คุยกับทูต | นาเกช ซิงห์ อินเดีย มหาอำนาจเกิดใหม่ (3)

ปี 2022 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ไทยและอินเดียมีสัมพันธภาพทางการทูตครบรอบ 75 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 1947 ที่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

สัมพันธไมตรีของประเทศทั้งสองเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความแน่นแฟ้นเป็นลำดับด้วยความใกล้ชิดและความจริงใจที่มีต่อกัน อันมีรากฐานมาจากความเชื่อมโยงทางศาสนาและวัฒนธรรมของประชาชนทั้งสองประเทศ

การเฉลิมฉลองอันยาวนานจึงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

มีการจัดกิจกรรมหลายรูปแบบเกิดขึ้น ได้แก่ การเปิดตัวตราสัญลักษณ์ครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินเดีย โดยกระทรวงการต่างประเทศไทย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ณ ไอคอนสยาม

ทำเนียบเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย

นิทรรศการภาพวาดร่วมสมัยไทย-อินเดีย โดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี และสภาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมแห่งอินเดีย ณ Lalit Kala Akademi กรุงนิวเดลี

นิทรรศการ “เปิดเส้นทางสังเวชนียสถานตามรอยพระพุทธบาท ดินแดนพุทธภูมิ” ณ ศูนย์การค้าดิเอ็มควอเทียร์กรุงเทพฯ

ไทย-อินเดีย ลงนามโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม จัดนิทรรศการกระตั้วแทงเสือ สานสัมพันธ์ไทย-อินเดียครบ 75 ปี 22 ธันวาคม 2022-11 มกราคม 2023 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เป็นต้น

เอกอัครราชทูตอินเดียประจำราชอาณาจักรไทย นายนาเกช ซิงห์

นายนาเกช ซิงห์ (Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำราชอาณาจักรไทย เล่าว่า

“ผมมาถึงเมืองไทยปลายเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ก็ได้ไปเยือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากเรามีกิจกรรมทางวัฒนธรรม ดนตรีอินเดียที่นั่น เนื่องในวาระ 150 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสอินเดียในฐานะยุวกษัตริย์ และในวาระ 75 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอินเดีย”

กิจกรรมดังกล่าว ได้แก่

การแสดงคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิคอินเดีย “Maitree Sangeet (ไมตรีสังคีต)” การบรรเลงพิณสิตาร์-สโรท ประกอบกลองตัพลา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน 2022 ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นิทรรศการ “150 ปี ยุวกษัตริย์พระปิยมหาราชประพาสอินเดีย” ระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน-9 ธันวาคม 2022 ณ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ได้ไปบรรยาย และพูดคุยกับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับสถานทูตของเรา และหลังจากนั้นไม่นาน ก็ไปร่วมการสัมมนาที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)”

“เท่ากับว่า ได้ทำหน้าที่หลายรูปแบบเมื่อโยกย้ายมาอยู่ที่นี่ได้เพียง 15 วันเท่านั้น”

สถานทูตอินเดียจัดงานฉลองวัน #WorldHindiDay โดยมีชาวอินเดียพลัดถิ่น นักวิชาการ และผู้ชื่นชอบภาษาฮินดีในไทยเข้าร่วมงาน

ด้านความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-อินเดีย

“การค้าทวิภาคี มีมูลค่าเพียง 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่ดีพอในมุมมองของผมที่ควรจะเป็น 30 พันล้านเหรียญ และไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 5 ของอินเดียในอาเซียน ผมจึงต้องการให้ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 เช่นเดียวกับที่ไทยมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

“เราจำเป็นต้องเน้นในด้านเศรษฐกิจและการค้า ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเชื่อมโยงระหว่างประชาชนต่อประชาชนที่รวมถึงการท่องเที่ยว นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมอยากให้คนรุ่นใหม่คือ เยาวชนไทยได้ รู้จักอินเดียให้มากขึ้น ทั้งๆ ที่ประเทศของเราใกล้กันมากเพียงกั้นด้วยอ่าวเบงกอล”

“ในปีนี้ เรามีแผนจัดงานแสดงสินค้าจากการนำของคณะผู้แทนการค้าจากอินเดียหลายภาคส่วน เป็นการจัดระเบียบนักธุรกิจ ผู้ซื้อ ผู้ขายมาพบปะกัน ตอนนี้เรากำลังเลือกประเภทธุรกิจต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น”

สถานทูตอินเดียจัดงานฉลองวัน #WorldHindiDay โดยมีชาวอินเดียพลัดถิ่น นักวิชาการ และผู้ชื่นชอบภาษาฮินดีในไทยเข้าร่วมงาน

“ในด้านวัฒนธรรม เป็นการร่วมกับสภาวัฒนธรรมแห่งอินเดีย ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือในด้านการดนตรี การเต้นรำ และการละคร”

“นอกจากนี้ จะเป็นการจัดเทศกาลภาพยนตร์อินเดียดีๆ ที่ไม่ใช่แค่ ‘บอลลีวูด’ เท่านั้น”

บอลลีวูด ไม่ได้หมายถึงหนังอินเดียทั้งหมด เพราะยังมีหนังภาษาอื่นๆ อยู่ในประเทศอินเดียอีกมากมาย และที่กำลังสร้างความฮือฮาอยู่ในขณะนี้ก็คือหนัง ตอลลีวูด ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ที่หมายถึงหนังภาษาเตลูกูที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดของประเทศ แม้จะไม่ได้โรงฉายมากนัก คือเข้าฉายเพียงไม่กี่ร้อยโรงภาพยนตร์ แต่กลับขายตั๋วได้อย่างถล่มทลาย

“เรากำลังวางแผนที่จะทำกิจกรรมนักศึกษา เช่น สัปดาห์แห่งอินเดีย Special India Week ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ”

“นอกจากนี้ เรายังเตรียมจัดนิทรรศการทางพุทธศาสนาที่นี่เพื่อให้มีการสัมมนาพูดคุยเกี่ยวกับชาวพุทธในอินเดีย”

“ปัจจุบัน ประเทศไทยรับตำแหน่งประธานบิมสเทค (BIMSTEC) สำหรับวาระปี 2022-2023 เพื่อนำอนุภูมิภาคเบงกอลสู่ความมั่งคั่ง ยั่งยืน และเปิดกว้างสู่โอกาส ทั้งในการคมนาคม ขนส่ง และเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างสองมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก”

บิมสเทค เป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ริเริ่มโดยไทย ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย เมียนมา เนปาล และภูฏาน เพื่อต้องการให้อนุภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ

ทูตอินเดียร่วมงานเปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการน้ำและสุขาภิบาล ซึ่งได้รับทุนสนุนจากมูลนิธิบิลล์แอนด์เมลินดาเกตส์ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

การสร้างสมดุลชีวิตของท่านทูต

“ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมมักพาลูกสาวอายุ 14 ปีไปชมรอบๆ กรุงเทพฯ ส่วนลูกชายอายุ 22 ปี ไม่ได้อยู่ที่นี่ ตอนนี้อยู่ที่นครนิวยอร์ก สำหรับผมไม่ได้เล่นกอล์ฟ แต่ก็คิดว่าจะเริ่มเล่นกอล์ฟที่นี่ งานอดิเรกของผมคือการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และการเดินทางไปชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ”

มุมมองทางด้านการทำงาน วัฒนธรรมและการใช้ชีวิตในประเทศไทย

“ทุกอย่างง่าย เพราะผมคิดว่าความสัมพันธ์ของเรานั้นดีมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้คน หรืออาหาร วัฒนธรรม ประเพณีที่คล้ายคลึงกัน ทำให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานร่วมกันได้อย่างมากมาย ทั้งในด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ ความมั่นคงทางทะเล อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือและการฝึกอบรมด้านความมั่นคงไซเบอร์ เป็นต้น”

เราอำลาท่านทูตจากทำเนียบหลังใหม่อันโอ่อ่านำสมัยมาด้วยความคิดคำนึง

จากประเทศที่มีจำนวนประชากรยากจนมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก กลายมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก

เป็นประเทศที่เดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และสามารถประสบความสำเร็จในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์

ประเทศที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักหลังปี 2008 แต่เศรษฐกิจกลับมาเติบโตและฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และเพิ่มความร่วมมือเข้ามาในภูมิภาคนี้อย่างมาก โดยผ่านนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

จากความต่างทั้งทางด้านชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม แต่ระบอบประชาธิปไตยอินเดียโอบรับความหลากหลาย และเข้มแข็งได้ก็ด้วยมีกติกาที่ไม่เคยถูกล้ม นั่นคือรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดที่มีเพียงการแก้ไขเท่านั้น

อิสรภาพ 75 ปีที่ผ่านมา อินเดียไม่เคยมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น

เป็นดินแดนแห่งความเหลือเชื่อ สมดั่งสโลแกน ‘Incredible India’ •

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin