เสียงคนการศึกษา ถึง ‘ก้าวไกล’ จับตา ‘กระทรวงครู’ หลังลมเปลี่ยนทิศ

ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังการนับคะแนน ผลอย่างไม่เป็นทางการ พรรคก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่งครองเสียงข้างมาก ฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล

โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ประกาศพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กับฝ่ายค้านเดิม คือ เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย และเสรีรวมไทย

นโยบายด้านการศึกษา เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกจับตามอง เพราะพรรคก้าวไกลเองออกมาเล่นเรื่องสิทธิความเสมอภาคในการจัดการศึกษา รวมไปถึงความเท่าเทียมทางเพศ ลดความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนค่อนข้างมาก

และหนึ่งในนโยบาย 100 วันแรก หากก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล และมีนายกรัฐมนตรีชื่อ ทิม พิธา มีเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา ที่ระบุไว้ค่อนข้างน่าสนใจ

ทั้งการปฏิวัติการศึกษา กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน โรงเรียนต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ครูละเมิดสิทธิ พักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันที เลิกให้ครูนอนเวร ลดภาระงานครู เพิ่มเวลาสอน เป็นต้น

 

นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาด้านการศึกษา มองนโยบายการศึกษาของพรรคก้าวไกลว่า เตรียมนโยบายค่อนข้างดี มีการดีเบตแบบตรงไปตรงมา กระแสโดนใจคน หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลควรดูแลกระทรวงด้านการศึกษาด้วยตัวเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)

โดยสำหรับ ศธ.ถือเป็นกระทรวงที่สร้างคนรุ่นใหม่ สร้างพลเมืองประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเด็กที่จะเห็นบรรยากาศใหม่ๆ เห็นความกระตือรือร้น และสิ่งที่จะเห็นได้ชัดมากคือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่จะมีร่าง พ.ร.บ.การศีกษาแห่งชาติ พ.ศ…. การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร การกระจายอำนาจจากส่วนกลางลงไปส่วนโรงเรียนและตัวเด็กนักเรียนมากขึ้น

ส่วนครูจะมีเรื่องขวัญกำลังใจที่ดีขึ้น เพราะเท่าที่ดูนโยบาย จะมีทั้งการคืนครูสู่ห้องเรียน ลดภาระงานเอกสาร ไม่ต้องนอนเวร โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนทุกคน ลดเวลาเรียนจาก 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือ 800 ชั่วโมงต่อปี เน้นการเรียนการสอนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการท่องจำ

ทั้งนี้ ก้าวไกลควรจะต้องมีทีมงานที่มีความรู้ด้านการศึกษาเข้ามาช่วยทำงาน เพราะจะต้องเข้าไปทำเรื่องสำคัญคือ ปฏิรูประบบราชการ หากไม่มีทีมมาช่วย และไม่มีนโยบาย ไม่มีกรอบการทำงานที่ชัดเจน ก็จะโดนข้าราชการครอบงำเหมือนดังเช่นที่ผ่านมา เพราะ ศธ.ถือเป็นกระทรวงปราบเซียน ปราบนโยบาย กินรัฐมนตรี

ก้าวไกลต้องเรียนรู้และจริงจังกับตรงนี้ รวมถึงต้องมีความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรให้ดี เพื่อวางกรอบแนวทางว่า จะทำอย่างไรให้ตัวนโยบายเข้าไปแทนระบบราชการ

ต้องเตือนว่า จะส่งรัฐมนตรีเข้ามาทำงานที่ ศธ.ตามลำพังไม่ได้ ต้องมีทีมงานที่มีความสามารถ ยึดความต้องการของเด็ก เอาเด็กเป็นที่ปรึกษา เวลามีเด็กมาร้องเรียนเรื่องอะไร ให้เอาเข้าที่ประชุม ไม่ใช่ให้รอหน้า ศธ. ตรงนี้เป็นกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ อว. ถือเป็นส่วนที่อ่อนและบกพร่องที่สุด มีการพูดถึงน้อย เป็นกระทรวงที่ถูกลืมเชิงนโยบายมากที่สุด ดังนั้น อยากให้หาคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษา มองเรื่องตลาดแรงงาน การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต และความก้าวหน้าในอนาคต เพราะ อว.มีความสำคัญไม่น้อยกว่า และเป็นเสียงของนิสิต นักศึกษา ที่เป็นพลังสนับสนุนก้าวไกลได้ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดในครั้งนี้

ดังนั้น จึงต้องหาคนที่มีความรู้ความสามารถ ดูแลในเรื่องการเรียนการสอน และสร้างงาน สร้างอนาคตที่ดีให้คนนิสิต นักศึกษาเหล่านี้”

 

ขณะที่นายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ระบุว่า คุณสมบัติรัฐมนตรีว่าการ ศธ. อยากได้คนที่เคยเป็นราชการครู หรือเคยบริหารด้านการศึกษา เน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีกับครูและนักเรียน เพราะ ศธ.ไม่ใช่ที่ทดลองด้านการบริหารงาน

อยากเห็นรัฐมนตรีที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ตรงกับความต้องการของครู และบุคลากรทางการศึกษา

และงานที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ปัดกวาด ศธ.ให้เรียบร้อย โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ที่จะต้องเป็นที่ยอมรับของทุกคน ไม่ใช่เป็น พ.ร.บ.ล้าหลัง กดทับครูและนักเรียน โดยรัฐบาลใหม่อาจจะมีมตินำร่างเดิมที่ค้างอยู่ในสภา กลับมาปรับปรุง หรือยกร่างใหม่ โดยการมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม

“นโยบายก้าวไกลเท่าที่ดูภาพรวม ไม่มีปัญหา มีการนำข้อเสนอของบุคลากรทางการศึกษาไปเป็นนโยบายพรรค ทั้งการคืนครูสู่ห้องเรียน ลดลงานธุรการ เพื่อให้มีเวลาสอนเด็กมากขึ้น ลดละเลิกกิจกรรมที่ไปแบ่งเวลาของเด็ก ส่วนข้อกังวลที่ว่า จะมีการให้อิสระเกินไป ทำให้ขาดวินัยนั้น เป็นข้อกังวลของภาพรวม แต่เรายังไม่เห็นแนวทางการบริหารงาน รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องรับฟังความคิดเห็น ยืดหยุ่นได้”

“หากก้าวไกลจะเดินหน้าเปลี่ยนแปลงอย่างเดียว ก็จะเกิดปัญหาที่หนักมากยิ่งกว่าเดิม หากปักหมุดว่าจะให้อิสระแก่นักเรียน โดยไม่มีกรอบ ไม่มีการดูแล ก็คงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องนัก ส่วนหลักสูตร อาจจะต้องมาดูข้อเสนอยุทธศาสตร์ชาติในอนาคต เพื่อปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และก้าวทันโลก หากไปเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะเกิดแรงต้าน” นายวีรบูลกล่าว

 

ปิดท้ายที่ นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) วิเคราะห์ไว้น่าสนใจว่า เบื้องต้น ยังไม่แน่ใจว่า ก้าวไกลจะสามารถตกลงจับมือกับพรรคเพื่อไทยอย่างไร หากตกลงกันได้ ก็จะต้องทำข้อตกลงนโยบายกลาง ซึ่งเมื่อเปิดดูนโยบายการศึกษาของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย หลายส่วนค่อนข้างตรงกัน โดยเฉพาะนโยบายเรื่องเรียนฟรี

แต่ก้าวไกลจะมีความชัดเจนเรื่องสิทธิครู สิทธิเด็กมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลดการประเมิน ลดภาระงานของครู หลักการเหล่านี้ถือว่าดีมาก แต่จะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง เพราะจะมีปัจจัยแทรกไม่ให้เกิดขึ้นจริงได้

อย่างเช่น ยกเลิกชุดนักเรียน ค่อนข้างอ่อนไหว อาจจะต้องเข้าไปดูรายละเอียด

ส่วนของเพื่อไทยจะเน้นเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการศึกษา ซึ่งใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน และนโยบายของทั้งสองพรรคต้องการเติมเต็ม ส่วนที่ขาดของการศึกษา

ส่วนรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และ อว. อยากได้คนที่รู้งาน มีประสบการณ์ แต่ต้องเป็นคนที่มีความคิดใหม่ๆ ทันโลก ไม่ใช่เอาโควต้ารัฐมนตรีมาจัดสรรตำแหน่ง แม้ไม่ใช่คนการศึกษาโดยตรง แต่ก็ควรอยู่ในแวดวงนักบริหารพัฒนาทรัพยากร รวมถึงต้องรู้ทันข้าราชการระดับสูง

“ส่วนอุดมศึกษา ขอให้เร่งแก้ปัญหา ลดความเหลื่อมล้ำ การจัดสรรงบประมาณ ระหว่างมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องยอมรับว่ามีปัญหา โดยเฉพาะ มรภ. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ค่อนข้างมีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยสูง ขณะเดียวกันต้องให้อิสระมหาวิทยาลัยในการจัดการ ไม่ใช่นำเรื่องงบประมาณมาเป็นตัวดึงมหาวิทยาลัยให้ติดอยู่กับระบบราชการ อย่าง มรภ.เองดูแลนักศึกษาไม่น้อยกว่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่อื่นๆ รวมถึงอยากให้ทบทวนโครงสร้าง โดยเฉพาะการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะขาดกลไกในการสนับสนุน และสุดท้ายงบฯ จะไปกระจุกอยู่ในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ”

เป็นเสียงส่วนหนึ่งของคนแวดวงการศึกษา ที่สะท้อนความเห็นด้านนโยบายการศึกษา ซึ่งจากนี้คงต้องจับตาแนวทางการทำงานของพรรคก้าวไกล และพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะปฏิวัติการศึกษาไทยไปในทิศทางใด •

 

 

| การศึกษา