เรื่องน่าทึ่งของ ‘เงินบาท’ ที่เป็นกรณีศึกษาของโลก และไม่เคยมีใครเล่ามาก่อน

“รูเชียร์ ชาร์มา” เคยเป็นทั้งนักลงทุน ผู้จัดการกองทุน และหัวหน้าทีมยุทธศาสตร์การเงินกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของหลายๆ บริษัทในแวดวงการเงินระดับโลก ก่อนที่จะกลายเป็นนักเขียน มีผลงานมาแล้ว 4 เล่ม

เล่มล่าสุดชื่อ “The 10 Rules of Successful Nations” จัดพิมพ์โดย ดับเบิลยู. ดับเบิลยู. นอร์ตัน เมื่อมีนาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา

เมื่อปีที่แล้ว ชาร์มาก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และประธานบริหารของร็อกกี้เฟลเลอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อันเป็นกิจการลงทุนด้านการเงินของตระกูลร็อกกี้เฟลเลอร์ สหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในการลงทุนธุรกิจของบริษัทในทั่วทุกมุมโลก

ที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกก็คือ เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักลงทุนมากประสบการณ์ คร่ำหวอดอยู่ในวงการยาวนานผู้นี้ ลงมือเขียนบทความแสดงความคิดเห็นไว้ในไฟแนนเชียล ไทม์ส สื่อดังของอังกฤษ ว่าด้วยเรื่องคุณลักษณะพิเศษของ “เงินบาท” โดยเฉพาะ เนื่องในวาระครบรอบ 25 ปีของวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เราเรียกกันจนคุ้นเคยว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1998

เขาบอกว่านี่เป็นเรื่องของเงินบาท “ที่ไม่เคยมีใครเล่ามาก่อน” อีกด้วย

 

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เมื่อ 25 ปีก่อน ในไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาคเต็มไปด้วยความโกลาหล ค่าเงินดิ่ง ตลาดวูบ ผู้ประท้วงแห่กันออกมาบนท้องถนน ชาร์มาบอกว่าตอนนั้นเขาอยู่ที่กรุงเทพฯ

เศรษฐกิจโดยรวมของไทยติดลบเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ หุ้นร่วงหายไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ค่าเงินบาทลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ กลายเป็น “ดราม่า” ที่จำหลักแนบแน่นอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ

ชาร์มาตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “นับตั้งแต่ต้นปี 1998 ประเทศไทยเลือนหายไปจากจอเรดาร์ที่เฝ้าจับตามองของโลกก็จริง แต่เงินบาทได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น รักษาค่าเงินเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์เอาไว้ได้ดีกว่าเงินสกุลอื่นของประเทศเศรษฐกิจใหม่ทั้งหลาย และทำได้ดีกว่าทุกสกุลในโลกยกเว้นเงินฟรังก์สวิส ของสวิตเซอร์แลนด์ อันเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วสกุลเดียวเท่านั้น”

เขายกตัวอย่างเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียไว้ว่า ตอนนี้ซื้อขายกันอยู่ที่ใกล้ๆ 15,500 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ลดลงมหาศาลจาก 2,400 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ในช่วงก่อนหน้าวิกฤต

ส่วนเงินบาท ยังคงอยู่ที่ราว 33 บาทต่อดอลลาร์ ลดลงไม่กี่มากน้อยจากระดับ 26 บาทต่อดอลลาร์ก่อนวิกฤต

ค่าเงินของประเทศที่เป็น “จุดศูนย์กลางของวิกฤตการณ์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเสถียรภาพ และเป็นบทเรียนสำหรับให้ประเทศเศรษฐกิจใหม่ทั้งหลายได้เรียนรู้” ชาร์มาย้ำเอาไว้อย่างนั้น

 

หลังวิกฤตประเทศเศรษฐกิจใหม่ทั้งหลายหันเหแนวนโยบายการเงินไปในทิศทางอนุรักษ์กันมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียผละจากระบบเล่นพรรคเล่นพวกไปหาแบบอย่างการบริหารจัดการที่ดี ฟิลิปปินส์กับมาเลเซียมุ่งลดภาวะขาดดุล

“แต่ไม่มีรัฐบาลของประเทศไหนในภูมิภาค หันมายึดถือแนวทางเศรษฐกิจตามแบบฉบับได้เหนียวแน่นและต่อเนื่องเท่ากับรัฐบาลไทยอีกแล้ว” ชาร์มาระบุ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัวเมื่อราวปี 2000 นับตั้งแต่บัดนั้น รัฐบาลไทยไม่เคยขาดดุลเฉลี่ยแล้วเกินกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่เทียบแล้วไม่ถึงครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยภาวะขาดดุลของบรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่ทั่วโลกด้วยซ้ำไป, คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูง และรักษาปริมาณเงินในระบบเอาไว้ไม่ให้ขยายตัวเกิน 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งต่ำที่สุดเป็นอันดับ 3 ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่ทั้งหลาย

ผลลัพธ์ที่ได้จากการนี้คือ อัตราเงินเฟ้อต่ำมาก เฉลี่ยอยู่เพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี พอๆ กับในสหรัฐอเมริกา และมีเพียงจีน, ไต้หวัน กับซาอุดีอาระเบียเท่านั้นที่เงินเฟ้อเฉลี่ยต่ำกว่าไทยนับตั้งแต่ปี 1998 เรื่อยมา

ที่น่าสนใจก็คือ เงินบาทที่ถูกบีบจนต้องยกเลิกการกำหนดค่าตายตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แล้วปล่อยให้ลอยตัวตามกลไกตลาด อันเป็นที่มาของการที่ค่าเงินลดวูบ กลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงกู้ค่าเงินส่วนใหญ่คืนมาเท่านั้น ยังทำสถิติเป็นหนึ่งใน “สกุลเงินที่ผันผวนน้อยที่สุด” ของโลกอีกด้วย

 

ที่สำคัญคือ ไทยยังคงเป็น “หนึ่งในชาติเศรษฐกิจใหม่ที่มีระบบเศรษฐกิจเปิดกว้างที่สุด” อยู่ต่อไป การค้าเพิ่มขึ้นจากที่เคยมีสัดส่วนเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีมาเป็น 110 เปอร์เซ็นต์ในเวลานี้ ภาวะขาดดุลกับต่างประเทศกลายเป็นภาวะเกินดุล อุตสาหกรรมการผลิตและการท่องเที่ยวแข็งแกร่งขึ้น คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของจีดีพี

รายได้ประชาชาติต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากระดับ 3,000 ดอลลาร์ก่อนวิกฤตมากกว่าสองเท่าตัวเป็นเกือบ 8,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีในขณะนี้

ที่สำคัญที่สุดในสายตาของชาร์มาก็คือ ไทยกลายเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเงินสูงยิ่ง ทั้งๆ ที่การเมืองของประเทศขึ้นๆ ลงๆ มีรัฐธรรมนูญถึง 4 ฉบับในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา