เจาะกึ๋น”จเด็จ อินสว่าง” เปิดวิทยานิพนธ์ดู ส.ว.ตัวตึง มองปัญหาประชาธิปไตยไทย อย่างไร?

ชื่อของ จเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กลับมาเป็นข่าวดังอีกแล้วในขณะนี้ จากการนำเสนอไอเดีย ตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ”

จเด็จ ให้เหตุผลหนุนแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ โดยให้แต่ละพรรคนำข้อดีมาร่วมทำงานเพื่อบ้านเมือง สร้างความแข็งแกร่งของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยโมเดลของทุกพรรคมาทำงานร่วมกัน ประสานประโยชน์ พุ่งเป้าไปที่ความมั่นคงของชาติ

จเด็จอ้างว่า สามารถงดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่มีปัญหาได้ เพื่อเป็นทางออก ตนมองว่าการเมืองไทยไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างเป็นไปได้เพื่อประโยชน์ชาติ การตั้งรัฐบาลแห่งชาติรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม หากห้ามก็งดใช้ เชื่อว่ามีหนทางทำได้ อยู่ที่จะทำหรือไม่

จเด็จ ยังยืนยันจุดยืน ไม่โหวตให้พรรคก้าวไกล ซึ่งชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 และสามารถรวมเสียข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จโดยอ้างเรื่องการแก้ไข มาตรา 112

“ยืนยันจุดยืนจะไม่ลงมติให้พรรคก้าวไกลและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพราะยังเดินหน้าแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งส.ว.ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย” จเด็จ ระบุ

สำหรับประวัติของ “จเด็จ อินสว่าง” ปัจจุบันอายุ 76 ปี คือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)เลือกโดย คสช. หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา , กรรมาธิการ กมธ. ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา

ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการคือ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ทางด้านประวัติการศึกษา จบการศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รัฐศาสตรมหาบัณฑิต) โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “กลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ชาวจีนกับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีย์ชนชั้นกลางสัญชาติจีนบางกลุ่มกับการมีส่วนร่วมในทางการเมือง”

รายงานชิ้นนี้จึงจะลองพาไปดูเนื้อหาบางส่วน เพื่อตอบคำถามว่า ในปี 2518 ซึ่งจเด็จเขียนวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้เสร็จ เขามีมุมมองต่อประชาธิปไตยอย่างไร เขาเห็นว่าประชาธิปไตยที่ดีเป็นอย่างไร อะไรคืออุปสรรคปัญหาประชาธิปไตยในมุมมองของเขาในยุคนั้น

  • ในคำนำ จเด็จเขียนถึงปัญหาการพัฒนาทางการเมืองไทยไว้ชัดเจนว่าเมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว  ความบกพร่องและความไม่สมบูรณ์ของการพัฒนาการเมืองไทย เกิดจากฝ่ายประชาชนมากกว่าผู้ปกครอง โดยอ้างว่าเพราะประชาชนจำนวนมากเพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง และขาดความสำนึกในวัฒนธรรมและอุดมการณ์การเมืองที่ถูกต้อง

 

 

  • งานศึกษาของจเด็จ มีบทสรุปว่าชาวจีนที่อพยพเข้ามาในไทย นิยมขนมธรรมเนียมจีนอย่างเคร่งครัด และมักจะไม่ยอมรับทัศนคติแบบไทยเลย นอกจากมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้ชาวจีนอพยพเข้ามาในไทย มีส่วนร่วมทางการเมืองน้อย ทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่แข็งแรง

 

 

  • ในส่วนพฤติกรรมการเมืองของคนไทยนั้น ปัจจัยสำคัญคือด้านภูมิศาสตร์ ธรรมชาติ อากาศ ส่งผลให้คนไทยชอบทำตัวตามสบาย มากกว่าการคิดถึงกฏเกณฑ์สังคม และมักอบรมสั่งสอนกันในครอบครัวว่า การปกครองเป็นเรื่องของเจ้านาย ทำให้คนไทยไม่สนใจมีส่วนร่วมทางการเมือง

  • จเด็จยังอธิบายอีกว่า ที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจประโยชน์ของการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะชีวิตคนไทยยุ่งแต่ด้านการเกษตรกรรม หาเช้ากินค่ำ คนไทยต้องพึ่งตัวเองมาก

  • จเด็จยังเขียนถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย ว่าตั้งอยู่บน 2 ขาหยั่งคือ เขาใช้คำว่า “อิสรนิยมอำนาจนิยม” เป็นการผสมกันของ อิสรนิยมกับ อำนาจนิยม  คราใดเมื่ออำนาจนิยมหายไป พลังแห่งอิสรนิยมจะเข้ามาแทนที่ ส่งผลให้คนไทยเป็นคนไม่ยอมรับและทำตามกฏเกณฑ์ใดๆ โดย จเด็จอ้างคำกล่าวของต่างชาติว่า โครงสร้างของสังคมไทยแบบหลาวมๆเป็นอุปสรรคต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย

  • จเด็จอธิบายการเปลี่ยนแปลง 2475 ว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่มองว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน แต่ในความจริง การเรียนรู้เช่นนี้อยู่ในวงจำกัด แค่พวกปัญญาชน นักศึกษา ประชาชนชาวไทยทั่วไป ยังไม่เข้าใจหลักการดังกล่าว เมื่อใดที่มีโอกาสเอื้ออำนวยคนไทย ก็จะทำอะไรตามใจ ไม่คำนึงระเบียบแบบแผนและกฏเกณฑ์ใดๆ

 

 

  • จเด็จย้ำในงานเขียนหลายครั้งว่า ถึงโทษของวิธีคิดเสรีนยมว่า  การเป็นเสรีนิยมมากไป หรือ เกินไปจะทำให้ประชาชนทั้งหลายละเมิดกฏอยู่เสมอ เขาจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าของตน

  • จเด็จอธิบายการเมืองหลัง 14 ตุลา 2516 โดยมองว่าขณะนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างมาก สังคมไทยถูกกดขี่ด้วยรัฐบาลเผด็จการมายาวนาน จนทำให้ประชาชนแสดงความเป็นอิสรนิยมอย่างมาก จนเลยเถิด เกินเลยไปละเมิดกฏหมาย ข้อบังคับต่างๆ มีการทำลายทรัพย์สินราชการและเอกชน นับเป็นการต่อสู้ที่เกินเลยขอบเขตแห่งประชาธิปไตย

 

  • จเด็จยังอธิบายการเมืองไทยหลัง 14 ตุลา 2516 ต่อว่า รัฐบาลหลัง 14 ตุลาคม 2516 เลวร้ายยิ่งกว่ารัฐบาลเผด็จการ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลสมัยหลังไม่กล้าใช้อำนาจเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาการเมือง ผสมกับการประท้วงที่เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ประชาชนรำคาญ จเด็จเห็นว่าต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เข้มแข็ง เข้ามาจัดการปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม