รถไฟความเร็วสูงไทยสู่ สปป.ลาว ส่วนเวียดนามเปิด ‘ซาปา’ สู่เมืองท่องเที่ยว

(Photo by various sources / AFP)

ชาตินี้จะประมาทกันไม่ได้…และจะปรามาสชาติเล็กๆ อย่าง สปป.ลาว ไม่ได้ที่ไม่มีทะเลนำสินค้าส่งออก

เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ไทยรู้ดีโลจิสติกส์ สปป.ลาว ก้าวไกลเกินอาเซียนด้วยรถไฟความเร็วสูงสุด 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อมสิบสองปันนากับเวียงจันทน์ 414 กิโลเมตรเพียง 3.15 ชั่วโมง…เริ่มสร้างปี 2552 เสร็จปลายปี 2564

ไทยเพิ่งตื่น…สร้างกับเขาบ้างสายกรุงเทพฯ-หนองคาย 607 กิโลเมตร เชื่อม สปป.ลาว เฟสแรกถึงนครราชสีมา 250 กิโลเมตร เริ่มสิงหาคมปีก่อน กะแล้วเสร็จ 2570 เฟสสองถึงหนองคาย 357 กิโลเมตร สำรวจออกแบบแล้วอยู่ขั้นตอนพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดจะบริการได้ปี 2572 หรืออีก 6 ปีโน่น

เวียดนามพี่เบิ้ม สปป.ลาว จะสร้างตั้งแต่ปี 2006 หรือ 2549 ก่อนสหายลาว ใช้เงิน 56,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.99 ล้านล้านบาท แต่ปีนั้นบ่จี๊ที่จะลงทุนเบ้อเร่อขนาดนั้น และเกรงจะไม่คุ้มกับค่าโดยสารแพง เพราะคนเวียดนามเมินแน่ในภาวะเศรษฐกิจบ้านเมืองอ่อนแอ

พอปี 2565 เกิดความคิดจะ “แบ๊ก ออน เดอะ เอเจนดา” ด้วยเงินทุน 58,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2 ล้านล้านบาท เข้าภาษิต “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” เพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากเหนือคือฮานอยจดใต้โฮจิมินห์ซิตี้ 1,545 กิโลเมตร เฟสแรก 665 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จปี 2575 หลังไทย ที่เหลือบริการได้ปี 2588 หรือ 2593 นู้น

นี่คือตัวอย่างการพัฒนาโลจิติกส์ระบบรางของ 3 ประเทศลุ่มน้ำโขง ที่ สปป.ลาว กับพี่เบิ้มเวียดนามและพี่ใหญ่ไทยขับเคลื่อนขณะนี้

 

เมนต์นี้เป็นมิติระหว่างไทยกับเวียดนาม…หลังลุงโฮสวมบท “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” สำเร็จ ขับไล่พญาอินทรีแล้วตกผลึกรวม 2 เวียดนามเป็นหนึ่งเดียว จัดการสร้างบ้านแปงเมืองทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าการลงทุนในและนอกประเทศอย่างรวดเร็ว เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจซึ่งอับเฉานานปีให้ฟื้นคืนมา

ยามนั้นไทยจับจ้องเวียดนามขณะเปลี่ยนสนามรบสู่สนามการค้าตาไม่กะพริบ โดยเฉพาะเรื่อง “ท่องเที่ยว” ที่บ้านเรากำลังมาแรง…แต่เมื่อเวียดนามจะร่วมปันเค้กก้อนเดียวกัน แน่นอน! ที่เราจะชะล่าใจไม่ได้ เพราะเพื่อนมีสินค้าดิบๆ พร้อมขายหลังร้างตลาดร่วม 19 ปีครึ่ง

ผู้บริโภคในตลาดโลกย่อมสนใจให้ความสำคัญกับตลาดเก่าเปิดใหม่มากกว่าสินค้าเดิมๆ ไทยถึงรีบงัดกลยุทธ์ “THAILAND Gateway To Indochaina” ขึ้นมาใช้ โดยชวนคนมาเที่ยวไทยก่อนออกไปเที่ยวอินโดจีน แล้วย้อนกลับมาบินที่ไทยซึ่งเป็น “ฮับ” การบินขณะนั้น

ไม่นานเวียดนามส่อแววเป็นคู่แข่งท่องเที่ยวสำคัญกับไทยมากขึ้น จากการเป็นนักการค้าสายเลือดบ๋าว ดั่ย ให้คิดดูตอนไทยเปิดบ้านหลังโควิดกระหน่ำยกแรก ทัวร์ญี่ปุ่นจองตั๋วเครื่องบินมาเที่ยวไทยไม่ได้มีปัญหา เพราะไทยจองไปกลับทัวร์ญี่ปุ่นเต็มหมดทุกเที่ยวบิน

สายการบินเอกชนเวียดนามไม่รอช้ารีบฉวยวิกฤตเป็นโอกาส ทำตลาดชวนคนญี่ปุ่นมาเที่ยวเวียดนามแทน ชูจุดขายภาคใต้โฮจิมินห์ซิตี้เมืองสีสันสวรรค์นักช้องปิ้ง ภาคกลางดานังเมืองตากอากาศเทียบพัทยา-หัวหิน ภาคเหนือฮานอยบรรยากาศไม่ต่างเชียงใหม่-เชียงราย

นี่คือเชิงชั้น…การใช้เทคนิคการขายของเซลส์แมนซอฟต์เพาเวอร์ท่องเที่ยวตัวจริง

 

สรุปปีที่เพิ่งผ่านมาไทยมีต่างชาติเพียง 11.5 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิดพ่นพิษมีเกือบ 40 ล้านคน ปีเดียวกันเวียดนามมี 18 ล้านคน ปีที่แล้วเหลือ 5 ล้านคน…มาดูทิศทางตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศของเวียดนาม ปีนี้ค่อนข้างชัดเจนที่ชูจุดขาย “ซาปา” จังหวัดหล่าวกาย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างกรุงฮานอยเมืองหลวง 380 กิโลเมตร เป็นเป้าหมาย

ซาปาเป็นเมืองในหุบเขา “ฟานซีปัง” ภูเขาสูงที่สุดในเวียดนามคือ 3,143 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และมีภูเขา “ฮวงเหลียนเซิน” ตอนปลายสุดทางตะวันออกหิมาลัยอยู่ละแวกเดียวกัน มันช่างมหัศจรรย์เสียจนจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสเคยใช้เป็นแหล่งพักผ่อนตากอากาศ ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 21 องศาเซลเซียส และต่ำสุด 0 องศาเซลเซียสมีหิมะโปรยปรายบ้างเล็กน้อย

อาคารบ้านเรือนยุคนั้นบางส่วนจึงถูกปลูกสร้างโคโลเนี่ยนสไตล์สถาปัตยกรรมทรงชิโน-โปรตุกีส จะว่างามก็ใช่ จะว่าปวดร้าวเจ้าของแผ่นดินเกิดก็ถูก แต่ก็แปลกตากับคนมาเยือน

ซาปามีเรื่องเล่าอีกว่า…อาณาเขตส่วนหนึ่งติดพรมแดน “เหอโซ่ว” ของจีน เมื่อคราวเวียดนามกู้ชาติจากนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสกับนักบุญอเมริกันเกเร ช่วงนั้นจีนนี่แหละสนับสนุนเงินและอาวุธให้เวียดกงไปทำสงครามกองโจร จนใกล้สำเร็จเวียดนามกลับหันไปคบรัสเซียเสียนี่

จีนโกรธและงอนประกาศปิดพรมแดนด้านใต้ติดตอนเหนือเวียดนามอยู่พักใหญ่ เส้นทางรถไฟที่จีนสร้างมาจ่อคอหอยเวียดนามก็ถูกยกเลิกเพราะแค้นเคือง กว่าทศวรรษจีนหายโกรธและงอน อาการเริ่มดีขึ้นจนถึงวันนี้…

แต่ไม่รู้ทางรถไฟมิตรภาพจีน-เวียดนามไปถึงไหน?

 

ซาปาเมืองกลางหุบเขาเล็กกระจิ๋วหลิว มีประชากร 36,000 คนอาศัยอยู่บนความสูงเฉลี่ย 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นคน “เวียด” เรียกตัวเอง “คิ้นห์” 15% ม้งมากหน่อย 52% อพยพจากจีนโดยมีเย้า ชาวไต ตามมา และทำนาขั้นบันไดกับปลูกพืชผักผลไม้บนที่ลาดภูเขาเป็นอาชีพ

การคมนาคมคนเมืองนี้กับเมืองหลวง มีเส้นทางสาย 4 ดี. ลดเลี้ยวไปบนภูเขาที่แคบให้รถแล่นสวนทางกันได้ 2 คัน อันตรายและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กับอีกทางคือโดยสารรถไฟแล่นทั้งคืนไปสว่างเช้าที่สถานีหล่าวกาย แล้วต่อรถยนต์ไปอีก 30 กิโลเมตรถึงซาปา

ด้วยศักยภาพของดินแดนซึ่งมีธรรมชาติป่าเขาสมบูรณ์ สภาพแวดล้อมไร้มลพิษ รัฐบาลโดยท้องถิ่นได้ลงมือพัฒนาเส้นทางสาย 4 ดี. เพื่อเปิดซาปาเป็นเมืองท่องเที่ยว ด้วยการสร้างสะพานลอยฟ้า “หมอง เส็ง” สูงจากเนินเขาพื้นล่าง 83 เมตร สูงที่สุดในเวียดนามขณะนี้ สะพานนี้เชื่อมภูเขา 2 ลูกบนฐานตอม่อรองรับแนวสะพานตรงดิ่ง 612 เมตร เช่น โมเดลจีนที่ออกแบบก่อสร้างไฮเวย์คร่อมเทือกเขาไปทั่วประเทศ เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง

เบื้องล่างเป็นที่ราบกลางหุบเขามีแม่น้ำไหลผ่าน และเป็นที่ตั้งสถานีพลังงานไฟฟ้า กับบางส่วนจัดระเบียบให้นักท่องเที่ยวลงไปถ่ายรูปเซลฟี่มีภูมิทัศน์ทิวเขาเป็นแบ๊กกราวด์ ซึ่งผู้บริหารเมืองซาปายืนยันว่า… “จะใช้จุดนี้เป็นไฮไลต์สำคัญสำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวสู่ซาปา”

ซาปาจึงนับเป็นเมืองท่องเที่ยวประเภทวิถีชุมชนท่ามกลางแวดล้อมสดใส ผู้คนชนเผ่ารู้รักษ์เอกลักษณ์ตนเอง แถมบรรยากาศช่างเหมาะสมบนเทือกเขาสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลุ่มรักธรรมชาติและชีวิตชุมชน นิยมวอล์กอินเข้าไปท่องเที่ยวเชิงหาประสบการณ์

คือได้ดูแปลงนาขั้นบันไดกับร่องพืชผักผลไม้กลางเทือกเขา “ฟานซีปัง” และภูเขา “ฮวงเหลียนเซิน” กับชนเผ่าม้ง “บ้านกั๊ด กั๊ด” ซึ่งอยู่ห่างราว 3 กิโลเมตร โดยที่ผ่านมาบริษัทนำเที่ยวไทยมีโปรแกรมขายบริการนำเที่ยวเป็นประจำ ไปฮานอย ฮาลองเบย์ สู่แดนมหัศจรรย์ซาปา ซึ่งมีสะพานลอยฟ้า “หมอง เส็ง” ช่วยย่นระยะทางซาปา-ฮานอยได้ระดับหนึ่ง

เห็นแล้ว…ให้ตายสิ! อดคิดถึง “ปาย” แม่ฮ่องสอน กับ “บ่อเกลือ” น่าน ไม่ได้ ที่ถูกมองว่ากำลังก้าวเดินหลงทิศหลงทาง…เวียดนามคงไม่ปล่อยให้ซาปาเป็นเช่นนั้นแน่ ถ้าจะขายท่องเที่ยววิถีชุมชนแบบยั่งยืน?