เป็นจีน-เป็นไทย รู้สึกได้อย่างไรว่าเราเป็น? คุยกับสิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์

เวลาเราพูดถึงคนจีนในไทยหรือคนไทยเชื้อสายจีน เราจะนึกถึงอะไร

บางคนนึกถึงเรื่องเล่าความขยันขันแข็งจนสามารถประสบความสำเร็จได้ บางคนนึกถึงความนิยมในเทศกาล ประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมต่างๆ ของคนจีนในไทย ในขณะที่บางคนอาจนึกถึงภาพยนตร์ วรรณกรรม ละคร เพลงที่เล่าเรื่องราวของคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งแพร่กระจายและได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมไทย นอกจากวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และสิ่งที่เราต่างนึกถึงเหล่านี้ ดูเหมือนว่าสิ่งที่ยังไม่ได้พูดถึงกันมากเท่าใดนัก คือมิติของ “อารมณ์ความรู้สึก” ที่ลึกลงไป

เคยตั้งคำถามไหมว่า เรารู้สึกว่าเราเป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไรมันมาจากอะไร แล้วคนจีนในไทยล่ะ รู้สึก “เป็นจีน” หรือ “เป็นไทย” กันแน่ แล้วรู้สึกถึงความเป็นไม่เป็นเหล่านี้ได้อย่างไร ชวนคุยกับ สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ที่มาพร้อมกับผลงานเล่มล่าสุด เป็นจีนเพราะรู้สึก: ประวัติศาสตร์เสื่อผืนหมอนใบที่เพิ่งสร้าง ท่องไปในเส้นแบ่งความเป็นจีน-ไทยอันพร่าเลือนเกินกว่าจะนิยามได้ตายตัวผ่านแว่นพินิจประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึก

สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ผู้เขียนหนังสือ “เป็นจีนเพราะรู้สึก: ประวัติศาสตร์เสื่อผืนหมอนใบที่เพิ่งสร้าง”

:  แรกเริ่มความสนใจประเด็นเกี่ยวกับคนจีนในไทย

ถ้าในทางวิชาการผมคิดว่าเริ่มตอนเรียนปริญญาตรีที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผมค้นพบว่าตัวเองสนใจเรื่องจีน เลยเริ่มจากเรื่องคนจีนในไทย หลังจากนั้นก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ถ้าถามว่าความสนใจเรื่องจีนในไทยอย่างไม่เป็นวิชาการ เริ่มสงสัยมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็น่าจะช่วงประถมมัธยม (ทศวรรษ 2530-2540) ที่บ้านจะบอกว่าเราต้องหยุดนะช่วงตรุษจีน ตอนเป็นเด็กเราก็รู้สึกแฮปปี้แหละ หยุดไปรับซองสีแดง แต่ก็จะสงสัยว่า ‘เห้ยทำไมเพื่อนเราไม่หยุดวะ แกไม่ได้ซองแดงเหรอ’ เพื่อนก็บอกว่า ‘ไม่ เราเป็นคนไทย’ เราก็สงสัยว่าอ้าว! แล้วเราไม่เป็นคนไทยเหรอ ในเมื่อบัตรประชาชนเอกสารต่างๆ ก็บอกว่าคนไทยเชื้อชาติไทย มันเกิดอะไรขึ้น?

 

ความสนใจศึกษาคนจีนในไทยจนมีผลงานกับมติชนถึง 3 เล่ม
กบฏจีนจน บนนถนนพลับพลาไชย-เขียนจีนให้เป็นไทย-เป็นจีนเพราะรู้สึก

 

:  การเดินทางก่อนก่อร่าง

เริ่มจาก กบฏจีนจนฯ เราจะเห็นภาพของคนจีนธรรมดาสามัญ เวลาพูดถึงเรื่องคนจีนในไทย เรามักพูดถึงคนจีนที่เป็นชนชั้นนำหรือเจ้าสัวที่ประสบความสำเร็จ แต่มีคนจำนวนมากมายมหาศาลที่ไม่ได้ขึ้นไปเป็นเจ้าสัว เป็นนายธนาคาร หรือเจ้าของธุรกิจ แล้วคนเหล่านั้นเขาหายไปไหน กบฏจีนจนจะตอบคำถามตรงนี้ แต่ก็เป็นการตอบคำถามแบบเป็นเหตุเป็นผลว่า มันมีโครงสร้างทางสังคมแบบหนึ่ง โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบหนึ่งที่ทำให้คนขยับไม่ได้

ต่อมา เขียนจีนให้เป็นไทย ก็อธิบายแบบเป็นเหตุเป็นผลอีก แต่เริ่มปรับมุมมองใหม่ว่า ถ้าเราจะเข้าใจคนจีนในไทย เราเข้าใจได้อย่างไรบ้าง แทนที่จะบอกว่าเป็นการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากคนจีนในไทยหรือนักวิชาการตะวันตก โอเคมันก็อาจเป็นเรื่องนั้นด้วยก็จริง แต่ว่ามันมีความซับซ้อนกว่านั้น เขียนจีนให้เป็นไทย เลยไปมองเรื่องการฑูตวิชาการ การศึกษาเรื่องที่ปรับเปลี่ยนไปในช่วงสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็นความรู้จากสหรัฐอเมริกา ความรู้จากสังคมศาสตร์ในประเทศไทยที่เริ่มก่อตัวขึ้น หรือแม้แต่ความรู้ที่ผ่านการฑูตวิชาการมาจากแผ่นดินใหญ่

พูดให้ถึงที่สุด เขียนจีนให้เป็นไทย ก็ยังวางอยู่บนการศึกษาที่เป็นเหตุเป็นผล แต่ถ้าเราอ่านระหว่างบรรทัดจะรู้สึกว่า การเขียนงานว่าคนจีนเป็นใครอย่างมีเหตุมีผลของบรรดานักวิชาการในแต่ละประเทศ นักวิชาการไทย นักวิชาการอเมริกัน นักวิชาการจีน เขามี ‘อารมณ์ความรู้สึก’ บางอย่างกำกับอยู่ ผมก็เลยรู้สึกสนใจว่า ถ้าเราอยากมองให้เห็นโลกของคนจีนในไทย เรามองผ่านความรู้สึกได้ไหม ว่าคนจีนในไทยรู้สึกยังไง จนประกอบร่างตัวตนของตัวเองขึ้นมา และแน่นอนอย่างคนจีนในไทยก็มีการแบ่งรุ่นกันใช่ไหมครับ ดังนั้นมันก็น่าจะมีอารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงกันไปในแต่ละรุ่น

 

: ก่อร่างเป็นผลงานล่าสุด “เป็นจีนเพราะรู้สึก”

หลังจาก เขียนจีนให้เป็นไทย ผมรู้สึกว่า มันน่าจะมีมิติของอารมณ์ความรู้สึกที่เราไม่เคยตั้งคำถามว่า ถ้าเราจะเป็นจีน จะเป็นไทย เรารู้สึกได้อย่างไรว่าเราเป็น อย่างผมมีเพื่อน เพื่อนผมดูไทยมากโดยลักษณะทางกายภาพ แต่เขาบอกว่าเขาเป็นจีน ผมถามว่า ‘ทำไมถึงคิดว่าเป็นจีน’ เขาบอกว่า ‘ฉันมีอาม่า’ ‘แล้วพูดภาษาจีนได้ไหม’ ‘ไม่อะไรเลย ไม่ไหว้เจ้า ไม่เช็งเม้ง ไม่ตรุษจีน’ เพราะงั้น เราเป็นใครเพราะอะไร บางทีมันอาจไม่ได้ต้องการเหตุผลมากๆ ก็ได้หรือเปล่า มันอาจจะแค่ความรู้สึกว่าฉันเป็นใคร

หลังจากนั้นผมก็พัฒนาบางอย่างจากคำถามแบบนี้ แล้วก็เริ่มมาสนใจเรื่องอารมณ์ความรู้สึก พอดีในช่วงเวลาเดียวกัน ศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ก็กรุณาชวนเข้าร่วมโครงการวิจัยที่พูดถึงเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลาง ผมก็เลยเริ่มทำงานในมุมมองแบบนี้อย่างเต็มที่มากขึ้น

: ทำไมนึกถึงคนจีนในไทยต้องนึกถึง “เสื่อผืนหมอนใบ”

ผมก็ตั้งคำถามว่าทำไมต้อง ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ ปัญหาของเราคือพอพูดคำนี้มันต้องเกี่ยวกับคนไทยเชื้อสายจีนอย่างเดียว บางทีอาจจะรู้สึกไปด้วยซ้ำว่ามีเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ถ้าเรามองจากสังคมโลก ทุกคนก็จะมีเรื่องแบบเสื่อผืนหมอนใบเล่าเหมือนกัน ในภาษาอังกฤษเราพูดถึงประวัติศาสตร์แบบ rags to riches stories จากผ้าขี้ริ้วกลายเป็นคนรวย ในสิงคโปร์ก็มีเล่าเรื่องพวกนี้ มาเลเซียก็มี ถ้าเช่นนั้นเรื่องเล่าแบบเสื่อผืนหมอนใบ มันไม่น่าจะใช่เรื่องเล่าของกลุ่มเฉพาะที่เป็นคนจีนในไทยเท่านั้นหรือเปล่า คำถามต่อมาคือ เรื่องเล่าเสื่อผืนหมอนใบมันทำงานยังไง

สำหรับคนจีนในสังคมไทย ถ้าเราจะเล่าเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเอง หลายคนก็เลือกจะเล่าเรื่องของการสร้างเนื้อสร้างตัวจนประสบความสำเร็จผ่านความขยันขันแข็งในสังคมไทย ผมว่าการเล่าเรื่องแบบ ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ (ใต้พระบรมโพธิสมภาร) นี้คือการที่คุณขยันขันแข็ง คุณสร้างตัวได้ คุณเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย คุณทำการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อสังคมไทย และแน่นอนคุณก็อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร เป็นจีนเพราะรู้สึก เริ่มตั้งคำถามว่า ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ เริ่มมีพลังได้อย่างไรบ้าง แล้วเราเริ่มมามีคำพูดว่า ‘เสื่อผืนหมอนใบใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร’ ได้อย่างไร

 

: “ทุนนิยมอารมณ์ความรู้สึกไทย” ที่อยู่ในเล่มนี้คืออะไร สำคัญยังไง

ในวงวิชาการทุกวันนี้เราจะพูดถึง ‘เสรีนิยมใหม่’ (Neo-Liberalism) ที่เข้ามาสัมพันธ์กับเราในทุกมิติ โครงสร้างหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป แล้วเราถูกกดดันด้วยโครงสร้างเสรีนิยมใหม่ จนทุกมิติชีวิตกลายเป็นปัญหามาก แต่คำถามสำคัญคือ เสรีนิยมใหม่หรือทุนนิยมในไทยทำงานยังไง ผมคิดว่าแม้แต่มิติของอารมณ์ความรู้สึกทุนนิยมก็เข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างง่ายๆ ถ้ามีความโศกเศร้าจากความตาย คุณคงไม่เดินเข้าไปในงานศพแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างเดียว คุณจะต้องส่งพวงหรีดหรือบริจาคเงินเข้าไปร่วมทำบุญ ทุนนิยมมันจึงเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกของเรา

ผมเริ่มจากคำถามที่ว่า แล้วในกรณีของไทยมันมีความเฉพาะของทุนนิยมในไทยไหมที่ไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก แล้วอารมณ์ความรู้สึกกับทุนนิยมในไทยมันพัฒนาควบคู่กันไปได้ยังไง เราเริ่มเห็นช่องทางของการอธิบายบางอย่างที่น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะในยุคของสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ถามว่าอะไรทำให้คนรู้สึกว่า “ต้องขยัน” คือเศรษฐกิจมันพัฒนาไปได้ เพราะว่าคนรู้สึกว่าฉันต้องขยัน ฉันต้องทำงานและรู้สึกว่าฉันต้องประสบความสำเร็จในอนาคต ในยุคสฤษดิ์ มีคำขวัญ ‘งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข’ เริ่มพูดถึงเรื่องความสุขอันเกิดขึ้นจากการทำงาน ดังนั้นในระบบทุนนิยม คุณต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด แล้ววันหนึ่งคุณจะได้ ‘ความสุข’ จากการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจสังคม ผมมองแบบนี้แล้วเริ่มเห็นว่า การที่เราเป็นคนจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบต้องสร้างตัวให้ได้ หรือเราจะเป็นคนไทยเชื้อสายพม่า มาเลย์ กัมพูชา หรืออื่นๆ เราต้องขยันทำงาน สร้างความสุขจากการทำงานให้ได้ ทำไมเราต้องทำแบบนี้ แสดงว่ามันมี “ระบอบอามรมณ์ความรู้สึก” มากำกับเราหรือเปล่า ผมเริ่มมองว่าบางทีมันอาจมีระบอบอารมณ์ความรู้สึก ‘ทุนนิยมอารมณ์ความรู้สึกไทย’ ที่มาครอบงำเราให้เราต้องรู้สึกแบบนี้ และทำให้เราต้องเดินไปตามทางที่เราต้องสร้างเนื้อสร้างตัวให้ได้ เพื่อบรรลุซึ่งความสุขของเราเอง โดยที่เราคิดว่าการทำแบบนี้เป็นเรื่องของ ‘ปัจเจก’ ที่เราสามารถควบคุมชะตาชีวิตของตัวเองได้ ซึ่งจริงๆ จะควบคุมได้จริงมากน่้อยแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

: ทำไมวรรณกรรมถึงถูกเลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์ความรู้สึก

คำถามคือเราบริโภคสื่อบันเทิงเพราะอะไร? เอาจริงๆ ในมุมหนึ่งเราบริโภคอารมณ์ความรู้สึกหรือเปล่า ไม่ว่า อยู่กับก๋ง ลอดลายมังกร จดหมายจากเมืองไทย นิยายกำลังภายในที่เลือกมา มันชวนให้เกิดคำถามว่า ความนิยมต่อวรรณกรรมพวกนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะเรากำลังบริโภคอารมณ์ความรู้สึกที่มีในวรรณกรรมเหล่านี้หรือไม่ ถ้าเราอ่านระหว่างบรรทัดดีๆ หรือเราอ่านแบบไม่ใช่วิเคราะห์เอาเหตุผลที่อยู่ในวรรณกรรม แต่อ่านเพื่อคิดว่าในวรรณกรรมมันมีชีวิตของตัวมันเอง มีชีพจรของตัวเอง และมีอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองที่ถูกสร้างขึ้นในแต่ละสมัย บางทีการแกะเอาอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ในวรรณกรรมพวกนี้ น่าจะทำให้เราเห็นอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่สัมพันธ์กับวรรณกรรมเหล่านี้ได้

 

: อยู่กับก๋ง – ลอดลายมังกร สองเล่มคลาสสิกที่เล่มนี้ก็พูดถึง

อยู่กับก๋ง – ลอดลายมังกร ผมเห็นภาพความต่อเนื่องอะไรที่มันคล้ายๆ กัน บางทีเราไปเข้าวัด เราเห็นป้ายติดตามต้นไม้อย่าง ‘การตื่นเช้าเป็นกำไรของชีวิต’ พออ่านเรื่อง อยู่กับก๋ง วันหนึ่งเราตื่นสายเรารู้สึกผิดเลย อยู่กับก๋ง กำลังบอกเราว่า ถ้าคุณเป็นคนจีนในไทย คุณต้องขยันขันแข็งทำงานแบบเสื่อผืนหมอนใบหรือเปล่า เพราะท้ายที่สุดคุณจะประสบความสำเร็จ เหมือนในตอนจบของเรื่อง เขาไม่ได้บอกว่าหยกจะเป็นเพชร แต่เขาให้แสงสว่างปลายทางข้างหน้าว่าหยกจะประสบความสำเร็จแน่ๆ

ส่วน ลอดลายมังกร เล่าเรื่อง ‘อาเหลียง สือพาณิชย์’ จากกรรมกรแบกหามจนประสบความเร็จ เป็นเจ้าสัวมีกิจการใหญ่โต เราจะเห็นการเล่าถึงความขยันในการสร้างเนื้อสร้างตัว การทำงานอย่างขันแข็ง พออ่านนิยายพวกนี้ เราจะจับความรู้สึกอะไรบางอย่างได้ คือถ้าคุณไม่เป็นอย่างตัวเอกในละคร คุณจะรู้สึกผิดใช่ไหม ถ้าไม่เป็นแบบนั้นแล้วฉันเป็นคนจีนในไทยหรือเปล่า ถ้าฉันเป็นลูกจีน ฉันต้องอ่านหนังสือ ฉันต้องเรียนหนังสือให้ได้ บางทีคนรุ่นหนึ่งรู้สึกกดดันด้วยซ้ำ ฉันเป็นลูกคนจีนในไทย แต่ฉันไม่ได้เป็นหมอ ทำยังไงดี ฉันทำให้ครอบครัวเสียใจไหม ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มันมีระบอบอารมณ์บางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกผิด

สิ่งที่ผมจะคุยไปถึงก็คือการกระทำของ ‘มนุษย์’ มันเป็นเรื่องเหตุผลหรือจริงๆ มันเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่มากำกับให้เราทำหลายๆ อย่าง โดยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม มันมีระบอบความรู้สึกที่เข้ามากำกับเราเกือบตลอดเวลา ว่าเราทำอะไรได้ เราทำอะไรไม่ได้ แล้วเราจะรู้สึกยังไง ถ้าเราทำในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ

: ความยากง่ายในการสกัดมวลความรู้สึกออกมาจากหลักฐาน

ผมคิดว่ายากนะ แต่มันเป็นการทดลองและผมรู้สึกสนุกที่ได้ทำงานบนพื้นที่ใหม่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก คือเวลาอ่านหลักฐาน นักประวัติศาสตร์ในโลกวิชาการไทยส่วนมากจะพูดถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ประหนึ่งว่า มันมีความเป็นวิทยาศาสตร์ในแบบหนึ่ง งานประวัติศาสตร์ความรู้สึกในโลกวิชาการนานาชาติก็ถกเถียงกับการศึกษาประวัติศาสตร์ที่อ่านหลักฐานในแบบเดิมๆ ว่าเราลองทดลองแบบนี้ได้ไหม ลองอ่านเพื่อดูอารมณ์ความรู้สึก แทนที่เราจะอ่านอย่างตรงไปตรงมา วิพากษ์มันในบริบทที่เขียนอย่างเดียว

 

: ทำไมถึงต้องอ่านเล่มนี้

เป็นจีนเพราะรู้สึก จะทำให้เราเริ่มตั้งคำถามว่า ถ้าคุณเป็นคนจีนในไทย คุณถูกระบอบอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างกำกับมาบอกให้คุณต้องทำอะไรอยู่หรือเปล่า แล้วบางทีคุณก็ยึดติดกับอันนั้น จนมองไม่เห็นว่าจริงๆ แล้ว ความรู้สึกเป็นจีนในสังคมไทย มันพัฒนาตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ และมันน่าจะมีที่ทางที่ทำให้เราได้สัมพันธ์กับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ผ่านความเห็นอกเห็นใจ ความรู้สึกต่างๆ ได้มากขึ้น

 

: สามคำสำหรับเล่ม “เป็นจีนเพราะรู้สึก”

ผมคิดว่าผม “เขียน เพราะ รู้สึก”

ถ้าคุณจะอ่านก็ “อ่าน เพราะ รู้สึก” •

 

ชวน “อ่านเพราะรู้สึก” ไปด้วยกันใน เป็นจีนเพราะรู้สึก : ประวัติศาสตร์เสื่อผืนหมอนใบที่เพิ่งสร้าง Pre-Order ในราคาพิเศษ พร้อมส่งฟรี! วันนี้-4 กุมภาพันธ์ 2566 ที่เว็บไซต์ www.matichonbook.com