เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา คดี “โคตรโกง” ปากน้ำ ที่ยืดเยื้อกว่า 16 ปี

ในที่สุดคดีทุจริตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ หรือที่รู้จักกันในชื่อคดี “โคตรโกง” ที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 16 ปี ก็ถึงบทสรุป

เมื่อศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาตัดสินว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2542 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย

พร้อมสั่งจำคุก นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นักการเมืองหนุ่มที่มีชื่อเสียงโชกโชน ลูกชายอดีตเจ้าพ่อปากน้ำ วัฒนา อัศวเหม เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

 

ปิดคดีเลือกตั้งโคตรโกง
ฎีกาคุก “ชนม์สวัสดิ์” 1 ปี 6 เดือน

คดีนี้ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาช่วงบ่ายวันที่ 4 สิงหาคม ซึ่งการนัดอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 6 แล้ว หลังจาก 5 ครั้งก่อนหน้านี้ จำเลยที่ 1 และ 2 ผลัดกันขอเลื่อนรับฟังคำพิพากษา

จนกระทั่งในการนัดหมายครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 นายชนม์สวัสดิ์ เดินทางมาศาล ขณะที่นายปิติชาติ ไม่มาศาล โดยแจ้งขัดข้องเรื่องความเจ็บป่วย แต่ไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง ศาลจึงสั่งออกหมายจับ

จนกระทั่งถึงกำหนดนัดครั้งนี้ นายชนม์สวัสดิ์ เดินทางมาด้วยรถตู้โตโยต้าอัลพาร์ด พร้อมทนายความส่วนตัว ก่อนขึ้นไปห้องพิจารณาคดีด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แต่ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อมวลชน

จนกระทั่งได้เวลานัดหมาย นายอุทัย ทวีโชติ หัวหน้าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดสมุทรปราการ พร้อม น.ส.สุวิมล จงสงวน ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการ อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เลขคดีดำ อ10182/2545 เลขคดีแดง อ3579/2549

ในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชนม์สวัสดิ์ อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 1 นายปิติชาติ ไตรสุรัตน์ ปลัดเทศบาลนคร เป็นจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกเทศมนตรีเทศบาลนครสมุทรปราการ มีอำนาจหน้าที่ทำการแทนเทศบาลนครสมุทรปราการ และจัดการเลือกตั้ง

ส่วนจำเลยที่ 2 ดำรงตำหน่งปลัดเทศบาลนคร เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาล และรับผิดชอบในงานประจำทั่วไปของเทศบาลนครสมุทรปราการ ทั้งคู่จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ เป็นเหตุให้การจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ในระบอบประชาธิปไตย

โดยศาลฎีกาพิพากษา พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ขณะที่จำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา

พร้อมส่งตัวให้เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางสมุทรปราการควบคุมตัวไปตามคำสั่งศาลที่พิพากษาถึงที่สุดแล้ว

เป็นการนอนเรือนจำครั้งแรกของนักการเมืองหนุ่มที่มีประวัติโชกโชน

 

ยืดเยื้อ 16 ปี-ปิดฉากคดีโคตรโกง

สําหรับคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2542 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ มีผู้สมัคร 2 กลุ่ม คือกลุ่มปากน้ำ 2000 ของนายชนม์สวัสดิ์ และกลุ่มเมืองสมุทร ของ นายประสันต์ ศีลพิพัฒน์

โดยหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น กลับปรากฏภาพจากช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์สามารถบันทึกภาพชายลึกลับ ขณะนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว หรือที่เรียกกันว่าบัตรผี ใส่กลับไปในหีบบัตรที่อยู่ในคูหาเลือกตั้ง

ต่อมานายประสันต์ เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรปราการ กล่าวหาว่าการเลือกตั้งมีการทุจริต

และเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2545 อัยการจังหวัดสมุทรปราการยื่นฟ้องนายชนม์สวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มปากน้ำ 2000 และผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกเทศบาลนครสมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 1 และนายปิติชาติ ปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 2

หลังศาลรับเรื่องไว้พิจารณา และไต่สวนพยานถึง 50 ปากเสร็จสิ้นวันที่ 2 มิถุนายน 2549 ก็นัดอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 พิพากษาจำคุกนายชนม์สวัสดิ์ 4 ปีโดยไม่รอลงอาญา ขณะที่นายปิติชาติ ศาลสั่งจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญาเช่นกัน

ทั้งนี้ หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาทั้งคู่นำหลักทรัพย์ประกันตัวออกไปเพื่อต่อสู้คดีชั้นศาลอุทธรณ์

โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ ระบุว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 มาตรา 60 อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 2 ปี

จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 กับมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 86 อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 4 ปี

ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละ 1 ใน 4 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงให้โทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และให้โทษจำคุกจำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปี

 

จนกระทั่งศาลฎีกาพิพากษายืน
เปิดประวัติโชกโชนคนดังปากน้ำ

สําหรับ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2511 เป็นบุตรคนสุดท้องของ นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีหลังศาลมีคำพิพากษาจำคุก 10 ปี จากคดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประกอบธุรกิจมีกิจการบริษัทกว่า 20 แห่ง ทรัพย์สินรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นอกจากเป็นนักธุรกิจชื่อดังแล้ว ยังมีชื่อเสียงในฐานะเป็นนักแข่งรถไฮโซอีกด้วย

ชีวิตรักแต่งงานกับนักร้องชื่อดัง “นันทิดา แก้วบัวสาย” โดยมีพยานรักเป็นลูกสาว 1 คน

แต่กระนั้นก็ยังคงมีข่าวพัวพันกับสาวสวยมากหน้าหลายตา ทั้งดารา นางแบบชื่อดัง

จนกระทั่งมาเป็นข่าวครึกโครม เมื่อประกาศจดทะเบียนสมรสกับดาราสาวชื่อดัง เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์ หลังจากคบหากันได้เพียง 5 เดือน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ก่อนที่จะรักล่มภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี โดยทั้งคู่จดทะเบียนหย่าในวันที่ 29 กรกฎาคม 2557

ระหว่างนั้นก็มีภาพหลุดดาราสาวตาเขียว ร่างกายบอบช้ำเหมือนถูกทำร้าย สร้างความสงสัยอย่างยิ่งว่าใครกันแน่เป็นผู้ลงมือทำร้ายร่างกาย

นอกจากนี้ นายชนม์สวัสดิ์ ยังเคยตกเป็นจำเลย ร่วมกับลูกน้องอีก 2 คน ในคดีร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานตำรวจ ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ขณะขอเข้าตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในร่างกาย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศบาลนครสมุทรปราการ

ซึ่งคดีดังกล่าวศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ว่าจำเลยทั้ง 3 มีความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน หรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ร่วมกันลงมือกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 10,000 บาท

ฐานร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าน โดยร่วมกันลงมือกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ลงโทษจำคุกคนละ 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท

นอกจากนี้ นายชนม์สวัสดิ์ ยังมีความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำคุก 4 เดือน ปรับ 2,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 12 เดือน ปรับ 9,000 บาท แต่จากการสืบเสาะประวัติ พบไม่เคยรับโทษอาญา ประกอบผู้เสียหายไม่ติดใจ จึงให้รอการลงโทษ 3 ปี

จากนั้นก็เก็บตัวเงียบจนลงเลือกตั้งชนะ ได้เป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ โค่นเก้าอี้แชมป์เก่า อำนวย รัศมิทัต เมื่อปี 2554

ก่อนจะถูกคำสั่ง คสช. ใช้อำนาจตาม ม.44 พักงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน

ล่าสุดต้องพ้นจากตำแหน่งถาวร เพราะคำพิพากษาศาลฎีกา