หมอพรทิพย์กับขวบปีสุดท้าย ภายใต้หมวก ส.ว. ขอไม่ใช้อำนาจเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้ง?

“ถ้าไม่ได้เป็น ส.ว. อยากให้คนเห็นว่า หมอเป็นคนไทยที่ภูมิใจที่เป็นคนไทย ที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และอยากเป็นคนไทยที่คอยเก็บเศษแก้วแตกของสังคม”

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา เปิดใจกับ “มติชนสุดสัปดาห์” ถึงวาระการเมืองและเรื่องราวที่อยู่ในใจตลอดการทำหน้าที่ ส.ว.ที่ผ่านมา

 

ปฏิรูปล้มเหลว?

หมอพรทิพย์มองการปฏิรูปประเทศในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ ที่ประชาชนสงสัยว่าทำไมถึงยังไม่สามารถปฏิรูปได้สักทีว่าอาจเป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้มีการกำหนดประเด็นให้ชัดเจนว่าจะปฏิรูปองค์กร หรือปฏิรูปการทำงานด้านการอำนวยความยุติธรรมอย่างไร

สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ การปฏิรูปการทำงานของตำรวจในงานยุติธรรม แต่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ซึ่ง พ.ร.บ.ตำรวจกลับเป็นการมุ่งไปที่ปฏิรูปองค์กรแทน ซึ่งเมื่อได้เข้ามาทำงานในคณะกรรมาธิการ พอได้เข้าไปสัมผัสจริงๆ จะรู้เลยว่าการปฏิรูปองค์กรของตำรวจนี้ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

โดยเฉพาะที่เราเห็นชัดตอนนี้เลยคือ ตำรวจมีส่วนร่วมกับฝ่ายการเมืองมากเกินไป ทำให้เขาไปสนใจแต่เรื่องพวกพ้องการขึ้นตำแหน่ง และ พ.ร.บ.ที่ออกมาก็ไม่ตอบโจทย์ มีกระบวนการทางการเมืองเข้าไปแทรกแซง และปัญหาการรวมศูนย์อำนาจของตำรวจไว้ที่จุดเดียวก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไข ผลที่ตามมาคือเกิดการวิ่งเต้นเพื่อขอขึ้นตำแหน่งของตำรวจ ยังไม่ยอมแบ่งอำนาจ ยังคงไปรวมศูนย์อยู่ที่ ผบ.ตร. จึงไม่มีวันที่จะสามารถแก้ปัญหาได้

ผลที่ตามมาคือระบบการจ่ายส่วยก็เกิดขึ้นตามมา ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่ากระบวนการเหล่านี้ยังไม่ถูกแก้ไข จนถูกมองว่าเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา เราจึงไม่เห็นผลการปฏิรูปสักที

ซึ่งต้องบอกตามตรงว่ามีผู้คอยบังคับผู้บริหารในระดับรัฐบาลอยู่ว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ และคนเหล่านี้ก็เป็นตำรวจเก่าๆ ทั้งนั้น

เดิมทีเรามีความตั้งใจเรื่องการปฏิรูปงานในระบบยุติธรรม เนื่องจากเราเคยทำงานในกระบวนการยุติธรรม แต่เมื่อเราเข้ามาก็พูดตรงๆ ว่าไม่มีวันทำได้ เพราะโครงสร้าง ส.ว.ที่ถูกแบ่งเป็น กมธ.กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจมีคนที่เคยอยู่ในอำนาจเก่าจาก สนช. ก็จะจับจองสัดส่วน โดยที่ไม่ได้มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ การปฏิรูป ถ้าพูดตรงๆ คือ มีตำรวจที่เกษียณไปแล้วเต็มไปหมดมานั่งอยู่ในคณะ และมีความเชื่อมโยงผู้มีอำนาจ

ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งวัตถุประสงค์การมี ส.ว.เพื่อให้มีการปฏิรูป ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระ ไม่ได้มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เช่น โจทย์ในชั้น กมธ.กลายเป็นตำรวจเก่าๆ เข้ามามีบทบาทมาก ทั้งที่เราควรให้ผู้น้อยมีส่วนร่วม หรือนำโมเดลตำรวจจากประเทศที่เจริญแล้วมาปรับใช้ ซึ่งเมืองนอกตำรวจเขาไม่ได้มาจาก ร.ร.นายร้อยเลย ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ เพราะทุกคนห่วงระบบการเลื่อนขั้น มีคนไม่อยากสูญเสียอำนาจหรือสูญเสียประโยชน์จากการแต่งตั้ง และประชาชนอาจไม่รู้ว่าตำรวจดีๆ คนหนึ่งจะทำงานได้ยาก เพราะมีการเมือง ทำให้ไม่ว่าใครก็ตามไม่กล้าแตะ การปฏิรูปจึงเกิดไม่ได้

เอาเข้าจริงๆ แล้วรัฐบาลไม่ได้สนใจเรื่องปฏิรูปเลย จะอ้างว่าที่ผ่านมาเจอโควิดอะไรต่างๆ ทำให้การขับเคลื่อนตามแผนทำไม่ได้ หรือการปล่อยให้หน่วยงานราชการ หรือเป็นเรื่องของสภาพัฒน์ และหน่วยงานราชการทำแทน ต่างก็ทำแต่งาน Routine เกือบทั้งหมด ไม่มีอะไรที่เป็นลักษณะของการปฏิรูปเลย ซ้ำรัฐบาลยังกำหนดระบบในการติดตามผลให้เป็นระบบที่ว่ากันตาม “งบประมาณ” แทนที่จะว่ากันตาม “ผลสัมฤทธิ์”

ทำให้ 3-4 ปีการปฏิรูปเรื่องหลักๆ อย่างเรื่องกระบวนการยุติธรรม หรือการปฏิรูปตำรวจมันก็ดำเนินไปในแบบที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรกับประชาชนเลย

และที่เราเห็นว่า 3 ปีกว่าที่ทำอะไรไม่ได้ หรือเสนออะไรไม่ได้เลย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะระบบการทำงานทั้งของเดิม รวมถึงบุคคลที่เป็นทั้งประธาน รองประธาน ก็ใช้ระบบการทำงานแบบข้าราชการที่ทำตามกรอบเท่านั้น คิดนอกกรอบไม่ได้ หรือไม่กล้าเสนออะไรที่จะสะเทือนรัฐบาล

หมอพรทิพย์ยังกล่าวอีกว่า เมื่อได้เข้ามาทำงานในฐานะ ส.ว. แล้วการปฏิรูปบางอย่างก็ไม่มีวันทำได้ เพราะด้วยโครงสร้างของ ส.ว. ที่นั่งในตำแหน่งประธานต่างถูกจับจองโดยคนที่มีอำนาจเก่า แล้วจะปฏิรูปในส่วนของความยุติธรรมได้ยังไง

เพราะฉะนั้นแล้วด้วยระบบเดิมที่เราทำอะไรไม่ได้ รวมทั้งโอกาสที่เราจะเสนออะไรก็ทำไม่ได้ ในสภาเต็มไปด้วยคนมียศเต็มไปหมด ใครที่จะไปเสนออะไรที่มันกระทบต่อนายของเขา ทำให้นายเขาไม่สบายใจ หรือกระทบต่อผู้นำรัฐบาลก็คงไม่มีใครกล้าทำ

 

กรณี ส.ว.บางส่วนเสนอให้นายกฯ
ดำรงตำแหน่งได้เกิน 8 ปี

ในส่วนนี้หมอพรทิพย์ให้ความเห็นว่า เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะคิดเห็นอย่างไร แต่โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น นายกฯ ต้องยอมรับวัฒธรรมการเมือง ไม่ใช่วัฒนธรรมของนักปฏิวัติ หรือนายทหารสูงสุด และจะเป็นนายกฯ ต่อไปอีกกี่ปีก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยเพราะ “การเมืองไทยไม่ได้ถูกปฏิรูป”

ถามว่า 8 ปีที่ผ่านมาไม่มีประโยชน์อะไร

แล้วสิ่งที่เราจะทำได้หลังจากนี้มีอะไรบ้าง ด้วยระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณปีครึ่งคงจะไม่สามารถทำอะไรได้มาก ถ้าหากการบริหารยังเป็นไปในรูปแบบเดิม แบบข้าราชการ หรือบริหารแบบทหาร จะเปลี่ยนอะไรก็เป็นไปได้ยาก

แต่โดยส่วนตัวจะไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไป รอจังหวะที่จะขับเคลื่อน เอาปัญหาที่เกิดขึ้นมาหาหนทางแก้ไข

จะไม่หมดความหวังและจะทำให้ดีที่สุด

 

ส.ว.เลือกนายกฯ ได้อีกครั้ง
หมอพรทิพย์เอายังไง?

สําหรับในการเลือกตั้งรอบหน้า ส.ว.ยังมีบทบาท รัฐธรรมนูญเขียนมาให้ ส.ว.เลือกนายกฯ เพื่อที่จะปฏิรูป

แต่ 4 ปีที่ผ่านมามันไม่เกิดประโยชน์อะไร ก็คิดว่าถ้าอย่างนั้นครั้งหน้าเราจะเลือกไปทำไม ในเมื่อมุมหนึ่งเราก็รู้ดีว่าอำนาจที่กฎหมายให้มานั้นไม่ถูกต้อง

และกรอบของประชาธิปไตยในไทยที่เราเห็นกันอยู่ว่าไม่ใช่กรอบที่ควรจะเป็น

เราเลยคิดว่าไม่ใช่กรอบที่เราจะต้องตาม

ส่วนตัวจึงเลือกตัดสินใจที่จะไม่ใช้อำนาจตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญในการเลือกนายกฯ ในครั้งถัดไป

 

ส.ว.ไม่จำเป็นต้องปิดสวิซต์?

หมอพรทิพย์อธิบายว่า เข้าใจสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้คิด เพราะบางครั้งพวกเขาอาจไม่ได้หาข้อมูลรอบด้าน อาจจะบริโภคข้อมูลมาจากแหล่งเดียวซึ่งมันเป็นแหล่งที่เอนเอียงอยู่แล้ว พวกเขาก็ต้องคิดว่า ส.ว.ไม่มีประโยชน์เป็นปกติ

แต่โดยส่วนตัวแล้วเรารู้ดีว่า ส.ว.ชุดนี้พยายามทำงานมาก เพียงแต่โดนกรอบที่มีทหาร-ตำรวจอยู่ค่อนสภาครอบไว้ ทำให้พวกเขาทำงานได้ไม่เต็มที่ คือไม่ได้เกิดการโกง แต่ว่าทำงานกันได้ไม่เต็มที่

การที่จะบอกว่า ส.ว.ไม่มีประโยชน์เลยนั้นมันไม่จริง ประชาชนแค่ไม่ได้เห็นตอนพวกเขาทำงาน พอมีกลุ่มคนรุ่นใหม่มาบอกว่า ส.ว.เอามาไว้แค่เลือกนายกฯ ก็เลยเชื่อกัน ก็ปล่อยให้พวกเขาคิดได้ แต่เราก็ไม่ได้คิดมากตามเขา

 

บทบาท “หมอพรทิพย์” ถ้าไม่ได้เป็น ส.ว.

หมอพรทิพย์เล่าว่า “ก็จะเป็นคนไทย ที่ภูมิใจในความเป็นคนไทย ที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และอยากเป็นคนไทยที่คอยเก็บเศษแก้วแตกของสังคม เพราะทุกวันนี้เศษแก้วเหล่านี้มันเต็มไปหมด”

“ต้องทำให้คนทิ้งแก้วที่มันแตกให้น้อยลง และสร้างคนที่ช่วยกันเก็บเศษแก้ว”

“เศษแก้วนี้คือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสังคม อย่างเรื่องของยาบ้าหรือกัญชา ถ้าเราปล่อยเศษแก้วเหล่านี้ไว้ คนรุ่นหลังก็ต้องเป็นคนรับไป”