ยกเลิกระเบียบทรงผม คือเสรีทรงผมจริง หรือที่จริง ศธ.แค่ปัดรับผิดชอบ?

อีกหนึ่งข่าวดังของวัน ที่นับเป็นจังหวะการเปลี่ยนผ่านอีกขั้นเรื่องสิทธิทรงผมนักเรียนคือข่าวกระทรวงศึกษาธิการแก้ไขปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 หลังยังพบการลงโทษเรื่องทรงผม ได้ส่งผลถึงร่างกายและจิตใจของนักเรียน

แต่ก็ได้รับการถกเถียงอย่างมาก ว่าการยกเลิกกฎดังกล่าว เป็นการยกเลิกอำนาจการควบคุมเรื่องทรงผม ทำให้นักเรียนมีเสรีภาพมากขึ้น หรือจริงๆ เป็นแค่การปัดความรับผิดชอบ โยนอำนาจไปให้โรงเรียนออกกฏเอง ซึ่งอาจจะแย่ยิ่งกว่าเดิม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า ด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้ลงนามในระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 และเสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วออกเป็นหนังสือสั่งการหรือหนังสือเวียน กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนหรือนักศึกษาไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดที่เป็นผู้กำกับดูแลสถานศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไปกำหนดเป็นระเบียบหรือข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง

หลักใหญ่ใจความระเบียบใหม่คือ  การไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ ศธ. จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ โดยสถานศึกษาอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามพันธกิจ บริบท และความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา

“ระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีข้อต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผมว่า นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย และมีข้อต้องห้ามปฏิบัติตน ดังนี้ ดัดผม ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม ไว้หนวดหรือเครา การกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย แต่ต่อไปหลังจากมีการประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียนทั้งหมดจะอยู่ที่สถานศึกษา ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย” น.ส.ตรีนุช กล่าว

แม้จะถูกวิจารณ์ว่า การประกาศยกเลิกกฎดังกล่าวแล้วไฟเขียวให้นักเรียนสามารถไว้ผมสั้น หรือยาวก็ได้  ที่จริงแล้ว เป็นเพียงการโยนภาระการถกเถียงไปที่โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครองและสภานักเรียน เป็นการยกอำนาจเรื่องทรงผมไปให้โรงเรียนแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนด ต่อไปนี้ กระทรวงศึกษาฯไม่เกี่ยว แต่ก็ต้องยอมรับว่าในแง่หนึ่ง ก็เป็นพัฒนาการในมุมที่ดี ที่กระทรวงศึกษายอมกระจายอำนาจการตัดสินใจไปให้แต่ละโรงเรียน แต่มิวาย ถูกตั้งคำถามว่า

ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนข้อความในเฟซบุ๊กแสดงความเห็น ระบุว่า

“จะมีกระทรวงศึกษาไว้ทำไม ถ้าไม่กำหนดมาตรฐานกลางอันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำเกี่ยวกับทรงผมนักเรียน ต่อไปนี้ แต่ละโรงเรียนอาจจะสั่งนักเรียนโกนผมเสียเลยก็ยังได้  ที่ดีที่สุดคือเลิกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับทรงผมทั้งหมด บ้านเราเสียเวลากับเรื่องทรงผมมามากเกินไปแล้ว พอเสียที” 

จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล เขียนข้อความระบุว่า

“แค่ออกคำสั่ง”ห้ามไปยุ่งกับหัวคนอื่น” มันยากนักหรือไง”  และ “อำนาจบนหัวนักเรียนเป็นของนักเรียน ไม่ไช่ของกระทรวง และไม่ไช่ของโรงเรียน”

ด้าน กลุ่มนักเรียนเลว ออกแถลงการณ์ เรื่องดังกล่าวระบุว่า

กฎทรงผมถูกยกเลิกฟ้าผ่า โดยตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในช่วงไม่กี่เดือนก่อนจะเลือกตั้งใหญ่ แต่ภายใต้การยกเลิกกฎทรงผมของตรีนุชพยายามขายฝันนั้น กำลังทำให้หัวของเด็กไทยถูกกลืนกินไปมากกว่าเดิม

จากเหตุการณ์ในวันนี้ที่ ตรีนุช เทียนทอง ได้ลงนามยกเลิกกฎทรงผมของกระทรวงฯ และโยนอำนาจการออกกฎทรงผมไปไว้ที่โรงเรียน แสดงให้เห็นว่าตรีนุช ไม่ได้มีความต้องการที่จะทำให้เสรีทรงผมเกิดขึ้นในโรงเรียน และกำลังพยายามทำให้นักเรียนถูกบังคับตัดผมอย่างหนักหน่วงขึ้น

ที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีกฎทรงผมของกระทรวงฯ บังคับใช้อยู่ แต่หลายโรงเรียนก็ยังบังคับนักเรียนตัดผมเป็นว่าเล่น จนเกิดการต่อสู้เรียกร้องขึ้นมากมาย ในวันนี้ที่กฎทรงผมของกระทรวงถูกยกเลิกไป ยิ่งทำให้โรงเรียนได้ใจและบังคับนักเรียนตัดผมได้อย่างอิสระโดยไร้การควบคุม

เราไม่ควรยินดีกับการยกเลิกกฎทรงผมในครั้งนี้ เพราะสิ่งที่ตรีนุชกำลังทำไม่ใช่ “เสรีทรงผม” แต่คือ “สุญญากาศกฎทรงผม” การกระทำเช่นนี้เปิดทางให้โรงเรียนตั้งกฎทรงผมตามใจชอบ

และถึงแม้จะต้องหาข้อตกลงระหว่างผู้ปกครองกับโรงเรียนเหมือนในกฎที่พึ่งยกเลิกไป แต่สิ่งนี้ถูกขยับมาอยู่ในระดับของนโยบายเท่านั้น ซึ่งโรงเรียนสามารถที่จะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ และที่สำคัญไม่มีคำว่า “กฎทรงผมของโรงเรียนต้องไม่ขัดแย้งกับกฎทรงผมของกระทรวง” ไว้คอยคุ้มกันหัวของพวกเราอีกแล้ว

ในไม่ช้าเราน่าจะเห็นโรงเรียนที่มีผู้บริหารบ้าอำนาจเริ่มนำกฎทรงผมเกรียน-ติ่งกลับมาใช้อีก และในโรงเรียนที่ยังมีกฎแบบนั้นอยู่ก็น่าจะบังคับใช้มันอย่างเข้มข้นขึ้น

โดยรวมการประกาศนี้แทนที่จะสร้าง “เสรีทรงผม” ตามที่ตรีนุชพยายามกล่าวอ้าง กลับกลายเป็นฐานอำนาจในการบงการทรงผมบนหัวนักเรียนไทยให้ทวีความรุนแรงขึ้นยิ่งกว่าเดิม ตรีนุชได้อ้างว่าตนทำให้กฎทรงผมก้าวหน้า แต่ความเป็นจริง สิ่งที่เธอทำคือทำให้กฎทรงผมถอยหลังลงคลองมากกว่า