กางผลสำรวจ…เด็กไทยเผชิญความเสี่ยง ‘เรียนรู้ถดถอย-ออกกลางคัน’ พุ่งไม่หยุด!!

กางผลสำรวจ…เด็กไทยเผชิญความเสี่ยง ‘เรียนรู้ถดถอย-ออกกลางคัน’ พุ่งไม่หยุด!!

 

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงแข่งกับอุณหภูมิที่ร้อนจัด เมื่อศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ร่วมกับสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและกำลังคนอาชีวศึกษา สำนักงานคณะการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เปิดผลสำรวจข้อมูลสารสนเทศ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ประกอบด้วย ข้อมูลสถานศึกษา ข้อมูลผู้เรียน รวมถึงข้อมูลข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา

โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 12,223,247 คน

แบ่งเป็น นักเรียนในสังกัด ศธ. 10,477,216 คน และนอกสังกัด ศธ. 1,746,031 คน

โดยในส่วนของ ศธ.แบ่งเป็น สังกัด สพฐ. 6,587,388 คน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 2,103,112 คน สังกัด สอศ. 962,990 คน สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 823,003 คน และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 723 คน

ขณะที่จำนวนผู้เรียนสายสามัญต่ออาชีวศึกษา พบว่า สายสามัญมีอยู่ 476,325 คน และอาชีวศึกษามีอยู่ 214,650 คน คิดเป็น 68.9 ต่อ 31.1

ผลสำรวจยังพบว่า จำนวนนักเรียนอายุ 7-15 ปี ที่ “ออกกลางคัน” ในภาคเรียนที่ 2/2565 เป็นนักเรียน สพฐ. 21,364 คน นักเรียน สช. 7,138 คน นักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2,428 คน และนักเรียนสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) 897 คน และระดับอาชีวศึกษา 20,981 คน

รวมนักเรียนออกกลางคันมากถึง 52,808 คน!!

 

ผลสำรวจยังพบว่า จังหวัดที่มีนักเรียนออกไปเรียนนอกพื้นที่มากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 104,569 คน รองลงมา จ.สมุทรปราการ 56,618 คน ส่วนจังหวัดที่นักเรียนนอกพื้นที่เข้ามาเรียนมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 185,017 คน รองลงมา จ.ชลบุรี 58,337 คน

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังรายงานตัวเลข “นักเรียนซ้ำซ้อน” ซึ่งหมายถึงนักเรียนที่มีรายชื่อ หรือรหัสประจำตัวประชาชน ปรากฏในสังกัดหน่วยงานมากกว่า 1 สังกัด รวมทั้งสิ้น 130,071 คน

โดยพบมากสุดในส่วนของ ศธ.คือ สังกัด กศน.มีนักเรียนซ้ำซ้อน 35,715 คน

สพฐ.มีนักเรียนซ้ำซ้อน 32,860 คน สอศ.มีนักเรียนซ้ำซ้อน 29,889 คน และ สช.มีนักเรียนซ้ำซ้อน 12,936 คน ส่วนที่เหลืออีก 18,671 คน อยู่ในสังกัดอื่นนอก ศธ.

สำหรับข้อมูลสถานศึกษา ทั้งใน และนอกสังกัด ศธ.จำแนกตามขนาด พบว่า มีสถานศึกษาทั้งสิ้น 56,776 แห่ง แบ่งเป็น สถานศึกษาขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 119 คนลงมา จำนวน 35,272 แห่ง มีนักเรียน 1,677,737 คน และครู 115,635 คน

สถานศึกษาขนาดกลาง ที่มีจำนวนนักเรียน 120-719 คน จำนวน 17,719 แห่ง มีนักเรียน 4,621,309 คน และครู 291,044 คน สถานศึกษาขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนนักเรียน 720-1,679 คน จำนวน 2,568 แห่ง มีนักเรียน 2,748,013 คน และครู 114,352 คน

และสถานศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีนักเรียนตั้งแต่ 1,680 คนขึ้นไป จำนวน 1,217 แห่ง มีนักเรียน 3,185,124 คน และครู 134,589 คน

ส่วนข้อมูลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งในและนอกสังกัด ศธ.มีทั้งสิ้น 655,620 คน โดยในส่วนที่สังกัด ศธ.แบ่งเป็น สพฐ. 457,222 คน สช. 142,365 คน กศน. 3,610 คน สอศ. 31,353 คน และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 77 คน ซึ่งมีแนวโน้มการเกษียณอายุราชการของครูในระยะ 10 ปีนับจากนี้ แต่ละปีจะมีมากกว่า 11,000 คน

โดยปี 2566 จะมีครูที่สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเกษียณอายุถึง 19,739 คน และปี 2567 มีครูเกษียณอายุ 17,685 คน

ซึ่งตัวเลขครูเกษียณอายุที่สูงขนาดนี้ ทำให้ ศธ.ต้องไปคิดมาตรการกำหนดกรอบอัตรากำลังครู เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน!!

 

หลังนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รับรู้ตัวเลขออกกลางคันใน 1 ภาคเรียน ที่มีมากถึง 52,808 คน และเป็นนักเรียนในสังกัด สพฐ.มากกว่า 2.1 หมื่นคน ก็ยอมรับว่า “น่าตกใจ” เพราะเป็นจำนวนที่มาก

แต่ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเลขมาจากไหนบ้าง จึงมอบให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สพฐ.เร่งนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพราะตัวเลขดังกล่าวถือว่า “ไม่ปกติ”

ส่วนตัวเลขเด็กออกกลางคันในปีก่อนๆ นั้น เลขาธิการ กพฐ.แจกแจงว่า ภาพรวมเหลือไม่มากแล้ว เพราะ สพฐ.ได้ติดตามเด็กกลับเข้าเรียนตามโครงการพาน้องกลับมาเรียน

ขณะเดียวกัน ข้อมูลนักเรียนอาชีวศึกษาที่ออกกลางคันก็มีไม่น้อย โดยมีตัวเลขนักเรียนออกกลางคันมากถึง 20,981 คน

เรื่องนี้ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา บอกว่ารับทราบข้อมูลแล้วเช่นกัน และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้ว

โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ไล่ตรวจสอบเป็นรายจังหวัด เพื่อให้ได้ตัวเลขที่แท้จริง เพราะไม่แน่ใจว่ามีตัวเลขนักเรียนผีเข้ามาแอบแฝงหรือไม่ ถ้าเจอะเจอว่ามีปัญหาซุกซ่อนอยู่ตรงไหน จะได้รีบแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ว่าที่ ร.ต.ธนุมองว่า ตัวเลขนักเรียนอาชีวศึกษาออกกลางคัน 2 หมื่นกว่าคนในครั้งนี้ ถือว่าไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักเรียนอาชีวศึกษาที่ออกกลางคัน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งมีมากถึง 3 แสนคน

แต่ก็สามารถตามตัวกลับมาได้ค่อนข้างมาก ตามโครงการพาน้องกลับมาเรียน!!

 

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ได้ออกมาตอกย้ำด้วยตัวเลขที่น่าตกใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมีการคาดการณ์กันว่า ในปีการศึกษา 2566 จะมีตัวเลขเด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โดยเพิ่มเป็น 230,000 คน จากปีการศึกษา 2565 ที่มีเด็กออกกลางคันกว่า 5 หมื่นคน

เพราะแม้ว่าปีการศึกษา 2566 โรงเรียนทั่วประเทศกลับมาจัดการเรียนการสอนปกติ หลังจากเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ท่ามกลางความปกติ การศึกษาไทยได้รับผลกระทบจากปีการศึกษา 2565 ที่การศึกษาไทยอมโรค เด็กเสี่ยงเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้เพิ่มขึ้น และเด็กคุณภาพด้อยลงทั้งระบบ

แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะจัดโครงการพาน้องกลับมาเรียน และสามารถตามเด็กกลับมาเรียนได้เกือบทั้งหมดก็ตาม

นอกจากนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ยังวิเคราะห์ด้วยว่า สิ่งที่ทำให้การเปิดภาคเรียนที่ 1/2566 ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ “น่าเป็นห่วง” เพราะการศึกษาไทยจะอยู่ในช่วง “สุญญากาศ” จะขาดคนที่ดูแลรับผิดชอบอีกหลายเดือน เนื่องจากอยู่ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป และต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่ รวมถึงรอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่เช่นกัน

ทำให้เกิด “ช่องว่าง” ทางนโยบาย และ “ไม่มี” รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มาดูแลรับผิดชอบการศึกษาโดยตรง

ซึ่งนักวิชาการฝีปากกล้าอย่าง ศ.ดร.สมพงษ์ ได้ยกสถานการณ์จากการลงพื้นที่สำรวจใน 5 จังหวัด คือ ราชบุรี พิษณุโลก ยะลา ขอนแก่น และกรุงเทพฯ ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีนโยบาย หรือทุนการศึกษาเข้ามาช่วยเหลือเด็ก เด็กก็เสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 82.18%

อีกทั้ง ถ้า ศธ.ไม่มีมาตรการรองรับ เพราะจะทำให้เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษายาว และรอบนี้อาจไม่กลับมาอีกเลย

 

ดังนั้น พรรคการเมืองที่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในรอบนี้ หรือได้เข้ามากำกับดูแล ศธ.

คงต้อง “คัดเลือก” บุคคลที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.อย่างพิถีพิถัน เข้าใจเรื่องการศึกษา

มากกว่าจะส่งคนเข้ามาตามโควต้า เพื่อแก้ไขวิกฤตการศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ก่อนที่การศึกษาไทย จะโคม่าไปมากกว่านี้!! •

 

 

| การศึกษา