คุยกับทูต | แพทริก เบิร์น ความเป็นไอริช ประเทศไอร์แลนด์…ที่ไม่ใช่ ไอซ์แลนด์ (2)

คุยกับทูต | แพทริก เบิร์น ความเป็นไอริช ประเทศไอร์แลนด์…ที่ไม่ใช่ ไอซ์แลนด์ (2)

 

ความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและไอร์แลนด์

“ทั้งไอร์แลนด์และไทยมีจุดแข็งด้านภาพยนตร์ ผมจึงอยากเห็นความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในด้านนี้ ตอนนี้เราจึงมุ่งเน้นไปที่การฉายภาพยนตร์ไอริชที่ประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทั้งในด้านการติดต่อและการแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้สร้างภาพยนตร์ โดยเฉพาะดาวรุ่งที่มากความสามารถ”

นายแพทริก หรือ แพต เบิร์น (H.E. Mr. Patrick Pat Bourne) เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เล่าถึงตัวอย่างของความร่วมมือ

“สำหรับที่นี่ วรรณกรรมไอริชก็ค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างนักเขียนรุ่นเยาว์ของกันและกันจากทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นการดีที่จะช่วยนำเสนองานทางวัฒนธรรมและศิลปะของไทยในไอร์แลนด์ให้มากขึ้นอีกด้วย”

เทคโนโลยีและประสบการณ์ของไอร์แลนด์ที่น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย

“เป็นคำถามที่ดี และเป็นหัวใจของการสนทนาที่เรามีกับคู่ค้าชาวไทย ไอร์แลนด์อยู่ในระดับแนวหน้าของนวัตกรรมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ในขณะเดียวกับที่เราก็เติบโตขึ้น เช่น ฟินเทค (FinTech) และบริการดิจิทัล และในด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตทั้งหมด รวมถึงเภสัชกรรมและเมดเทค (Medtech) นอกเหนือจากชื่อเสียงและผลงานในประวัติศาสตร์ของเราด้านการเกษตรและการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน”

“ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่ได้มีการประสานความร่วมมือกันอย่างสอดคล้องกับประเทศไทย”

นายแพทริก หรือ แพท เบิร์น เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

FinTech มีที่มาจากคำว่า Financial และ Technology แปลตรงตัวได้ว่า เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน หรือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจการเงิน เช่น ใช้กับระบบธนาคาร ซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ตัวกลางในการระดมทุน เงินสกุลดิจิทัล ระบบการใช้จ่ายเงิน บัตรเครดิต การโอนเงินออนไลน์ เทคโนโลยีประกันภัย เป็นต้น

MedTech หรือ Medical Technology คือ การนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้านการแพทย์ให้กับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยโรค การรักษา การติดตามอาการ ไปจนถึงการประเมินภาวะสุขภาพ การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะในแล็บด้วยเครื่องตรวจที่ทันสมัย เอ็กซเรย์ร่างกาย CT scan หรือ MRI ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตจาก Medical Technology ทั้งนั้น

เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยที่ท่านทูตแพทประทับใจเป็นพิเศษ

“ผมชอบความสุภาพอ่อนน้อมของคนไทย ทุกคนมักจะกล่าวคำว่า ‘สวัสดี’ ซึ่งกันและกัน และกล่าวคำว่า ‘ขอบคุณ’ เสมอ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่พิเศษสุดและสร้างความโดดเด่นอย่างมากในสิ่งที่เราได้ประสบพบเห็นในชีวิตประจำวัน”

“ในแง่ของการสืบสานเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประเพณี ผมและภรรยาได้มีส่วนร่วมในพิธีการเฉลิมฉลองเทศกาลลอยกระทงทั้งในจังหวัดสุโขทัยและกรุงเทพฯ ที่งดงามมาก”

แผนที่แมคคาร์ธี-ภาพ-กรมศิลปากร

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ

“ไอร์แลนด์และไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 1975 แม้จะมีประวัติศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ทางการทูตที่ใกล้ครบรอบ 50 ปีอีกไม่นานนี้ แต่ความเชื่อมโยงระหว่างประเทศของเราบางส่วนไปไกลกว่านั้นมาก”

ท่านทูตแพตเล่าว่า

“เป็นความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ที่แข็งแกร่งระหว่างไอร์แลนด์และไทยซึ่งไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าที่ควร ได้แก่ เจมส์ แม็กคาร์ธี (James McCarthy) นักเขียนแผนที่ชาวไอริช ผู้มีบทบาทสำคัญในการระบุพรมแดนทางตอนเหนือของประเทศไทยในช่วงศตวรรษที่ 19”

การทำแผนที่แบบตะวันตกเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจมส์ ฟิตซ์รอย แม็กคาร์ธี (James Fitzroy McCarthy) หรือ พระวิภาคภูวดล พ.ศ.2396-2462 (1853-1919) เป็นนักสำรวจและนักทำแผนที่ชาวไอริชที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเขตแดนของประเทศไทย (ซึ่งรู้จักกันในตอนนั้นชื่อว่าสยาม) ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ช่วงเปลี่ยนสยามให้เป็นรัฐชาติสมัยใหม่

เจมส์ แม็กคาร์ธี ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมแผนที่คนแรก (ปัจจุบันคือ กรมแผนที่ทหาร) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในวันที่ 3 กันยายน ปี พ.ศ.2428 (1885) แผนที่หลักระวางแรกที่กรมแผนที่จัดทำขึ้น เป็นแผนที่พระราชอาณาจักรสยาม “Map of The Kingdom of Siam and its Dependencies” หรือเรียกตามชื่อเจ้ากรมแผนที่ ว่า “แผนที่แมคคาร์ธี” ส่งไปพิมพ์ที่อังกฤษเมื่อ พ.ศ.2430 (1887)

ภายในแผนที่มีส่วนแทรกเป็นแผนที่ผังเมืองขนาดย่อ 3 เมือง ได้แก่ เมืองกรุงเทพฯ เมืองเชียงใหม่ และเมืองหลวงพระบาง เจมส์ แมคคาร์ธี ดำรงตำแหน่งนี้ยาวนานถึง 16 ปี ก่อนจะกราบถวายบังคมลาออกจากราชการเนื่องจากครบกำหนดสัญญาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2444 (1901) (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่)

“อาเธอร์ เคอร์ (Arthur Ker) เป็นชาวไอริชอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในด้านการศึกษาพฤกษศาสตร์และความหลากหลายทางชีวภาพของพืชในประเทศไทย”

เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ าบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Ireland and Thailand International Relations Past to Present” ณ วิทยาลัยนานาชาติ

ดร.อาเธอร์ คาร์ (Dr.Arthur Kerr) แพทย์ชาวไอริชที่มาใช้ชีวิตและทำงานในประเทศไทยเป็นเวลา 30 ปี พ.ศ.2445-2475 (1902-1932) ส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีคุณูปการสำคัญต่อสังคมไทยโดยเฉพาะในด้านการศึกษาพฤกษศาสตร์ในประเทศไทย โดยเป็นช่างภาพและนักทำแผนที่ที่ยอดเยี่ยม พูดภาษาไทยได้คล่องและมักเดินทางด้วยเท้าหรือช้างไปยังพื้นที่วิจัย

ดร.เคอร์ ก่อตั้งหอพรรณไม้กรุงเทพฯ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นนักพฤกษศาสตร์ของรัฐบาล ต่อมาสำนักพระราชวังแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมเกษตรที่ตั้งขึ้นใหม่เป็นตำแหน่งที่สูงมากและเป็นเกียรติแก่ชาวต่างประเทศ โดยได้รับรางวัล ‘เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกสูงสุด – ชั้นที่ 4’ ผลงานของเขาได้สร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไอร์แลนด์และประเทศไทยในวงการพฤกษศาสตร์ (จาก Citylife Chiang Mai)

“ยังมีชาวไอริชอีกหลายคนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษา บริการสุขภาพ และการพัฒนาสังคมในประเทศไทย”

ท่านทูตแพตย้ำว่า

“คนรุ่นต่อๆ มาได้สร้างรากฐานทางประวัติศาสตร์ของความปรารถนาดีเพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงใหม่ๆ ในธุรกิจ การท่องเที่ยว การลงทุน และวัฒนธรรม และแน่นอนว่า ผมตั้งใจจะทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างเราให้มากขึ้นในช่วงเวลาที่ผมอยู่ที่นี่”

คำแนะนำสำหรับนักเรียนไทยที่ต้องการไปศึกษาต่อที่ไอร์แลนด์ไม่ว่าจะด้วยทุนหรือทุนส่วนตัว

“คำแนะนำของผมก็คือ แค่ลงมือทำ”

“เพราะไอร์แลนด์มอบประสบการณ์การศึกษาอันยอดเยี่ยม ด้วยการสอนที่มีคุณภาพสูงและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสนุกสนาน”

“ชาวไอริชและคนไทยมีลักษณะนิสัยและทัศนคติที่คล้ายคลึงกันมาก เราทั้งคู่ต่างมีครอบครัวและสังคมที่เข้มแข็ง เราชอบที่จะยิ้มและหัวเราะ เรากระตือรือร้นที่จะต้อนรับคนแปลกหน้าและทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนอยู่บ้านในประเทศของเรา นี่คือเหตุผลว่า ทำไม ผมถึงรู้สึกเหมือนอยู่บ้านตั้งแต่มาถึงประเทศไทย และผมก็รู้ว่านักเรียนไทยที่ไปไอร์แลนด์ต่างก็มีความรู้สึกแบบเดียวกัน”

“แน่นอนว่าคุณภาพของการศึกษามีความสำคัญมากเช่นกัน และมหาวิทยาลัยที่ไอร์แลนด์ก็ทำคะแนนได้ดี เช่น Trinity College Dublin, University College Dublin, University College Cork และ Dublin City University (DCU) ซึ่งผมเป็นศิษย์เก่าที่ DCU สถาบันที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงในระดับสากล”

เอกอัครราชทูตราชไอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย เข้าพบผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น – ภาพ- มข.

DCU เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกในด้านคุณภาพการสอน, สภาพแวดล้อมการเรียนรู้, การวิจัยและนวัตกรรม QS World University Rankings ให้คะแนน DCU ว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกและ Times Higher Education ได้จัดอันดับให้มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งใน 100 มหาวิทยาลัยชั้นนำ มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในเรื่องอัตราส่วนนักศึกษาต่ออาจารย์ที่ดีที่สุดในประเทศไอร์แลนด์

“ข้อดีอีกประการหนึ่ง คือการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของไอร์แลนด์ ทำให้นักเรียนในไอร์แลนด์สามารถเข้าถึงโปรแกรมของสหภาพยุโรปได้อย่างเต็มที่ เช่น Erasmus และ Horizon รวมทั้งโอกาสในการแลกเปลี่ยนและการวิจัยอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin