คุยกับทูต | มุน ซึง-ฮย็อน เกาหลีใต้ ผู้นำโลกด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี (1)

ปีนี้ เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เกาหลีใต้ ซึ่งเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทย เป็นการเปิดโอกาสให้กระชับความสัมพันธ์ และค้นหาลู่ทางใหม่สำหรับการร่วมมือกันของทั้งสองประเทศ

รัฐบาลเกาหลีและไทยได้ร่วมกันจัดแคมเปญ “เฉลิมฉลองปีแห่งการท่องเที่ยวเกาหลี-ไทย ปี 2023-2024” (2023-2024 Korea-Thailand Mutual Visit Years) ด้วยกิจกรรมพิเศษตลอดทั้งปี เป็นการเฉลิมฉลองให้กับความสัมพันธ์อันดีและยาวนานระหว่างเกาหลี-ไทย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ

ปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก แซงหน้าจีนกับญี่ปุ่นไปเรียบร้อย และเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากสิงคโปร์ที่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง ส่วนมูลค่าการส่งออกนั้นอยู่ในอันดับ 6 ของโลก

มีชื่อเสียงมากว่า เป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ซีรีส์เกาหลีไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Start Up, Space Sweepers และ Sisyphus รวมทั้งการใช้ “อำนาจละมุน” (Soft Power) ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดคลื่นความนิยมเกาหลี (K-Wave) หรือที่เรียกกันว่า ‘ฮันรยู’ (Hallyu) ซึ่งกำลังขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรม และสร้างปรากฏการณ์เกาหลีฟีเวอร์บนเวทีโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

นายมูน ซึง-ฮย็อน (Moon Seoung–hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทย

เมื่อเดือนธันวาคมปี 2021 นายมูน ซึง-ฮย็อน (Moon Seoung-hyun) เดินทางจากกรุงวอชิงตันถึงกรุงเทพฯ เพื่อรับหน้าที่เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทย ตำแหน่งล่าสุดก่อนหน้านี้คือ อัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศสหรัฐอเมริกา

ครั้งนี้ เป็นการดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตครั้งที่สองของนายมูน ซึง-ฮย็อน โดยครั้งแรกเป็นเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) ระหว่างปี 2016-2019

การสนทนากับเราครั้งนี้ นายมูน ซึง-ฮย็อน ได้เปิดมุมมองทางการทูต การขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมถึงศักยภาพความร่วมมือทางการค้า การลงทุน แรงงาน และการท่องเที่ยว ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี อาคารที่เด่นสะดุดตาด้วยสถาปัตยกรรมเกาหลีร่วมสมัย ออกแบบโดยสถาปนิกเกาหลีในตำนาน คือนาย Kim Chumg-up

ท่านทูตเล่าว่า

“ผมเกิดที่เมืองปูซาน (Busan) ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้และเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของเกาหลีรองจากกรุงโซล คุณพ่อเป็นนายแพทย์ และคุณแม่เป็นเภสัชกร ส่วนผมเป็นนักการทูตคนแรกในครอบครัว”

“สมัยปี 1950-1960 ยังไม่ค่อยมีคนเกาหลีนิยมไปเรียนหนังสือในต่างประเทศ แต่คุณพ่อไปเรียนที่ประเทศเยอรมนีตั้งแต่ผมยังเด็ก ทำให้ได้ซึมซับกับวัฒนธรรมต่างประเทศ”

“เมื่อยังเยาว์วัย ผมใฝ่ฝันที่จะเป็นนักการทูต เพราะชอบเป็นผู้ประนีประนอมระหว่างฝ่ายต่างๆ โตมาจึงเลือกเรียนรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ Seoul National University กรุงโซล”

“ต่อมา เกาหลีแยกออกเป็นสองประเทศ คือเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ซึ่งสำหรับคนเกาหลี การรวมชาติ เป็นประเด็นสำคัญสำหรับทุกคน การรวมชาติของสองเกาหลียังคงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว นักการทูตจึงมีบทบาทสำคัญยิ่ง ในฐานะที่ผมเป็นนักการทูต ผมจึงมีความเชื่อมั่นในงานของตัวเอง”

ในอดีต เกาหลีบอบช้ำจากลัทธิอาณานิคมและสงครามอันต่อเนื่องยาวนาน ดินแดนยังถูกแบ่งเป็นสอง มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด

แต่เพียง 50 ปีให้หลัง เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จ เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ยืนหยัดอย่างสง่างามและมีชีวิตชีวาบนเวทีโลกในฐานะผู้นำด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม

ส่งผลถึงศักยภาพการแข่งขันของเกาหลีในเวทีโลก เช่น โทรศัพท์มือถือ เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ เคมีภัณฑ์ และเหล็กกล้า

ส่วนเนื้อหาทางวัฒนธรรม เช่น ดนตรี เกม และเว็บตูน กำลังเกิดขึ้นในฐานะอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาหลี

“เกาหลีกับไทยมีความสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ เกาหลีมีความชำนาญในอุตสาหกรรม เช่น โรงหลอมเหล็ก เซมิคอนดักเตอร์ รถไฟฟ้า และเรื่องวิทยาศาสตร์”

“ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์และสินค้าทางเกษตรสูง เมื่อแต่ละประเทศมีจุดเด่นที่สำคัญ ทำให้ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กลายเป็นหุ้นส่วนที่พึ่งพากันได้ทางเศรษฐกิจ”

สำหรับความร่วมมือที่สำคัญระหว่างไทย-เกาหลี ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ สิ่งแวดล้อม Soft Power และแรงงาน

“อันดับแรก ความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ”

เกาหลีใต้ ประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวดอากาศ ‘นูรี’ (Nuri) ขึ้นสู่นอกโลก

“เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ซึ่งไปเยือนเกาหลีเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อหาโอกาสที่จะร่วมมือกันในอุตสาหกรรมอวกาศยาน”

“เนื่องจากเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวดอากาศ ‘นูรี’ (Nuri) ขึ้นสู่นอกโลกและนำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรสำเร็จ เกาหลีจึงได้กลายเป็นชาติที่ 7 ของโลกที่ส่งดาวเทียมหนักมากกว่า 1 ตัน โดยใช้เทคโนโลยีของประเทศเกาหลีเอง”

“ด้วยเหตุที่ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจึงเหมาะกับการเป็นท่าอวกาศยาน (spaceport) เกาหลีผลิตยานอวกาศได้ จึงสามารถหาแนวทางร่วมมือกันทางด้านอุตสาหกรรมอวกาศยาน แต่อุตสาหกรรมด้านนี้จะไม่ค่อยมีการแชร์เทคโนโลยีเท่าไรนัก เพราะเกาหลีก็ต้องใช้เวลาศึกษาพัฒนามา 20-30 ปี กว่าจะสามารถทำการส่งยานอวกาศได้”

“ขณะเดียวกัน ประเทศไทยกำลังมองหาหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศยานกับเกาหลี ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้น โดยจะเป็นท่าอากาศยาน และระหว่างที่มีการร่วมมือกันนี้ จะเกิดการพัฒนาบุคลากร และเทคโนโลยี”

“ตอนนี้มีสถาบันหนึ่งที่ศึกษาเรื่องยานอวกาศ กำลังพิจารณาว่า ประเทศไทยในฐานะที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไรในการส่งยานอวกาศ ไทยมีองค์กรชื่อว่า จิสดา (GISTDA หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ) โดยจิสดาจะส่งบุคลากรไปที่เกาหลีเพื่อศึกษาถึงความเหมาะสม”

“ความร่วมมือในตอนนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นจากการที่ รมว.อว.ของไทยไปเยือนเกาหลี ในขณะที่ประธานบริหาร ศูนย์วิจัยยานอวกาศของเกาหลี (KARI) มาเยือนไทย เป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้มีความร่วมมือทางอุตสาหกรรมอวกาศยานกันมากขึ้นในระหว่างสองประเทศ”

“อันดับที่สอง ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม”

สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี

“ทั้งไทยและเกาหลีต่างก็มีเป้าหมายที่จะลดคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 การจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จไม่ใช่ว่าแต่ละประเทศจะพยายามทำกันเอง แต่เป็นความจำเป็นที่เราต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย ดังนั้น เกาหลีกับไทยจึงร่วมมือกันในการจัดซื้อเครื่องมือการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ คาร์บอน เครดิต (Carbon Credit)”

ปัจจุบัน “คาร์บอนเครดิต” ได้รับความสนใจลงทุนมากขึ้น จากการตื่นตัวในการสร้างสมดุลให้ชั้นบรรยากาศของโลกของนานาประเทศผ่านพิธีสารโตเกียว และเริ่มใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ที่ปล่อยก๊าชเรือนกระจกเกินกำหนด (จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก)

“ในขณะเดียวกัน มีความพยายามดำเนินการจัดทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับเรื่องภูมิอากาศระหว่างเกาหลีกับไทยด้วย ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างมาก ผมคิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เรื่องสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นอุตสาหกรรมรีไซเคิล อุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ เป็นต้น”

“ที่พูดมานี้ ไม่ได้หมายความว่า ประเทศเกาหลีจะมาเสนอขายหรือแนะนำแต่เรื่องเทคโนโลยีชั้นสูงให้กับประเทศไทยเท่านั้น เพราะไทยก็อาจจะกลายเป็นประเทศที่ลงทุนในเกาหลีด้วย ดังเช่นเมื่อไม่นานมานี้ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (B.Grimm Power PC L) ไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า (Wind Power Plants) ในเกาหลี”

“จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการร่วมพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนในเกาหลี สอดคล้องกับกลยุทธ์การขยายธุรกิจพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย เพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้อย่างแท้จริง” •

 

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin