากคนไปเลือกตั้ง และการทำงานที่สมบูรณ์แบบ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงใดที่จะมีบทบาทสำคัญต่อโลกใบนี้” •

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin