คุยกับทูต | แพทริก เบิร์น ความเป็นไอริช ประเทศไอร์แลนด์…ที่ไม่ใช่ ไอซ์แลนด์ (จบ)

ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างไทยและไอร์แลนด์

นับว่ายังมีศักยภาพอีกมากและเดินหน้าไปอย่างดี โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานักลงทุนไอร์แลนด์เข้ามามีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น

“ไอร์แลนด์นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยโดยเฉพาะข้าวและผลิตภัณฑ์จากไก่ค่อนข้างมาก รวมทั้งส่วนประกอบของอาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับทำอาหารชนิดต่างๆ รวมทั้งยังมีการส่งออกเครื่องจักรและอื่นๆ”

“มีการค้าด้านบริการสองทางมากมายหลายรูปแบบ ได้แก่ บริการด้านไอที บริการด้านกฎหมายและที่ปรึกษา และแน่นอนที่สุดเป็นด้านการท่องเที่ยว”

“ส่วนไอร์แลนด์ส่งออกส่วนผสมอาหาร เคมีภัณฑ์ ยา และสินค้าอุตสาหกรรมจำนวนมาก”

นายแพทริก หรือแพท เบิร์น (H.E. Mr. Patrick Pat Bourne) เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ชี้แจง

นายแพทริก หรือ แพท เบิร์น เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

แบรนด์ค้าปลีกสัญชาติไอริช ที่ลูกค้าชาวไทยสามารถหาซื้อได้ ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป

“ในแง่ของแบรนด์ที่อาจคุ้นเคย ผู้บริโภคชาวไทยสามารถเพลิดเพลินกับเบียร์กินเนส (Guinness) หรือ เจมส์สัน ไอริชวิสกี้ (Jameson), ไอริชวิสกี้ที่ผสมกับครีม (Baileys cream liqueur) หรืออาหารเช้าที่ทำจากข้าวโอ๊ต (Flahavan’s porridge), เนยไอริชบริสุทธิ์สีเหลืองสดใส (Irish butter), บัตเลอรส์ ช็อกโกแลต (Butlers chocolate) และขนมต่างๆ ซึ่งมีความต้องการสูงขึ้น”

“ผมจึงหวังว่าจะได้เห็นสินค้าจากไอร์แลนด์ที่หลากชนิดมากขึ้นที่นี่”

“แน่นอนว่า หากเราสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและไทยได้สำเร็จ เราจะได้เห็นโอกาสมากขึ้นสำหรับการขยายการค้าทั้งสองทางในอนาคต”

 

ด้านการศึกษา

“ไอร์แลนด์กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นสำหรับนักเรียนต่างชาติรวมถึงนักเรียนไทย เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนไอร์แลนด์และมีโครงการมอบทุนการศึกษาเพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์ สิ่งนี้ทำให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งสามารถเข้าเรียนที่ University College Dublin ได้ในแต่ละปี”

เมื่อครั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนไอร์แลนด์เมื่อปี พ.ศ.2557 (2014) มหาวิทยาลัย University College Dublin (UCD) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายทุนการศึกษาเพื่อพระราชทานแก่นักศึกษาไทยในระดับปริญญาโท หลักสูตร 1 ปี จำนวนปีละ 2 ทุน โดยเป็นทุนสำหรับสาขาใดก็ได้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกเว้น สาขาแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และบริหารธุรกิจ ปัจจุบัน มีนักศึกษาไทยภายใต้ทุนทั้งหมดดังกล่าว 4 ราย (จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน)

“ผมขอแนะนำว่า ผู้ที่สนใจจะเดินทางไปไอร์แลนด์เพื่อศึกษาหรือทำงาน ควรติดตามข้อมูลจากเราทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook และ Twitter

หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูต www.dfa.ie/Thailand

นายแพทริก หรือ แพท เบิร์น เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

เครื่องดื่มของชาวไอริช

“จากการที่มีน้ำสะอาด สิ่งแวดล้อมที่ดี และการเกษตรแบบยั่งยืน ทำให้ไอร์แลนด์มีชื่อเสียงในด้านการผลิตเครื่องดื่มชั้นเลิศ เช่นเดียวกับอาหารของเรา ไอริชวิสกี้มักผ่านการกลั่น 3 ครั้ง (triple-distilled) ทำให้ได้รสชาติที่นุ่มนวลกว่าสกอตช์หรือสายพันธุ์อื่นๆ หากลองชิมวิสกี้ Jameson ก็จะรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง”

“สำหรับเบียร์ ผมคิดว่ากินเนสส์ (Guinness) ไม่จำเป็นต้องแนะนำ เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก”

เมื่อพูดถึงเบียร์แล้วก็ต้องไม่ลืมพูดถึงไอริชผับ (Irish Pub) ด้วย

เพราะถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวไอริช เพราะเกือบทุกประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทยมีไอริชผับอย่างน้อยหนึ่งแห่ง

เป็นประเทศที่ภาคภูมิใจในสโลแกน “Céad Míle Fáilte” ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “การต้อนรับนับแสน” (a hundred thousand welcomes)

เพราะไอร์แลนด์ต้อนรับผู้มาเยือนมากมายหลายล้านคนในแต่ละปี

สโมสรกีฬาไอริช -Thailand GAA (Gaelic Football)

สมาคม/ชมรมไอริชในประเทศไทย

“มีกลุ่มและเครือข่ายไอริชจำนวนมากที่มีความกระตือรือร้นอย่างมีชีวิตชีวาในประเทศไทย ได้แก่ ‘St. Patrick’s Society Bangkok’ องค์กรด้านวัฒนธรรมและสังคมที่นำชาวไอริชและเพื่อนจากไอร์แลนด์มารวมตัวกันที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 1950”

“นอกจากนี้ยังมี ‘สมาคมไอริชในพัทยา’ (Irish Society Of Pattaya), มี ‘หอการค้าไทย-ไอริช’ (The Irish-Thai Chamber of Commerce) เป็นเวทีสำหรับการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ”

“ส่วนที่มีความกระตือรือร้นมากที่สุดอาจเป็นสโมสรกีฬาไอริช Thailand GAA (Gaelic Football) ของเรา ที่จัดการฝึกอบรมและการแข่งขันสำหรับเกมพื้นเมืองของเราชาวไอริช ได้แก่ เกลิกฟุตบอล ขว้างจักร และ camogie”

“โดยสโมสรกีฬาไอริชในกรุงเทพฯ นับเป็นหนึ่งในสโมสรกีฬาไอริชที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง”

ท่านทูตแพทกับภริยา

พูดถึงประเทศไทยที่จะทำให้เพื่อนชาวไอริชที่จะมาเยือนมีหัวใจเต้นเร็วขึ้น

“เรื่องที่ผมจะพูดถึงคือความเป็นมิตรและไมตรีจิตของคนไทย สำหรับผมแล้ว นั่นคือจุดขายที่โดดเด่น (Unique Selling Points-USP) ของประเทศไทย สมกับเป็น ‘ดินแดนแห่งรอยยิ้ม’ (Land of Smiles) ที่แท้จริง และมีอีกหลายเรื่องที่จะแนะนำ นั่นคือ ดินแดนแห่งอากาศอบอุ่น อาหารสด อร่อย ความงามของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลาลับขอบฟ้า หาดทรายที่สวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ เช่นเดียวกับแม่น้ำ ทะเลสาบ เนินเขา และป่าไม้ รวมแล้วน่าจะทำให้เพื่อนของผมหัวใจเต้นเร็วขึ้นอย่างแน่นอน”

“วัดวาอาราม สถานที่ประกอบศาสนกิจทางพุทธศาสนา ก็เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจยิ่ง”

กทม.ประดับไฟสีเขียวพระปรางค์วัดอรุณ ร่วม Global Greening Programme 2021 ในโอกาสเฉลิมฉลองวันชาติสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (St. Patrick’s Day

สิ่งที่ดึงดูดใจมากที่สุดเกี่ยวกับกรุงเทพฯ

“สําหรับผมชอบสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ เพราะเป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเพลิดเพลินได้ฟรีทุกวัน คุณสามารถวิ่ง วิ่งเหยาะๆ เดิน ปั่นจักรยาน เต้นรำ หรือเพียงแค่นั่งดูผู้คนเดินผ่านไปมา”

“การระบาดของโควิดได้สอนอะไรเรา สอนเราถึงความสำคัญของการออกไปสูดอากาศและออกกำลังกาย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ”

“และในขณะเดียวกัน ในสวนสาธารณะเดียวกัน คุณมักจะเพลิดเพลินกับคอนเสิร์ต เทศกาล นิทรรศการศิลปะ และกิจกรรมอื่นๆ”

“ทุกคนจึงควรมี ‘สถานที่แห่งความสุข’ และผมก็โชคดีพอที่จะอยู่ใกล้สวนสาธารณะทั้งสองแห่งนี้ ซึ่งเป็นสถานที่แห่งความสุขของผม”

กิจกรรมยามว่างกับครอบครัว

“เวลาว่างคืออะไร ดูเหมือนจะมีไม่มากนัก เพราะจริงๆ แล้วผมอยากทำงานที่นี่ตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่า ผมกำลังทำในสิ่งที่ควรทำ ทำงานอย่างหนักเพื่อขยายและเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศไอร์แลนด์กับประเทศไทย”

“แต่แน่นอนว่า เราทุกคนก็ต้องการ ‘เวลาหยุดทำงาน’ อย่างที่เพิ่งพูดถึง ภรรยาของผมบอกว่าฉันชอบไปเที่ยวสวนสาธารณะในท้องถิ่นของเรา ที่นี่ เราไปวิ่งหรือเดินเล่นในสวนเบญจกิติและสวนลุมพินีก็ค่อนข้างบ่อย”

“และเรายังชอบที่จะออกไปสำรวจส่วนต่างๆ ของเมืองและประเทศ พยายามเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มรดก และวัฒนธรรมของบ้านหลังใหม่ของเรา เมื่อใดที่เรารู้สึกไม่ค่อยกระปรี้กระเปร่า เราจะไปดูหนัง หรือไม่ก็อ่านหนังสือ”

ไปเยือนเชียงใหม่

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยเผชิญ นับตั้งแต่เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

“ความท้าทายหลักสำหรับผมมาจากบริบทของความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ทั้งในยูเครนและเมียนมา”

“เรื่องที่เกี่ยวกับการรุกรานของรัสเซียในยูเครน สำหรับเรา-ไอร์แลนด์ สหภาพยุโรปและพันธมิตรของเราที่มีแนวคิดเดียวกัน มีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะเน้นประเด็นที่ว่า ความก้าวร้าวและการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจนนั้นไม่สามารถละเลยหรือละเว้นจากกระบวนการทางกฎหมายอันควรได้ และเราต้องการสนับสนุนให้เพื่อนๆ ของเราเป็นส่วนหนึ่งของฉันทามตินั้น เพราะทั้งโลกได้รับผลกระทบด้านมนุษยธรรมและเศรษฐกิจจากการกระทำที่ผิดกฎหมายของปูติน”

“และเรายังได้เห็นสถานการณ์ในเมียนมาก้าวไปในทางเลวร้ายลงทุกวัน เรายืนหยัดร่วมกับอาเซียน (ASEAN) ในการเรียกร้องให้รัฐบาลทหารดำเนินการตามแผนสันติภาพฉันทามติ 5 ข้อ (The Five Point Consensus) ที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อสองปีก่อน”

“แต่วิกฤตการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่ครอบงำอยู่”

สืบเนื่องจากกลุ่มอาเซียนยังไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เลยในการบังคับใช้ฉันทามติ 5 ข้อ ที่ออกมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2021ในขณะที่สถานการณ์ในพม่าก็ลุกลามบานปลายใหญ่โตจนยากจะหาทางหยุดยั้งได้โดยง่าย และรัฐบาลทหารพม่าภายใต้การนำของมิน อ่อง ลาย ซึ่งเป็นผู้สร้างปัญหาจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือใดๆ แก่กลุ่มอาเซียนอย่างเพียงพอ

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ อยากจะฝากข้อความถึงผู้อ่านว่าอย่างไร ท่านทูตแพท ตอบว่า

“ผมเดาว่า ใครก็ตามที่อ่านเรื่องนี้จนจบ จะต้องสนใจความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไอร์แลนด์ ดังนั้น ข้อความของผมจะเป็นอย่างไร ได้โปรดติดต่อผม ผมยินดีรับคำติชม หรือรับฟังข้อเสนอแนะใดๆ ที่ท่านอาจมี และคิดว่าไอร์แลนด์และไทยจะสามารถทำงานร่วมกันได้”

“คุณสามารถติดตามผมได้ทางทวิตเตอร์ที่ @IEmbThailand หรือผ่านทางเว็บไซต์ของสถานทูตครับ” •

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin