ฟังหลากเสียงสะท้อนถึง ‘ครูไทย’

“ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต” คำขวัญวันครู ครั้งที่ 67 ประจำปี 2566 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้ นายกฯ ได้คารวะ พล.อ.เกษม นภาสวัสดิ์ ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 สมัยเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

โดยปีนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงานในธีม “พลังครู คือหัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” เพราะเชื่อว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการจัดการเรียนรู้ให้เท่าทันโลกยุคใหม่ และเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาลูกศิษย์ให้มีความพร้อมขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู

ซึ่ง 1 ใน 7 นโยบาย ศธ.ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษา ผลักดันให้การจัดการศึกษามีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพในทุกมิติ ก็คือการส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คารวะ พล.อ.เกษม นภาสวัสดิ์ ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 สมัยเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์มองว่าเป็นหน้าที่ยิ่งใหญ่ของครูทุกคนในการสร้างสรรค์ ปั้นแต่งให้ศิษย์ มีคุณลักษณะที่ดี เป็นพลเมืองดี เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของสังคม ทำให้เด็กสนใจเรื่องการศึกษา การเปลี่ยนแปลง พัฒนาการของโลกใบนี้ ซึ่งไม่ใช่โลกใบเดิม เป็นโลกมีการเจริญเติบโตด้านเทคโนโลยี

อีกประเด็นหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ย้ำเสมอๆ คือครูต้องจัดสถานการณ์การเรียนรู้ให้นักเรียนได้รู้จักรากเหง้าของชาติ เอกลักษณ์ของชาติ เพื่อสะท้อนความเป็นตัวตนของไทย ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ต้องออกแบบการเรียนรู้ และกิจกรรมให้นักเรียนเข้าใจในส่วนนี้ โดยต้องอยู่ในหลักการที่นักเรียนสามารถสร้างการเรียนรู้เองได้ ด้วยเหตุและผล เรียนประวัติศาสตร์แนวใหม่ ไม่ใช่สอนท่องจำ ต้องสอนทั้งในและนอกตำรา ที่ไม่ทำให้เกิดความสับสน

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.

ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เห็นว่าครูถือเป็นบุคลากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา ที่ผ่านมา ศธ.ได้ผลักดันเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานของครู โดยเฉพาะหนี้สิน แม้ไม่สามารถแก้ไขได้เร็ว แต่ ศธ.ได้พยายามช่วยลดภาระครู และจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ครูได้รับศักดิ์ศรี และมีกำลังใจทำงาน

รวมถึงการปรับแก้หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัด ศธ.ลดเวลาการย้ายจาก 4 ปี เหลือ 2 ปี เพื่อให้ครูกลับบ้าน และมีขวัญกำลังใจในการทำงาน

ส่วนการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะปรับกลไกในการสอบเหลือเพียงวิชาชีพครู กับวิชาที่สอน หรือวิชาเอก เพื่อให้ได้ครูตรงตามเป้าหมาย!!

 

ขณะที่ฝั่งนักวิชาการ มีมุมมองเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับครูไทยในปัจจุบัน และทิศทางในอนาคต ที่รัฐบาล และหน่วยงานที่กำกับดูแลควรจะต้องแก้ไข

อาทิ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เห็นว่า ครูเป็นอาชีพที่ดีมาก เพราะก้าวหน้า มีเงินเดือน มีวิทยฐานะ มีค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอด ทำให้สังคมมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่ผมมองว่าชีวิตครูไทยไม่ราบรื่น ความสุขในการทำงานติดลบ เพราะไม่สามารถทุ่มเทจัดการเรียนการสอนได้เต็มที่ เนื่องจากต้องทำงานในหน้าที่อื่น ซึ่งขัดกับหลักวิชาชีพ ทำให้ครูขาดความสุข และเบื่อหน่าย แต่ต้องทนอยู่กับระบบให้ได้ ซึ่งบั่นทอนชีวิตครู และสิ่งที่ทำให้ครูไม่มีความสุข ก็คือระเบียบ กฎเกณฑ์ ที่ยังสร้างปัญหาอุปสรรคให้ครู

ส่วนคำขวัญวันครูที่นายกฯ มอบให้ ศ.ดร.สมพงษ์มองว่า แต่ละปีวนเวียนอยู่แต่คำว่าความดี มีวินัย ประพฤติดี สะท้อนให้เห็นว่าสังคมกำลังคาดหวัง และกดทับให้ครูต้องทำตามที่รัฐบาลบอก มีความพยายามให้ครูทำเรื่องที่ไม่ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ต้องสอนให้เด็กเป็นคนดี เชื่อฟัง มีวินัย ในขณะที่โลกของนักเรียนไปไกลเกินกว่านั้น ทำให้ครูขาดอิสระในวิชาชีพ ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ยอมจำนนในสิ่งที่โครงสร้างจัดสรรให้ ทำให้เส้นทางวิชาชีพของครู ไม่ใช่เส้นทางที่ครูร่วมเดินทางกับเด็ก และครูบางคนต้องทิ้งเด็กไว้ข้างหลัง

ถ้ายังไม่เปลี่ยนชุดความคิด ครูจะถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ผู้ที่ให้คำขวัญครู ควรจะคิดคำใหม่ๆ ไม่ใช่อัดแต่คำขวัญที่ไม่สร้างสรรค์มาปีแล้วปีเล่า…

 

อดีตประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) อย่าง รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ เห็นสอดคล้องกันว่า ปัจจุบันครูไทยมีค่าตอบแทนไม่น้อยหน้าข้าราชการอื่นๆ และอาจได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าด้วย เรื่องความมั่นคง ความก้าวหน้าก็มีอยู่มาก

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพ และความภูมิใจในวิชาชีพ กลับถูกกำหนดโดยส่วนกลาง ซึ่งระดับพื้นที่ควรมีส่วนกำหนดความก้าวหน้าของครูในพื้นที่ได้ เพราะการพัฒนาครูในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ควรให้หน่วยงานในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดย 40% ให้ส่วนกลางกำหนดหลักเกณฑ์กว้างๆ อีก 60% ให้พื้นที่กำหนดรายละเอียดให้สอดคล้องกับบริบทของตน

ต้องเลิกแนวคิดการนำครูเข้ารับการอบรมต่างๆ โดยครูที่พร้อมเรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้เรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มที่ส่วนกลางเตรียมไว้ แต่ครูอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียนรู้ได้ดีหากฝึกอบรม ก็ควรเปิดอบรม ส่วนการเติบโตในหน้าที่การงานของครู ควรเน้นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับเด็ก ว่ามีพัฒนาการในห้องเรียนที่ดีขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่ไปเน้นคะแนนสอบระดับประเทศที่เพิ่มขึ้น และครูควรวางแผนเติบโตทางวิชาชีพได้ด้วยตนเอง

ส่วนเงินเดือนครู ไม่ควรให้เท่ากันทั้งประเทศ ครูที่อยู่ในพื้นที่กันดาร พื้นที่สูง เกาะแก่ง อาจเพิ่มฐานเงินเดือน และจะได้รับเงินค่าตอบแทนด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นหากทำงานไปเรื่อยๆ จะทำให้มีกำลังใจ เพราะได้รับค่าตอบแทนในความทุ่มเทอย่างเป็นรูปธรรม

ปิดท้ายที่ ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เรียกร้องให้ ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดภาระงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอนออกจากครูให้หมด รวมถึงให้ครูมีอิสระทางวิชาการ ในการจัดการเรียนการสอน และหลักสูตร ให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เพื่อให้การเรียนเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันก็เรียกร้องไปยังครู ไม่อยากให้มีข้อเรียกร้องมากเกินเหตุ โดยครูต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ และยอมรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่การจัดการศึกษามีพัฒนาการไปค่อนข้างไกล!!

 

อย่างไรก็ตาม หากลองไปดูผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับครูไทย โดยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยผลการสำรวจ “ดัชนีครูไทย ปี 2565 พลังครูคือหัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” พบว่า ประชาชนให้ความเชื่อมั่น 7.52 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้สูงสุด คือ บุคลิกภาพดี แต่งกายเหมาะสมกับอาชีพ เฉลี่ย 7.82 คะแนน รองลงมา มนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับผู้อื่นได้ เฉลี่ย 7.73 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้ต่ำสุด คือ การประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เป็นหนี้สิน เฉลี่ย 6.50 คะแนน

จุดเด่นของครูไทย คือ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และมีทักษะใหม่ๆ ร้อยละ 51.89 จุดด้อย คือ มีภาระงานมาก ร้อยละ 56.26 โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 65.74 มองว่าครูไทยจะต้อง “ทันสมัย ทันโลก ทันเหตุการณ์ ปรับตัวเร็ว แก้ปัญหาไว” จึงจะพลิกโฉมการศึกษาไทยได้

โดยคะแนนที่ประชาชนให้กับครูไทย ลดลงจากปี 2564 เล็กน้อย ซึ่งประชาชนมองว่าครูไทยมีบุคลิก และมนุษยสัมพันธ์ดี พัฒนาตนเอง ทันสมัย แต่ยังพบปัญหาด้านจริยธรรม จรรยาบรรณ การควบคุมอารมณ์

ทั้งนี้ จากผลสำรวจดัชนีครูไทยย้อนหลัง 10 ปี ชี้ชัดว่าปัญหา “หนี้สิน” เป็นปัญหาใหญ่ ที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน แม้ว่ารัฐมนตรี ศธ.ทุกยุคจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ก็แก้ปัญหาไม่สำเร็จ!!

 

| การศึกษา