มองสังคมไทย แบบ ‘ด้วยรัฐและสัตย์จริง’ กับ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

“การที่ผมเลือกประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึก หรือ History of Emotions เพราะจะทำให้เราเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่ก่อเกิดขึ้นในปัจจุบันว่ามันไม่ใช่ฉับพลันและก่อเกิด แต่มันเกิดอย่างมีกระบวนการเป็นประวัติศาสตร์มานาน มันคือการบอกกับสังคมว่า ‘Emotions’ ก็มี ‘History’ และถ้าหากเราเข้าใจประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึก เราจะเข้าใจสรรพสิ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ้านเราวันนี้หรือในโลกทั้งหมดนี้ได้ลึกมากขึ้น”

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

“อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” กล่าวถึงประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึก หรือ The History of Emotions แนวทางการศึกษาที่พาผลงานเล่มใหม่ของเขาอย่าง “ด้วยรัฐและสัตย์จริง : ระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด จริยธรรมแห่งรัฐและความซื่อสัตย์ที่ผันแปร” ออกสู่สายตานักอ่าน ประจวบเหมาะกับห้วงยามที่ใครหลายคนกำลังตั้งคำถาม งุนงง หลงทาง มองไม่เห็นทางออก และไม่อาจทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงอันสลับซับซ้อนของสังคมไทยในปัจจุบัน

อรรถจักร์ชี้ชวนให้เห็นว่าบรรดาปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกทั้งสิ้น หากแต่ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกแบบที่คนไทยมักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่อง “ส่วนบุคคลหรือปัจเจก” เพราะงานศึกษาของเขาพยายามยกให้เห็นว่า แท้จริงแล้วอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมนั้นเชื่อมโยงกันเป็น “ระบอบอารมณ์ความรู้สึก”

เรื่องอารมณ์ความรู้สึกจึงไม่อาจแยกขาดออกจากความเชื่อมโยงเชิงสังคมได้

ทว่า อารมณ์ความรู้สึกของคนเรามีหลากด้าน แต่ทำไม “ความซื่อสัตย์” จึงถูกเลือกมาคลี่ขยายไว้ในผลงานเล่มล่าสุด

หนังสือเล่มนี้จะพาเราไปทำความเข้าใจสังคมไทยในมิติที่ลึกลงไปอย่างไร และชวนหาทางออกให้กับอนาคตสังคมนี้แบบไหน ชวนคุยในหลากประเด็นกับเจ้าของผลงานถึงหนังสือเล่มนี้ที่บอกเลยว่าพลาดไม่ได้

: ทำไมต้อง ‘ความซื่อสัตย์’

ความรู้สึกมีหลากหลายมาก ความรู้สึกรัก เกลียดชัง ขยะแขยง ละอาย ความรู้สึกทุกชุดควรที่จะศึกษาอย่างเป็นประวัติศาสตร์ แต่ผมเลือก ‘ความซื่อสัตย์’ ด้วยเหตุผลสองอย่าง

อย่างแรก คือความซื่อสัตย์กลายเป็น ‘คำถามหรือปัญหาหลัก’ ของสังคมการเมืองไทยหรือปัญหาหลักของความสัมพันธ์ทางสังคมในปัจจุบัน เราจะพบว่า มีการรณรงค์เรื่องความซื่อสัตย์ รวมทั้งยกมาเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารหลายครั้งเรื่อยมา ดังนั้น ผมจึงคิดว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรต้องทำให้กระจ่างขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ปูทางให้คิดเกี่ยวกับความซื่อสัตย์มากกว่าที่จะรณรงค์กันแบบไม่เข้าใจอะไรแบบนี้

อย่างที่สอง หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นจากบทความที่เขียนให้อาจารย์มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ในแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 ผมเลือกมาเพื่อที่จะทำให้สังคมไทยอย่างน้อยตระหนักว่าสิ่งที่พวกคุณเห็นมันเป็นปัญหา มันเป็นปัญหาเพราะอะไร ทำไมเป็นปัญหา

ไม่ใช่เพราะคนไทยขาดแคลนความซื่อสัตย์แบบที่คุณเข้าใจ แต่มันสัมพันธ์กับอะไรที่มันลึกซึ้งมากกว่านั้น

: เส้นแบ่งและความพร่าเลือนในความหมายของ ‘ความซื่อสัตย์-ความสัตย์จริง’ อยู่ตรงไหน?

สิ่งที่ผมพยายามจะทำให้มันแบ่งแยกกันชัดขึ้นก็คือ ผมยืมคำภาษาอังกฤษ เพราะคำภาษาไทยมีไม่ตรง

ผมแยกโดยยืมหรือทับศัพท์คำภาษาอังกฤษคือ “integrity” กับ “honesty”

คนไทยจะยืนอยู่ที่ honesty ซึ่งแปลว่าความซื่อสัตย์แบบความหมายง่ายๆ คือ ไม่โกหก ไม่โกง พูดความจริง ซึ่งความซื่อสัตย์แบบนี้มันแยกออกจากคนอื่น มองแค่ว่าเป็นสมบัติของปัจเจกชน

ผมจึงเทียบความซื่อสัตย์กับอีกคำหนึ่งที่มีความหมายลึกกว่าคือ integrity (ความสัตย์จริง) ซึ่งมีนัยแปลว่าซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อหลักการและพร้อมที่จะทำทุกอย่างตามหลักการที่ตัวเองศรัทธา โดยจะประกอบด้วยว่าคุณต้องตัดสินใจอย่างถ่องแท้ เพื่อที่จะเห็นว่าคุณจะซื่อสัตย์ต่ออะไร

ความซื่อสัตย์ในความหมายแบบนี้ของสังคมเราไม่มี เดิมมีอยู่แค่ในกลุ่มชนชั้นสูงสมัยรัชกาลที่ 5 กลุ่มชนชั้นสูงอ้าง integrity ในนามของขัตติยมานะ (มานะของชนชั้นสูง) แต่การสร้างขัตติยมานะแบบสามัญชนไม่มี

ดังนั้น ถ้าเราแยกสองคำนี้ออกจากกัน ผมคิดว่าเราจะเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าสังคมไทยของเราแร้นแค้นสิ่งที่เรียกว่า integrity หรือความซื่อสัตย์ในหลักการ

ถ้าเราเข้าใจสองคำให้มากขึ้น เราก็จะคิดกันมากขึ้น เราจะสร้างอะไรอื่นๆ ให้สอดคล้องกับความสัตย์จริงหรือ integrity กันมากขึ้น

: ‘ระบอบเกียรติยศ’ เป็นอีกหนึ่งคำที่พบในหนังสือเล่มนี้

สิ่งที่ผมค้นพบก็คือเวลาพูดถึงความซื่อสัตย์ ไม่ว่าจะเป็น integrity (ความสัตย์จริง) หรือ honesty (ความซื่อสัตย์) ทั้งหมดนี้ไม่ได้อยู่ลอยๆ ไม่มีความรู้สึกใดที่ลอยอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มันเชื่อมโยงกันเป็น ‘ระบอบเกียรติยศ’ (regimes of honor) ถ้าคุณแสดงความซื่อตรงต่อหลักการ สิ่งที่คุณจะได้มันเป็นระบอบเกียรติยศที่จะบอกกับคุณว่าคนนี้ยึดหลักการ

ลองนึกถึงข้อเสนอหลายเรื่องของพรรคการเมือง ผมคิดว่าเป็นความพยายามที่จะสร้าง integrity หรือความสัตย์จริงให้กับระบบราชการ เช่น การต่อสู้เรื่องตั๋วช้าง การต่อสู้ปฏิรูประบบ นี่คือการพยายามจะสร้างระบอบเกียรติยศใหม่

ถ้าเราเข้าใจความรู้สึกของมนุษย์แต่ละชุดที่สัมพันธ์กับระบอบเกียรติยศหรือเข้าใจความซื่อสัตย์-ความสัตย์จริงในความหมายของระบอบเกียรติยศ เราก็จะต้องคิดต่อไปว่าในวันนี้เราจะสร้างระบอบเกียรติยศอะไรที่จะกลายเป็น ‘จริยธรรมทางสังคม’ หรือมาตรฐานกำหนดความดีงามความชั่วของสังคมชัดเจนขึ้น ซึ่งมันต้องสัมพันธ์กับระบอบเกียรติยศ กล่าวคือ ถ้าคุณทำชั่วคุณจะเสียอะไร ถ้าคุณทำดีคุณจะรู้สึกถึงอะไร

ดังนั้น ผมผลักความซื่อสัตย์ให้ไปไกลมากขึ้น คือมันไม่ใช่ความสัตย์จริงหรือความซื่อสัตย์ที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นส่วนที่สัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ ชุดความรู้สึกอื่นๆ ที่ประกอบกันเป็นระบอบของเกียรติยศ ซึ่งสังคมไทยวันนี้ระบบเกียรติยศทั้งหลายพังทลาย ถูกทำให้เหลือแค่สายสะพายหรือเครื่องราชย์ ไม่สามารถที่จะดึงดูดใจผู้คนให้สัมพันธ์อยู่กับระบอบเกียรติยศอันนั้นได้อีกแล้ว มันจึงควรมีความหมายที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยเวลาเราพูดถึงระบอบเกียรติยศ

: ‘ความซื่อสัตย์ที่ผันแปร’ มันผันแปรอย่างไรและอะไรคือส่วนขับเน้นสำคัญในความผันแปรนี้

สิ่งแรกที่เราต้องคิดก็คือมันมีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดขึ้นอย่างไพศาลและลึกซึ้งในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดการเคลื่อนย้ายทางสังคมที่สำคัญมาก ทั้งเชิงกายภาพคือการเคลื่อนพื้นที่ เช่น คนกรุงเทพฯ มาเชียงใหม่ คนทั่วประเทศไปภูเก็ต หรือการย้ายไปบุรีรัมย์

นอกจาก การเคลื่อนย้ายทางกายภาพ ยังมี การเคลื่อนย้ายทางสถานะหรือชนชั้น ก่อนรัฐประหารสัดส่วนคนจนลดลงรวมทั้งคนเกือบจนอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ทุกอย่างเคลื่อนที่มากขึ้น นอกจากการเคลื่อนที่ทางกายภาพกับการเคลื่อนที่ทางสถานะแล้ว ยังมี การเคลื่อนที่ทาง ‘จิตใจ’ อีกด้วย

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้พูดถึงสำนึกใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังนี้ซึ่งเข้ามาประกอบกับการเมือง การเคลื่อนที่ทั้งหลายทำให้คนเริ่มอธิบายตัวเองใหม่และอธิบายสิ่งแวดล้อมใหม่ ซึ่งพวกเขาอธิบายด้วยความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อม สำนึกใหม่ตัวนี้เข้าไปกระทบอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนจำนวนมาก

ความรู้สึกร่วมกันของผู้คนจำนวนมากก็ถักสานกันเป็นอารมณ์ความรู้สึกอีกชุดหนึ่งขึ้นซึ่งกำลังลุกขึ้นมา ‘ประกวดประชัน’ กับระบอบเกียรติยศเดิม

เช่น ถ้าหากเราดูชัยชนะของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคด้วยการมองที่ปาร์ตี้ลิสต์ เราจะพบว่าข้อเสนอของพรรคการเมืองใหญ่ทั้งหมดวางอยู่บนระบอบอารมณ์ความรู้สึกชุดหนึ่งคือความรู้สึกถึง ‘ความเท่าเทียม’

แน่นอนในรายละเอียดทั้งสองพรรคไม่เหมือนกัน แต่ว่าทั้งสองพรรคเน้นโอกาสที่จะให้กับผู้คน สำนึกที่อยู่บนฐานของความรู้สึกเท่าเทียมนี้ก่อรูปขึ้นมาเป็นระบบเกียรติยศที่ ‘คนเท่าเทียมกัน’ และคนสามารถที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวบนฐานของความเท่าเทียม

: ระบอบอารมณ์ความรู้สึกใหม่ที่พูดถึง ‘ความเท่าเทียม’ นี้กำลังบอกอะไรกับสังคมไทย

มันเข้าไปแย้งกับระบอบอารมณ์ความรู้สึกชุดหนึ่งที่สัมพันธ์กับระบบเกียรติยศแบบเดิมก็คือ ‘ลำดับชั้นทางอำนาจ’ ในสังคมไทย ระบอบเกียรติยศที่เป็นความจงรักภักดีจะสัมพันธ์อยู่กับระบอบอารมณ์ความรู้สึกที่สัมพันธ์อยู่กับลำดับชั้นทางอำนาจอีกที เช่น อาจารย์พูดกับนักศึกษาแบบหนึ่ง แต่พอหันไปเจออธิการบดีกลับพูดอีกแบบหนึ่ง นี่คือสิ่งที่บอกอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทย

แต่ความรู้สึกใหม่ที่พูดถึง ‘ความเท่าเทียม’ นี้ เข้าไปท้าทายความรู้สึกเกี่ยวกับลำดับชั้นทางอำนาจ คนรุ่นใหม่เริ่มมีการใช้ภาษาที่ไม่มีลำดับชั้นทางอำนาจอีกแล้ว เราจึงจำเป็นต้องคิดถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ให้มากขึ้น ไม่งั้นสังคมไทยเดินไม่ได้ พวกเขาไม่ใช่เด็กสามหาว ไม่ใช่เด็กที่ไม่มีกาลเทศะ แต่พวกเขามีระบอบอารมณ์ความรู้สึกอีกชุดหนึ่ง

และถ้าถามว่าพวกเขารักชาติไหม ผมว่าพวกเขารักชาติรักสังคมไทย เพราะฐานของความรู้สึกเท่าเทียมมันเป็นความเท่าเทียมที่เชื่อมโยงระหว่างปัจเจกชนด้วยกันทั้งหมด ความเท่าเทียมนี้เป็นความเท่าเทียมที่ผู้คนได้เชื่อมโยงถึงกัน อารมณ์ความรู้สึกชุดนี้เราจึงจำเป็นต้อง ‘ทำความเข้าใจกัน’ ถ้าหากเราจะสร้างสังคมที่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

‘ทำความเข้าใจ’ ดูเหมือนจะเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในห้วงยามที่ใครหลายคนต่างตั้งคำถาม งุนงง หลงทาง หรือมองไม่เห็นทางออกของสังคมเราในวันนี้ เชื่อแน่ว่า “ด้วยรัฐและสัตย์จริงฯ” จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำหรับการ “ทำความเข้าใจ” ความสลับซับซ้อนของปัญหาสังคมการเมืองไทยผ่านสายตาที่มองลึกลงไปในแอ่งอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนและคลี่ขยายให้เห็น “ความซื่อสัตย์” ที่ไม่อาจมีความหมายใดเลยหากปราศจากความเชื่อมโยงและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ย้อนสำรวจสังคมของเราในมิติที่ลึกลงไปกันต่อกับหนังสือเล่มนี้ ร่วมหาคำตอบและหาทางออกไปด้วยกัน บางครั้งอาจพบคำตอบคล้ายคลึงกับคำทิ้งท้ายสุดกระชับของอรรถจักร์ที่บอกถึงนิยามสั้นๆ ของหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า “ความสัตย์จริงกับความเสมอภาคที่เท่าเทียมกัน”