8 ปี รัฐบาลประยุทธ์ใช้งบฯ 25.4 ล้านล้าน ถึงมือใครบ้าง?…สร้างหนี้เท่าไร?

เสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานตลอด 8 ปีของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งระบบบริหาร การปกครอง การยุติธรรม มีมาโดยตลอดยาวจนถึงที่เป็นรัฐบาลรักษาการ 

แต่สิ่งที่ประชาชนรู้สึกอยู่ทุกวันก็คือปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้พวกเขาเดือดร้อน เป็นหนี้เป็นสิน และยากลำบากอย่างแสนสาหัสในทุกวันนี้

มีอีกมุมหนึ่งที่สามารถวิจารณ์และมีตัวเลขสถิติเป็นเครื่องยืนยันคือการใช้งบประมาณแผ่นดิน

 

ใช้งบประมาณ 25.4 ล้านล้าน มากที่สุด
แต่ประชาชนยากจนลงกว่าเดิม

งบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนและเงินกู้ ที่ประชาชนทั้งประเทศจะต้องแบกรับใช้หนี้กันต่อไปอีกเป็น 20 ปี การอยู่ในอำนาจเป็นระยะเวลายาวนาน การใช้งบประมาณ จึงมากที่สุดเท่าที่เคยมีรัฐบาลมาบริหารประเทศ แต่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายจะให้มี…บัตรคนจน 20 ล้านคน เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ก็เริ่มใช้งบประมาณในการบริหารประเทศ เริ่มจากงบประมาณซึ่งรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเหลือค้างอยู่

จากนั้นก็ได้เริ่มตั้งงบประมาณเพื่อบริหารตามนโยบายของรัฐบาลตนเอง

งบประมาณสำหรับปี 2558 วงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท

ปีงบประมาณ 2559 วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท และเพิ่มงบฯ กลางปี วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท

ปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 2.73 ล้านล้านบาท เพิ่มงบฯ กลางปี วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท

ปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท เพิ่มงบฯ กลางปี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท

ปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท

ปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท และออก พ.ร.ก.กู้เงินสู้โควิด 1 ล้านล้านบาท

ปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ออก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด 5 แสนล้านบาท

ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท

รวมงบประมาณที่ใช้บริหารตามปกติ 23.916 ล้านล้าน

งบประมาณที่ขอเพิ่มเติมเพื่อสู้กับโควิด อีก 1.5 ล้านล้าน

แสดงว่า 8 ปีที่ผ่านมาใช้เงินไป 25.4 ล้านล้าน

และล่าสุด งบประมาณปี 2566 ที่สภาเพิ่งอนุมัติไปเป็นวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท

 

เงิน 25.4 ล้านล้านมากแค่ไหน
แจกทั้งประเทศ ได้ครอบครัวละ 1 ล้าน

ขณะนี้ประชากรในประเทศไทยมีประมาณ 66 ล้านคน ถ้านับเป็นจำนวนครอบครัวมีอยู่ประมาณ 22 ล้านครอบครัวตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ครอบครัวละประมาณ 3 คน) เงิน 25.4 ล้านล้านตัดออก 1.5 ล้านล้านที่เอาไปสู้กับ covid ก็ยังเหลืออีก 23.9 ล้านล้าน ถ้าเอามาแจกครอบครัวละ 1 ล้านบาท 22 ล้านครอบครัวก็ยังเหลือเงินอีก 1.9 ล้านล้าน

ถ้านำเงินมาแจกได้จริง แต่ละปีทุกครอบครัวจะได้รับการแจกเงินครัวเรือนละ 125,000 บาททุกปีเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน ผู้คนคงอยากให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อไปนานที่สุด

แต่ในความเป็นจริง มีเงินที่เหลือแจกสู่มือประชาชนจำนวนเพียงน้อยนิดได้เป็นหลักพันบ้าง หลักร้อยบ้าง คนละครึ่งบ้าง และที่แจกก็ยังเป็นเงินที่กู้มาในกรณีโรคระบาดโควิด-19

ถ้าอย่างนั้นเงินถูกใช้ไปไหนจนหมดและยังกู้มา เพราะงบประมาณตลอดทั้ง 8 ปีเป็นงบประมาณแบบขาดดุลเนื่องจากรายรับของรัฐบาลมีไม่พอ จึงต้องไปกู้มาเติมทุกปี เช่น ปี 2564 และ 2565 ก็ต้องกู้มาเพิ่มปีละ 7 แสนล้าน

ขณะนี้คนไทยแบกหนี้สาธารณะ ครอบครัวละ 468,000 บาท

คนไทยทั้งประเทศต้องแบกรับหนี้เพิ่มขึ้นทุกปี เฉพาะส่วนที่รัฐบาลกู้นี้เรียกว่าเป็นหนี้สาธารณะ

หนี้สาธารณะมีมานานแล้วไม่ว่ารัฐบาลยุคไหนก็กู้มา 10 กว่ารัฐบาลที่ผ่านมามียอดหนี้ค้างชำระ (หนี้เก่าใช้ไปบ้างแต่ก็กู้มาใหม่อีก) ต่อเนื่องกันมา

สมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก่อนที่จะมี กปปส.มาขับไล่ ประเทศไทยมียอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 มีจำนวน 5,430,560.04 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45.49 ของ GDP

โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 3,774,819.49 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,112,973.85 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 541,932.01 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 834.69 ล้านบาท

หลังจากนั้นไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์ก็ทำรัฐประหาร และเข้าบริหาร แต่ 8 ปีผ่านไปยอดหนี้สาธารณะคงค้างพุ่งสูงถึง 10,311,731.5 ล้านล้านเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 เพราะงบประมาณทุกปีตั้งยอดใช้เงินมากกว่ารายรับ เรียกว่างบขาดดุล จึงต้องกู้เพิ่มเติมประมาณ 5 ล้านล้านบาท

(พอถึงเดือนมีนาคม 2565 หนี้สาธารณะก็ทะลุเพดานที่ตั้งไว้ว่าไม่ให้เกิน 60% ไปอยู่ที่ 60.58% ต่อจีดีพี มูลค่ากว่า 9.95 ล้านล้านบาท และทะลุ 10 ล้านล้านในเดือนมิถุนายน แต่เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน เห็นชอบให้ขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะ เพิ่มเป็นไม่เกิน 70% ของจีดีพี จึงสามารถกู้เพิ่มได้อีก)

เฉลี่ยแล้วคนไทย 22 ล้านครอบครัว ไม่เพียงแต่ไม่ได้รับแจกเงินครอบครัวละ 1 ล้าน แต่ยังจะต้องช่วยกันใช้หนี้อีกประมาณครอบครัวละ 468,000 บาท

อันนี้เรียกว่าการกู้ (เพื่อพัฒนา) ชาติ แต่ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาอะไรไปบ้าง? ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ มีรายได้ มีการค้าขาย การผลิตดีขึ้นอย่างไร? ตัวประชาชนเองต้องสำรวจตนเองและเพื่อนรอบข้างจึงจะตอบได้

 

ผลของความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ
ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงถึงครอบครัวละ 5 แสนบาท

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจหนี้ครัวเรือนไทย สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 89.3% สูงสุดในรอบ 16 ปี มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ราว 5 แสนบาท หนี้ในระบบ 78.9% และหนี้นอกระบบ 21.1%

หนี้ครัวเรือนไทยสิ้นปี 2565 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 89.3% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 14.97 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี ส่วนใหญ่ 99.6% มีหนี้สิน โดยมีเพียง 0.4% เท่านั้นที่ตอบว่าไม่มีหนี้สิน และเมื่อถามถึงประเภทหนี้สิน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล (หนี้อุปโภคบริโภค) รองลงมา เป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้ยานพาหนะ/หนี้บ้าน

สำหรับภาระหนี้สิน พบว่ามีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ราว 5 แสนบาท แยกเป็นหนี้ในระบบ 78.9% และหนี้นอกระบบ 21.1%

 

เมื่อเงินและการพัฒนามา
ไม่ถึงมือประชาชนอย่างเหมาะสม
ถามว่าเงินหายไปไหน

อาจมีคำตอบว่าหายไปกับการคอรัปชั่นการจัดซื้อจัดจ้าง การประมูล นี่เป็นปัญหาที่แก้กันไม่ได้และเกิดขึ้นมากมายในยุคนี้ เพราะแม้แต่นายกรัฐมนตรียังต้องถามว่าเงิน 50 ล้านหายไปไหน แต่ตามที่ประชาชนรับรู้ การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นทั้งระบบไม่ยกเว้นวงการไหนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวงการการศึกษาก็มีครูบาอาจารย์ตกเป็นข่าว วงการศาสนาก็เป็นข่าวติดต่อกันทั้งปี วงการศาล อัยการ แม้แต่ ป.ป.ช.ก็ไม่เว้น ดังนั้น ไม่ต้องไปพูดถึงข้าราชการและนักการเมือง ทุกวงการโกงกันตั้งแต่บนจนถึงล่าง งบประมาณจะเหลือมาใช้จริงได้เท่าใด มีผู้คาดการณ์ว่าน่าจะหายไปถึง 1 ใน 3 นั่นหมายถึงเงิน 1 ล้านล้านต่อปี

เงินส่วนที่ 2 ซึมไปตามระบบที่เปิดช่องไว้ ผ่านไปตามเงินเดือนค่าตอบแทน เบี้ยประชุม ส่วนแบ่งค่าปรับ เงินเพิ่มพิเศษ มีทั้งของนักการเมือง ข้าราชการธรรมดาและผู้ที่มีชื่อว่าทำงานใน กอ.รมน.

เงินส่วนที่ 3 ผ่านไปตามระบบการค้าสู่เจ้าของกิจการและทุนใหญ่ เช่น เงินที่แจกมาให้ประชาชน ผ่านบัตรคนจนแต่ต้องซื้อของในร้านค้าที่อยู่ในระบบ หรือการเปิดช่องทางสัมปทาน

ปัญหาความยากจนและหนี้สินจะสร้างปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคมติดตามมา ความเครียดของผู้คนจะเป็นอันตรายต่อทั้งสังคม ถ้าเขาไม่ทำร้ายตนเอง ก็อาจทำร้ายคนอื่น

การที่…โน้ส…บอกว่าต้องการคนขับเครื่องบินเป็น เพราะเขากลัวเครื่องบินตก

กัปตันที่ขับเครื่องบินไม่เป็นจะพาเราตายกันหมด

 

 


หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งจากบทความ “รัฐบาลใช้งบประมาณ 8 ปี 25.4 ล้านล้าน ถึงมือใครบ้าง?…สร้างหนี้เท่าไร? คอลัมน์หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว  มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 – 27 ตุลาคม 2565