ถอดบทเรียน ‘แคลิฟอร์เนีย’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ปรากฏการณ์ “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” ที่เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ทำให้มีพายุฝนพัดกระหน่ำ น้ำท่วมใหญ่ มีชาวอเมริกันเสียชีวิตกว่า 20 คน รัฐบาลสหรัฐออกประกาศภาวะฉุกเฉิน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน นิ่งเฉยไม่ได้ต้องบินข้ามทวีปไปดูด้วยตาตัวเอง เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่โลกต้องเรียนรู้

“ไบเดน” ยอมรับว่า สาเหตุที่เกิดมหันตภัยในรัฐแคลิฟอร์เนียคราวนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

มีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำไม “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” จึงถล่มในช่วงระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2565-15 มกราคม ปีนี้ถึง 9 ครั้ง?

เป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบชัดๆ ไม่ได้ รู้เพียงว่า กระแสลมเจ็ตสตรีมหอบแม่น้ำในชั้นบรรยากาศ (atmospheric river) ซึ่งลอยอยู่เหนือหมู่เกาะฮาวายข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกแล้วพุ่งเข้าใส่ชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนียราวกับลูกศร ก่อนปล่อยมวลน้ำมหาศาลลงสู่เบื้องล่าง

ปริมาณน้ำฝนตกลงสู่พื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนียเฉลี่ย 15-20 นิ้ว และเมื่อรวมมวลน้ำทั้งหมดเกิดขึ้นประเมินได้ราวๆ 121,000,000 ล้านลิตร

กลางปีที่แล้วรัฐแคลิฟอร์เนียนเจอวิกฤตภัยแล้ง น้ำในแม่น้ำแห้งขอดต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของปกติ มาปลายปีชาวแคลิฟอร์เนียเจอกระแสลมแรงกว่า 96 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดโค่นต้นไม้ เสาไฟฟ้าล้มระเนระนาด ฝนตกหนัก มวลน้ำไหลหลากท่วมถนนหนทาง การเดินทางหยุดชะงัก น้ำชะดินโคลนทะลักใส่บ้านพังเสียหาย

ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติประเมินว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุกระหน่ำคราวนี้ 8 ล้านคน ความเสียหายตกราวๆ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 33,000 ล้านบาท

พายุเมฆบนน่านฟ้าซานตาครูซ, แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา วันที่ 15 มกราคม 2023 / ภาพจาก REUTERS/David Swanson/File Photo

สหรัฐจับตาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมานานแล้ว

และรู้ว่าทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัตินำไปสู่ความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตผู้คนจำนวนมาก

ไม่ว่าจะเป็นภัยจากพายุเฮอร์ริเคน ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ไฟป่าหรือหิมะถล่ม

แต่ถึงกระนั้นการเตรียมความพร้อมรับมือยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

เหตุที่ยังขาดประสิทธิภาพก็เพราะภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

แม้ประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุแต่ไม่สามารถประเมินได้ว่าความรุนแรงนั้นมีมากขนาดไหน

กรณี “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” ที่เกิดกับรัฐแคลิฟอร์เนีย จึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่เห็นได้ชัดว่า แม้จะเห็นภาพถ่ายทางดาวเทียมว่าทิศทางของพายุฝนพุ่งตรงมายังรัฐแคลิฟอร์เนีย

แต่ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าจะเกิดเหตุอย่างนี้ซ้ำๆ มากถึง 9 ครั้งในช่วงเพียง 3 สัปดาห์ อีกทั้งยังไม่ล่วงรู้ปริมาณของมวลน้ำที่อยู่บนท้องฟ้าว่ามีมากแค่ไหน

 

ภาวะโลกร้อนมีต้นเหตุมาจากชาวโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากจนชั้นบรรยากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และสหรัฐเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซพิษมากที่สุดของโลกรองจากจีน

ในการประชุมว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อนที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 สหรัฐและนานาชาติมีมติเห็นชอบให้ทุกประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อคุมอุณหภูมิผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

แต่ในช่วงนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสทำให้การแก้ปัญหาโลกร้อนหยุดชะงัก

การกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสของรัฐบาลไบเดนเท่ากับยอมรับว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด และสหรัฐจะต้องยื่นมือช่วยชาวโลกลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษเพื่อคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกร้อนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลไบเดนวางแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมือกับภัยพิบัติด้วยการออกกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (In-flation Reduction Act) ใช้วงเงินงบประมาณมากถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยตกประมาณ 132,000 ล้านบาท เพื่อเอาเงินไปใช้กับโครงการประหยัดพลังงาน โครงการพลังงานทดแทน หรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

ทิศทางของรัฐบาลสหรัฐในเวลานี้ต้องการเปลี่ยนผ่านจากยุคพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด

ไม่กี่วันก่อน “จอห์น เคอร์รี่” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลไบเดน ไปพูดบนเวทีเวิร์ลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนไม่ใช่เฉพาะรัฐบาล แต่รวมถึงภาคเอกชน เจ้าของธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม

และภาคประชาชนต้องรวมพลังกันเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังมากกว่านี้

“เคอร์รี่” บอกว่า วันนี้โลกกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ รุนแรงยิ่งกว่าสงครามโลกเสียอีก

“แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” รัฐแคลิฟอร์เนีย

ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามรวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้มากที่สุดและเป็นระบบที่สุด

ข้อมูลที่ได้จากทั่วโลก เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตที่มีการบันทึกไว้ทำให้นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่า อนาคตชาวโลกจะต้องเผชิญกับมหันตภัยจากธรรมชาติมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรง

ตัวอย่างข้อมูลอุณหภูมิในส่วนต่างๆ ของโลกที่ร้อนขึ้นทำลายสถิติเก่าอากาศที่เย็นจัดลงกว่าเดิม หรือปริมาณฝนที่ตกหนักมากกว่าในอดีต

ข้อมูลที่เก็บจากบันทึกของหอสังเกตการณ์ในรัฐฮาวาย เมื่อปี 2501 พบว่าระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกมีเพียง 316 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm : part per million) ปัจจุบันวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 417 ppm หรือเพิ่มขึ้น 30%

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลอยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากขึ้นทำให้เกิดปฎิกิริยาเข้มข้นพลังแรงขึ้น มีผลต่อสภาวะภูมิอากาศโลก ทำให้อากาศร้อน พายุแรง และความชื้นสูง

ข้อมูลชิ้นเล็กๆ อย่างเช่น การเบ่งบานของดอกซากุระในนครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ปลายเดือนมีนาคม ผิดจากเดิมเมื่อ 1,200 ปีที่แล้วที่ดอกซากุระบานเต็มที่ในกลางเดือนเมษายน

ฤดูไฟป่าในสหรัฐมาก่อนเวลา หรือน้ำในทะเลสาบเกรต เลค ที่สหรัฐ จับตัวเป็นน้ำแข็งช้ากว่าเก่าเพราะอุณหภูมิน้ำสูงขึ้น เป็นเหตุให้เกิดหิมะตกหนักขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่าโลกเปลี่ยนไป

ในที่ประชุมเวิร์ลด์ อีโคโนมิกคราวนี้ มีเสียงเรียกร้องให้ชาวโลกเร่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศด้วยการเร่งปรับแนวเศรษฐกิจให้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเร็วขึ้นกว่าเดิม

เช่น เอไอ (AI : Artificial Intelligence) เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology)

เอไอจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านสภาพภูมิอากาศให้เกิดความแม่นยำ เตือนภัยได้ล่วงหน้ากว่าปัจจุบัน กรีนเทคโนโลยีนำไปใช้กับการจัดการด้านเกษตร เช่น ทำปุ๋ยแอมโมเนียไร้พิษ (Green Ammonia) ควบคุมระบบน้ำ ปุ๋ย ให้ผลผลิตสูง ลดความเป็นพิษลง

ส่วนกรีนเทคโนโลยีนั้น จะช่วยสร้างแหล่งพลังงานสะอาดใหม่ๆ มากขึ้น เช่น พลังงานหมุนเวียน พลังงานไฮโดรเจน

ถ้ารัฐบาล ภาคเอกชนทุกประเทศร่วมมือกันผลักดันเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ จะทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน •