เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา คุก “เสี่ยชูวิทย์-เสธ.หิ” พิษรื้อบาร์เบียร์สุขุมวิท โยงคนมีสี-ส่วยอ่าง

เดินมาถึงบทสรุปแล้ว สำหรับคดีที่กลุ่มชายฉกรรจ์นับร้อยในชุดซาฟารี บุกรื้อบาร์เบียร์ย่านสุขุมวิทซอย 10 เมื่อปี 2546

ที่เริ่มต้นจากเรื่องธุรกิจ ลามไปเป็นเรื่องมาเฟียคนมีสี ต่อด้วยการแฉส่วยต่างๆ นานา

จนแวดวงทหาร-ตำรวจต้องสั่นสะเทือนกันไปยกใหญ่

เมื่อศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาในคดีดังกล่าว โดยผู้ที่สั่งการเกี่ยวข้องล้วนต่างถูกโทษจำคุก

โดย 1 ในนั้น คือ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เจ้าพ่ออ่างคนดัง ที่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็หันมาเล่นการเมืองในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

แต่สุดท้ายก็ต้องก้มหน้ารับผิดชอบกับสิ่งที่กระทำมาในอดีต

ศาลฎีกาตัดสินคดีรื้อบาร์เบียร์

เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ห้องพิจารณา 601 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง 63 ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีรื้อบาร์เบียร์ ซอยสุขุมวิท 10 ที่พนักงานอัยการและกลุ่มผู้ค้ารวม 44 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง จ.ส.อ.อภิชาติ ริมมสาร นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักการเมืองคนดัง อดีตผู้บริหารบริษัทสุขุมวิท ซิลเวอร์สตาร์ พ.ท.หิมาลัย ผิวพรรณ หรือ เสธ.หิ พ.ต.ธัญเทพ ธรรมธร หรือ เสธ.แอ๊ป 2 อดีตนายทหาร และพวกรวม 130 คน

เป็นจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ บุกรุกในเวลากลางคืน และกักขังหน่วงเหนี่ยวข่มขืนใจให้บุคคลปราศจากอิสรภาพ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2546 โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด ขณะที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับให้จำคุกจำเลย 66 คน คนละ 5 ปี จำเลยยื่นฎีกา

ศาลออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าภายหลังที่มีการซื้อขายที่ดินเมื่อปี 2545 ต่อมามีการปรับปรุงสถานที่ให้เป็นร้านค้า บาร์เบียร์ กระทั่งวันเวลาเกิดเหตุ มีชายฉกรรจ์กลุ่มจำเลย เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของบาร์เบียร์ บอกให้เก็บของ บางคนบอกว่า “ให้ไว”

กลุ่มจำเลยมีป้ายแขวนคอเขียนอักษรภาษาอังกฤษ แบ่งกลุ่ม เอ, บี, ซี, ดี จากนั้นรถแบ๊กโฮก็ลงมือรื้อถอน และมีแท่งคอนกรีตปิดทางโดยรอบ โดยมี พ.ท.หิมาลัย หรือ เสธ.หิ จำเลยที่ 128 และ พ.ต.ธัญเทพ หรือ เสธ.แอ๊ป จำเลยที่ 130 ถือวิทยุสั่งการในที่เกิดเหตุ

และจากการจับกุมชายฉกรรจ์ในที่เกิดเหตุพบสมุดจดปกสีน้ำเงิน แผนภูมิการรื้อถอน รายชื่อ รายละเอียดขั้นตอน ภาพถ่ายร้านค้า รวมทั้งวิทยุสื่อสาร ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความพยานทั้งเจ้าของบาร์เบียร์ ผกก.สน.ลุมพินี พนักงานสอบสวน ที่เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว

จึงรับฟังได้ว่ามีการวางแผนบุกรุกเข้าไปรื้อถอนร้านค้าในที่เกิดเหตุ และมีการนำแท่งคอนกรีตขวางทางเข้าออก โดยมีวัตถุประสงค์ขับไล่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายให้ออกจากที่เกิดเหตุ จนไม่สามารถกลับเข้าครองพื้นที่ได้อีก ซึ่งเป็นพฤติการณ์ลักษณะคบคิดกันมาก่อน แบ่งหน้าที่ตามแผนการที่วางไว้

วันที่ 15 ต.ค. 2558 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีรื้อบาร์เบียร์ สุขุมวิท 10

แก้โทษจำคุก 2 ปี-ชูวิทย์โดนด้วย

ขณะที่นายชูวิทย์ จำเลยที่ 129 เพิ่งยื่นคำร้องรับสารภาพในชั้นฎีกา ถือเป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่เคยปฏิเสธ ซึ่งไม่อาจทำได้ เพราะการขอแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และไม่ถือเป็นคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมฎีกา เพราะพ้นระยะกำหนดเวลา

แต่ก็ถือเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยร่วมกันกระทำผิดฐานบุกรุกและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ นับเป็นการกระทำผิดอย่างอุกอาจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ถือเป็นเรื่องร้ายแรงต้องป้องปรามไม่ให้ผู้อื่นถือเป็นเยี่ยงอย่าง กรณีนี้ไม่สมควรรอการลงโทษ

แต่การที่นายชูวิทย์ บรรเทาความเสียหายด้วยการชดใช้เงินให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหมด จนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายหลายรายไม่ติดใจเอาความด้วยการถอนคำร้องทุกข์นั้น นับเป็นเหตุอันควรปรานี

ทั้งนายชูวิทย์นำที่ดินพิพาทมาสร้างเป็นสวนสาธารณะเพื่อให้ประชาชนใช้พักผ่อน บ่งบอกว่าจำเลยที่ 129 และพวกรู้สำนึกผิดที่ได้กระทำไป เห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม แต่เนื่องจากเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดี จึงมีผลไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาด้วย

ดังนั้น พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี สำหรับจำเลยที่ 21, 68, 81, 96, 99 และ 122 ขณะก่อเหตุอายุไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน บวกโทษจำคุกจำเลยอื่นที่รอการลงโทษไว้ในคดีอื่นเข้ากับโทษคดีนี้

ส่วนจำเลยที่ไม่มาฟังคำพิพากษา รวมทั้ง พ.ต.ธัญเทพ ศาลให้ออกหมายเพื่อมารับโทษภายในอายุความ

ก่อนเจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวนายชูวิทย์และพวกรวม 31 คน ไปคุมขังที่เรือนพิเศษกรุงเทพมหานครต่อไป

ด้านนายชูวิทย์ กล่าวก่อนรับฟังคำพิพากษาว่า พร้อมเป็นตัวอย่างให้นักการเมืองและประชาชนทั่วไปเห็นว่าตนไม่หนี จะอยู่ตรงนี้และยอมรับคำพิพากษา แม้ว่าจะถอนคำให้การที่เคยปฏิเสธ เป็นยอมรับสารภาพ ก็เป็นวิธีทางการกฎหมายที่ต่อสู้จนนาทีสุดท้าย

ผมไม่เคยคิดแม้วินาทีเดียวที่จะหลบหนีไปนั่งจิบไวน์บนเรือยอชต์ ถ้าวันนี้ติดคุก สื่อจะพาดหัวยังไงก็ยอม พร้อมนั่งรถไปเรือนจำ ชีวิตนี้ผ่านมาหมด ทั้งเจ้าพ่อ หัวหน้าพรรค

ถ้าผมไม่อยู่ แล้วจะคิดถึงผม

 

พลิกคำพิพากษาชั้นต้น-อุทธรณ์

สําหรับคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2549 ให้ยกฟ้องจำเลยเกือบทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งนายชูวิทย์ พ.ท.หิมาลัย และ พ.ต.ธัญเทพ โดยระบุว่า แม้พยานโจทก์เบิกความว่า พ.ท.หิมาลัย อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พ.ท.หิมาลัย นำกลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าปิดล้อมที่เกิดเหตุ หลังกลุ่มชายฉกรรจ์เข้ารื้อถอนทำลายสิ่งปลูกสร้าง

แม้โจทก์ระบุว่าจำเลยมีพฤติกรรมแบ่งงานกันทำเป็นกลุ่ม ทั้งกลุ่มรถแทร็กเตอร์ แบ๊กโฮ กลุ่มกวาดต้อนผู้คน กลุ่มถ่ายภาพวิดีโอ ภาพนิ่ง กลุ่มรักษาความปลอดภัย แต่ไม่มีพยานชี้ชัดว่า พ.ท.หิมาลัย มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นกับกลุ่มที่เข้าไปรื้อถอนทำลาย

สำหรับนายชูวิทย์ เป็นผู้บริหารบริษัทสุขุมวิท ซิลเวอร์สตาร์ และทำสัญญาให้บริษัท นิกเกิล จำกัด เช่าพื้นที่บริหารงาน ต่อมาบริษัทนิกเกิลว่าจ้างนายธวัชชัย ไม่ทราบนามสกุลเป็นผู้รื้อถอน

ส่วน พ.ต.ธัญเทพ แม้สารภาพในชั้นจับกุมว่าเป็นผู้เขียนแผนภูมิที่เกิดเหตุ และวางแผนหน้าที่กลุ่มต่างๆ แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้เขียนอักษร หรือตัวเลขกำกับให้กับกลุ่มแทร็กเตอร์ แบ๊กโฮ หาก พ.ต.ธัญเทพ เกี่ยวข้องจริง ก็ต้องเขียนตัวเลขหรืออักษรกำกับไว้

จำเลยอื่นๆ แม้ถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ แต่เข้ามารักษาความปลอดภัย ไม่ได้ร่วมกับกลุ่มชายฉกรรจ์รื้อถอน จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาระบุว่า จากการตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าคดีนี้โจทก์มีพ่อค้าที่เป็นผู้เสียหายเป็นพยาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในที่เกิดเหตุเบิกความยืนยันว่าเห็นกลุ่มจำเลยมาดูลาดเลาในพื้นที่ก่อนเกิดเหตุ

เมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยบางคนกันให้ผู้ค้าออกจากพื้นที่ บางคนนำรถแบ๊กโฮเข้ารื้อถอน อีกทั้งพยานที่เป็นตำรวจยืนยันว่าหลังรับแจ้งเหตุเข้าตรวจสอบก็พบจำเลยในพื้นที่ จึงฟังได้ว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการร่วมกันบุกรุก และแบ่งงานกันทำ

จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยรวม 66 คนมีความผิดให้จำคุก 5 ปีโดยไม่รอลงอาญา

ย้อนรอยคดีฉาวกลางกรุง

คดีรื้อบาร์เบียร์มีปฐมบทอยู่เมื่อเช้ามืดวันที่ 26 มกราคม 2546 ชายฉกรรจ์กว่า 400 คน 1 ในจำนวนนั้นมีชายชุดซาฟารี ถือวิทยุสื่อสารสั่งการ ขณะที่ทุกคนมีป้ายคล้องคอระบุชุดปฏิบัติการชัดเจน พร้อมเคลื่อนขบวนบุกเข้าบริเวณซอยสุขุมวิท 10 ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งบาร์เบียร์กว่า 60 ร้าน

จากนั้นจึงใช้แบ๊กโฮเข้าทลายรื้อถอน พร้อมชายฉกรรจ์อีกชุดนำแผงเหล็กมากั้นพื้นที่ทั้งหมดในเนื้อที่ 5 ไร่ 32 ตารางวา ขณะที่ผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของบาร์เบียร์เข้าแจ้งความกับ สน.ลุมพินี เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุจับกุมชายฉกรรจ์ได้ 97 ราย

โดยช่วงนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ในขณะนั้นเดินทางตรวจที่เกิดเหตุทันที พร้อมสั่งการให้ตำรวจคลี่คลายคดีให้ได้

เมื่อการสอบสวนลึกลงไปพบว่าเป็นความพยายามไล่ที่ โดยที่ดังกล่าวเป็นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ต่อมาให้บริษัท บีทีอาร์ โฮลดิ้ง จำกัด เช่าทำพลาซ่า เมื่อหมดสัญญา กลับไม่คืนพื้นที่ แต่กลับต่อสัญญาให้เช่าต่อรายย่อยต่อ

ทำให้บริษัททิสโก้ ต้องการที่ดินคืนก็ทำไม่ได้เพราะติดที่ผู้ค้ารายย่อย เพราะถือว่าจ่ายค่าเช่าไปแล้ว เรื่องจึงคาราคาซังมาจนถึงช่วงที่นายชูวิทย์ ซื้อที่ดินดังกล่าวมาในราคา 500 ล้านบาท แต่มีข้อแม้ว่าต้องไปจัดการปัญหาผู้ค้ารายย่อยเอาเอง

และเมื่อสาวลึกลงไปก็พบว่าผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มชายฉกรรจ์ก็คือ พ.ท.หิมาลัย และ พ.ต.ธัญเทพ จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับดำเนินคดี

ตามด้วยการบุกจับนายชูวิทย์ คาลานจอดรถอาบอบนวดแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 ก่อนถูกส่งฟ้องเป็น 1 ในผู้ต้องหาคดีบาร์เบียร์

ไม่เพียงเท่านั้น นายชูวิทย์ ยังถูกดำเนินคดีค้าประเวณีเด็ก แต่สุดท้ายศาลก็ยกฟ้อง

แต่ในช่วงที่ถูกดำเนินคดีอย่างหนักนั้น เจ้าตัวก็ออกมาแฉเรื่องส่วยอ่าง ระบุว่าจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงเดือนละ 12 ล้าน

“แจกโรเล็กซ์เป็นถาด เงินเป็นกระสอบ” จนสร้างแรงสะเทือนให้วงการสีกากีอย่างรุนแรง

สุดท้ายเข้าเรือนจำตามคำพิพากษาศาลฎีกา

สวนชูวิทย์