คุยกับทูต | นาเกช ซิงห์ อินเดีย มหาอำนาจเกิดใหม่ (2)

“ดังนั้น อีกประมาณ 10 ปี อินเดียจะเป็นตัวแสดงสำคัญของโลก แม้ว่าเรายังมีความท้าทายทางสังคมและเศรษฐกิจอีกมาก เช่น มีประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน มีปัญหาการไม่รู้หนังสือ ปัญหาการเสริมสร้างศักยภาพและพลังของสตรี”

นายนาเกช ซิงห์ (Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำราชอาณาจักรไทย เล่าถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของอินเดีย

“เราเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรามีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 900 ล้านคน ผมหมายถึงเหมือนทวีปซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นสามเท่าของสหภาพยุโรป และในทุกๆ ห้าปี จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล นั่นคือเราจะได้ลงคะแนนเสียงกันทุกๆ ห้าปี”

“การเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2019 ชาวอินเดียผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงมีประมาณ 912 ล้านคน จากประชากรอินเดียทั้งหมด 1,340 ล้านคน ผู้ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงมีมากกว่าร้อยละ 67 ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน รัฐธรรมนูญของเราแข็งแกร่งมาก เป็นรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เมื่อใดประชาชนถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรอง ประชาชนสามารถยื่นฟ้องต่อศาลสูงสุดได้”

“ประชาชนไม่สามารถถูกเลือกปฏิบัติจากสิทธิในความเสมอภาค ต่อชีวิต เสรีภาพ ความยุติธรรม ฯลฯ”

นาย นาเกช ซิงห์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำราชอาณาจักรไทย

เมื่อไม่นานมานี้ อินเดียได้รับช่วงเป็นประเทศประธานหมุนเวียนของกลุ่ม G 20 อย่างเป็นทางการต่อจากอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ปี 2022 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 2023

“เรามีคำขวัญในการประชุมสุดยอด กลุ่ม G 20 ครั้งต่อไป ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดียในเดือนกันยายนปีนี้ (2023 G20 Delhi summit) คือ “โลกใบเดียว หนึ่งครอบครัว หนึ่งอนาคต” (One Earth, One Family, One Future) เป็นวาระระดับโลกของการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน ในแง่ที่ว่าต้องให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน และประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุด 20 ประเทศไม่ควรที่จะเติบโตแล้วปล่อยให้ประเทศอื่นอยู่อย่างล้าหลัง”

การเป็นประธาน G 20 ทำให้อินเดียได้รับโอกาสพิเศษในการรับผิดชอบวาระระดับโลกที่เกี่ยวกับประเด็นที่เป็นปัญหาเร่งด่วนและมีความสำคัญระดับนานาชาติ

G 20 เป็นการประชุมที่มีความสำคัญมากและจัดขึ้นเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่คิดเป็นประมาณร้อยละ 85 ของจีดีพีโลก มากกว่าร้อยละ 75 ของการค้าโลกและประมาณสองในสามของประชากรโลก

ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ประธาน G 20 อินเดียจะจัดการประชุมกว่า 200 การประชุม ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ 32 ภาค ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศอินเดีย

การประชุมสุดยอด G 20 ที่จะจัดขึ้นในปี 2023 นี้ จะเป็นหนึ่งในการประชุมระหว่างประเทศระดับสูงที่สุดที่อินเดียเป็นเจ้าภาพ

“อินเดียไม่ลังเลที่จะวางผลประโยชน์ของตนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ไว้ข้างหน้า อินเดียต้องการเห็นความเป็นผู้นำร่วมกันในการจัดการกับปัญหาระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร ภัยคุกคามความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เป็นต้น”

ผู้นำอินโดนีเซีย-ประกาศปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ-พร้อมกับยื่นค้อนประธานให้แก่นาย นาเกช ซิงห์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำราชอาณาจักรไทย

เอกอัครราชทูต นาเกช ซิงห์ กล่าวว่า

“ในการประชุม G 20 ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นายนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้เน้นลำดับความสำคัญของ G 20 ว่าจะมีการปรึกษาหารือกับพันธมิตร G 20 และพันธมิตรประเทศโลกใต้ (Global South) ซึ่งเราแทบไม่ได้ยินเสียงจากพันธมิตรกลุ่มนี้”

“เราจะสนับสนุนให้มีการพูดคุยอย่างจริงใจในระหว่างประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุด เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงที่เกิดจากอาวุธทำลายล้างสูงและเสริมสร้างความมั่นคงของโลก”

“ในฐานะประเทศประธาน G 20 อินเดียจะสานต่อวาระการประชุมจากที่ได้รับ หรือที่เลื่อนออกไปในบางกรณีจากการประชุมสุดยอดครั้งก่อนที่บาหลี อินโดนีเซียซึ่งมีความชัดเจนใน 3 ด้าน ได้แก่ ระบบสุขภาพโลก การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล แน่นอนว่าเป้าหมายทั้งสามนี้จะรวมอยู่ในวาระการประชุมของอินเดีย”

“จากสถานการณ์ปัจจุบันของโลกที่ถูกครอบงำโดยการแข่งขันของมหาอำนาจควบคู่ไปกับการกระทำและนโยบาย ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น อินเดียจึงต้องการส่งเสริมเสียงของ Global South ที่ถูกเพิกเฉย ด้วยเหตุนี้ นิวเดลีจึงปรารถนาที่จะเห็นความรับผิดชอบร่วมกันและการมีส่วนร่วมมากขึ้นจากดินแดนในส่วนอื่นๆ ของโลก”

นโยบายต่างประเทศของอินเดียยังคงต้องการสร้างและรักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจ รวมถึงชาติพันธมิตรอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่ออินเดีย ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย สหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งยุโรป

แม้ว่าอินเดียจะเป็นแกนนำสำคัญของ ‘กลุ่มเคลื่อนไหวไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ (Non-alignment movement) ในช่วงสงครามเย็น เพื่อพยายามรักษาสมดุลกับมหาอำนาจทั้งสองของโลก

ในขณะเดียวกันก็พยายามปลีกตัวเองออกจากปัญหาความขัดแย้งในระบบระหว่างประเทศเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาภายในประเทศ

เอกอัครราชทูตนาเกช ซิงห์ ประชุมหารือกับซีอีโอและผู้นำธุรกิจของบริษัทอินเดียในไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างอินเดียและไทย

ไทยกับอินเดียในความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

มีหลักฐานว่าการค้าไทย-อินเดียเริ่มต้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังสยามกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ไปจนถึงการค้ากับบริษัท East India Company ในสมัยอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการอพยพไปไทยของบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายอินเดียในปัจจุบัน

การค้าไทย-อินเดียในยุคสมัยปัจจุบัน มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ไทยและอินเดียลงนามความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน รวมถึงความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย อย่างไรก็ดี การค้าไทย-อินเดียยังถือว่ามีโอกาสที่ขยายตัวได้อีกมาก

ปี 2020 อินเดียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สิงหาคม 2021)

เอกอัครราชทูต นาเกช ซิงห์ ต้อนรับคณะกองทัพอากาศอินเดียที่สนามบินอู่ตะเภา

“ด้านการลงทุน มีบริษัทอินเดียมาลงทุนในไทยจำนวนมาก ได้แก่ กลุ่มบริษัททาทา ซึ่งลงทุนทั้งในธุรกิจยานยนต์ (Tata Motors) ธุรกิจเหล็ก (Tata Steel) ธุรกิจไอที (Tata Consultancy Services) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทใหญ่อื่นๆ อาทิ Indorama, Aditya Birla, NIIT, Kirloskars Brothers และ Punj Loyd ที่เข้ามาลงทุนในไทยด้วย”

ในส่วนของการลงทุนไทยในอินเดีย แม้บริษัทไทยยังเข้าไปลงทุนในอินเดียไม่มากนัก แต่มีบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ซีพี อิตาเลียน-ไทย ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ บ้านพฤกษา และไทยออโต้ซัมมิท ที่เข้าไปลงทุนในอินเดีย

เศรษฐกิจของประเทศอินเดียเติบโตอย่างมั่นคงมากในช่วงหลายปีมานี้ เป็นประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 มีขนาดพอๆ กับขนาดเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส อดีตมหาอำนาจเศรษฐกิจของโลก โดยอินเดียมุ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก (manufacturing hub) ควบคู่กับนโยบาย Make in India

หากเศรษฐกิจของอินเดียยังคงเติบโตในอัตราประมาณ 6% เหมือนในช่วงที่ผ่านมา ภายในปี 2027 อินเดียจะมีขนาดเศรษฐกิจแซงเยอรมนีและญี่ปุ่น ขึ้นสู่อันดับ 3 ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจและตลาดหุ้นใหญ่ที่สุดในโลก (Morgan Stanley, Nov 8 2022) •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน Chanadda Jinayodhin