คุยกับทูต | แร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน การใช้ชีวิตอย่างสมดุลของนักการทูตดัตช์ (1)

นับจากที่เดินทางมาถึงกรุงเทพเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ก็เป็นเวลาเกือบสองปีแล้ว ตั้งแต่นายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน (Remco Johannes van Wijngaarden) เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำราชอาณาจักรไทย มีเขตอาณาครอบคลุม สปป.ลาว และกัมพูชา ตำแหน่งล่าสุดก่อนหน้านี้คือ กงสุลใหญ่ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

ปีนี้ เป็นครั้งที่สองที่ท่านทูตให้เกียรติเปิดทำเนียบสนทนากับทีมงานของเรา

และคราวนี้มากันพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว ประกอบด้วยคู่สมรสคือ นายคาร์เตอร์ ซวน ดวง (Carter Xuan Duong) ซึ่งได้สมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจดทะเบียนรับเด็ก 3 คนเป็นบุตรบุญธรรม คือ ลูกสาว ซึ่งปัจจุบันอายุ 6 ขวบ และคู่แฝดหญิง-ชาย อายุ 4 ขวบ

ท่านทูตเล่าว่า

“เราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีเมื่อมาถึงประเทศไทยในปี 2021 รู้สึกขอบคุณและซึ้งใจที่ได้มาใช้ชีวิตและทำงานในประเทศซึ่งมีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ตลอดจนความเป็นมิตรของผู้คน และอาหารที่ขึ้นชื่อหลากหลาย”

“ภารกิจของผมในฐานะเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และ สปป.ลาวนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต ในระหว่างและหลังข้อจำกัดของโรคโควิด พูดง่ายๆ คือ เราเคยทำงานออนไลน์กันเป็นเวลานานมาก”

“อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ การทำงานได้ ‘กลับคืนสู่ปกติ’ ส่วนใหญ่เราได้พบปะเห็นหน้ากัน ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่า จะมีจำนวนผู้มาเยือนชาวดัตช์เพิ่มขึ้นจนเกือบกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนก็กลับคืนสู่ภาวะปกติด้วย รวมทั้งจำนวนงานและการประชุมระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลได้กลับมาสู่ระดับที่เราเคยมีก่อนเกิดโรคระบาด”

“ส่วนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ก็จะมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา”

นายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำราชอาณาจักรไทย

ความประทับใจแรกที่มีต่อเมืองไทย

“ก่อนที่เราจะมาทำงานที่นี่ ผมกับสามีเคยมาพักผ่อนที่ประเทศไทยแล้วสองสามครั้ง แต่ครั้งนี้เราเดินทางจากประเทศจีนตรงมายังประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้ผมทำงานที่นั่น”

“กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแรกที่ทำให้ผมหลงใหลในประเทศไทย และเป็นเมืองที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับสองของโลก ซึ่งก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเพราะเหตุใด เราสามารถโอบรับความแตกต่างหลากหลายให้กลายมาเป็นสิ่งที่โดดเด่นน่าชื่นชม อย่างตึกระฟ้าสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตสุดล้ำตั้งตระหง่านอยู่ข้างๆ ย่านเก่าแก่ แผงขายอาหารริมทางที่อร่อยที่สุดในโลกตั้งอยู่คู่กับร้านอาหารสุดเก๋ที่คว้าดาวมิชลิน สุดยอดแห่งความน่าสนใจ”

“อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษเกี่ยวกับกรุงเทพฯ คือ เป็นเมืองนานาชาติระดับโลก แต่วัฒนธรรมของที่นี่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นไทยอย่างชัดเจน”

ประเทศไทยเป็นมากกว่าสถานที่พักผ่อนยอดนิยม ซึ่งกำลังได้รับความสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค ความสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองนี้ยังสะท้อนให้เห็นในงานของสถานทูต

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2022 นายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระราชสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

ภารกิจหลักของสถานทูตเนเธอร์แลนด์

“เมื่อพิจารณาถึงชุมชนชาวดัตช์กลุ่มใหญ่ที่นี่ การให้บริการด้านกงสุลจึงเป็นส่วนสำคัญในงานของเรา ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน ก่อนเกิดโรคระบาด ชาวดัตช์ 200,000-250,000 คนเดินทางมาประเทศไทยทุกปี มีชาวดัตช์ประมาณ 15,000-20,000 คนพักอาศัยอยู่ที่นี่แบบถาวรหรือกึ่งถาวร แต่เราไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน เนื่องจากชาวดัตช์ที่นี่ไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียน”

“นอกจากงานด้านกงสุลตามปกติเกี่ยวกับเอกสารการเดินทางแล้ว สถานทูตยังให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินแก่นักท่องเที่ยวชาวดัตช์ การทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านให้กับชุมชนชาวดัตช์ และให้ความช่วยเหลือแก่ชาวดัตช์ประมาณ 10 คนที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ที่นี่ด้วย”

“ประเด็นเรื่องที่สองของเราคือ เรื่องเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นคู่ค้าที่ดี ประเทศของเราลงทุนเป็นจำนวนมากจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรปในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนในประเทศไทยยังไม่ทราบ”

“เราหวังจะเพิ่มการแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านการจัดการน้ำและการเกษตร เพราะประเทศไทยกับเนเธอร์แลนด์มีสภาพภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกันมาก คือหมายถึงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าน้ำทะเลเพียงนิดเดียว และต้องรับมือกับน้ำท่วมและภัยแล้งมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เราสามารถปรับตัวให้อยู่รอดและช่วยกันบรรเทาความท้าทายเหล่านี้ได้โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน”

เยือนกัมพูชา

“ในมุมมองทางการเมืองและการทูต ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจมากและตั้งอยู่ในภูมิภาคที่น่าสนใจด้วย โดยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะพันธมิตรของยุโรป”

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นกลาง ทั้งยังเป็นประเทศที่มั่นคงในภูมิภาค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา เนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับระบบกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อประกันความมั่นคงในระยะยาวของโลก เราจึงต้องการระบบตามกฎสากลที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องความมั่งคั่งและความมั่นคงของประเทศ เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่มุ่งเน้นในระดับสากล เช่น เนเธอร์แลนด์และไทย”

“เรายังมีส่วนร่วมกับทั่วโลกในประเด็นสิทธิมนุษยชน ผมขอขอบคุณที่เปิดกว้างให้เราสามารถหารือกับเจ้าหน้าที่ที่นี่ได้ในหัวข้อสิทธิมนุษยชนทุกประเภท แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีประเด็นให้กังวล เช่น การใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการประหัตประหารนักเคลื่อนไหว เป็นต้น”

“สำหรับประเทศไทย หากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ก็ยังมีพื้นที่อื่นอีกมากมายสำหรับการพูดคุยในหัวข้อต่างๆ เช่น สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ซึ่งผมก็ทราบดีว่า ในเนเธอร์แลนด์สามารถทำเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ดีกว่านี้ จึงเป็นประเด็นที่เราต้องให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง”

ท่านทูตกับคู่สมรส นายคาร์เตอร์ ซวน ดวง

สิทธิมนุษยชนของเนเธอร์แลนด์

“การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในนโยบายต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ ในทางปฏิบัติ เราสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนผ่านการระดมทุนจากกองทุนสิทธิมนุษยชนของเรา เราให้ความสำคัญกับ 6 ลำดับความสำคัญคือ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ(LGBTIQ+) สิทธิสตรี การส่งเสริมความรับผิดชอบ และเสรีภาพในความเชื่อ”

ในศตวรรษนี้ ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับความหลากหลายและเท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งไม่เพียงแค่ความเท่าเทียมระหว่างชาย-หญิง เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง LGBTQIA+ ด้วย หลายประเทศกำลังผลักดันนโยบายการส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่ทำให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ไม่ได้ถูกลดทอนด้วยกรอบของเพศสภาพ ฐานะ หรืออื่นใด

เนเธอร์แลนด์ คือชาติแรกที่ผ่านกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน โดยอนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันมีสิทธิ์ สมรส หย่า และรับบุตรบุญธรรมในปี 2001

ท่านทูต คู่สมรส และบุตรบุญธรรม

 

 

เมื่อถามถึงการตอบรับครอบครัวสีรุ้งของท่านทูต ระหว่างที่อยู่ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เทียบกับอยู่ในประเทศไทย

“เรามาอยู่ในประเทศไทยมากกว่าปีครึ่งแล้ว ชีวิตกำลังดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ก่อนหน้านี้ เราอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งผมเป็นกงสุลใหญ่ แม้ว่าเซี่ยงไฮ้จะถูกมองว่าเป็นเมืองที่เปิดกว้างสู่ระดับสากลที่สุดของจีน แต่ชีวิตครอบครัวในรูปแบบใหม่ก็ไม่ได้ง่ายเสมอไปสำหรับเรา บางครั้งจึงรู้สึกเหมือนถอยกลับเข้าไปใน ‘ตู้เสื้อผ้า’ อย่างที่ใครๆ เคยพูดไว้ เพราะ ‘รูปแบบครอบครัวของเรา’ ยังไม่เป็นที่ยอมรับในจีน ดังเช่นประเทศอื่นๆ ในโลก”

“แต่เราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันในประเทศไทย สิ่งนี้ทำให้เกิดโลกแห่งความแตกต่าง เพราะการสมรสเท่าเทียมกับบุคคลเพศเดียวกันยังไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นไปได้ในเร็วๆ นี้ การไม่ยอมรับการสมรสเป็นความท้าทายสำหรับครอบครัวของผม (ในบางประเทศ การสมรสของเราก็ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเช่นกัน) แต่กลับสร้างปัญหาสำหรับคู่รักคนไทยเพศเดียวกัน (LGBTQI+) มากกว่า เช่น ในเรื่องของความคุ้มครองประกันสุขภาพสำหรับคู่ชีวิต สิทธิในการเริ่มต้นครอบครัว เป็นต้น”

บุตรบุญธรรมทั้ง 3 คนของท่านทูต

คำถามสำคัญที่ท่านทูตถามตัวเองเมื่อเลือกประเทศที่จะไปทำงาน รวมถึงประเทศไทย

“ผมจะสร้างความแตกต่างในแง่ของงานได้หรือไม่ และครอบครัวของเราจะประสบความสำเร็จที่นั่นหรือไม่ สังคมเปิดกว้างและครอบคลุมแค่ไหน ลูกสาวคนโตของผมเป็นคนผิวดำ และลูกแฝดคนเล็กสองคนของเรามีเชื้อชาติเช่นเดียวกับสามีของผม เราจึงต้องการช่วยให้ลูกๆ ของเราสามารถปรับตัวได้ และในขณะเดียวกัน ก็ช่วยปกป้องพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จากการถูกเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติ” •

 

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin