พลาสติก ‘คร่า’ มนุษยชาติ?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

รัฐบาลอังกฤษยืนยันว่าปีนี้ห้ามร้านอาหาร ร้านกาแฟใช้ซ้อนส้อม มีด จาน และถาดพลาสติกโพลีสไตรีนประเภทใช้ได้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกซึ่งเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอังกฤษมายาวนาน

มาตรการนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้กับซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้า ส่วนปีหน้ารัฐบาลอังกฤษมีแผนเก็บเงินค่าบริหารจัดการขยะกับบรรดาโรงงานผลิตพลาสติกใช้ครั้งเดียว

คุณเทอเรสซ์ คอฟเฟย์ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่า นี่เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านอีกขั้นหนึ่งเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมให้กับชาวอังกฤษรุ่นต่อไป

แต่ละปีอังกฤษใช้จานพลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง 1,100 ล้านชิ้น ใช้ช้อนส้อม มีดพลาสติก 4,000 ล้านชิ้น

ถ้าคิดเฉลี่ยต่อคนใช้จานพลาสติกปีละ 18 ชิ้น ซ้อมส้อม มีด 37 ชิ้น เมื่อใช้เสร็จคนอังกฤษทิ้งขว้างกลายเป็นขยะพลาสติก แต่เก็บนำไปรีไซเคิลหรือแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือกระจายเกลื่อนเกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

นักสิ่งแวดล้อมบอกกับนักข่าวบีบีซีว่า ขยะพลาสติกพบทั่วไปไม่ใช่เฉพาะบนเกาะอังกฤษเท่านั้น แต่เกาะเล็กเกาะน้อย อย่างเช่น เกาะเอสเซนซั่นตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก ก็ยังเจอซากขยะพลาสติกที่คลื่นซัดมาจากทั่วโลก ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งแอฟริกาใต้

มีผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ใต้ทะเลซึ่งหากินอยู่ในบริเวณเกาะแห่งนี้กว่า 900 ชนิด

 

การลดปริมาณการใช้พลาสติกนั้นเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำเพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากพลาสติกที่ทำจากโพลีสไตรีน ย่อยสลายได้ยากต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 450 ปี

ระหว่างรอให้ขยะพลาสติกย่อยสลายเองตามธรรมชาติ เศษขยะเหล่านี้ทำลายธรรมชาติอย่างมโหฬาร เช่น สัตว์ใต้ทะเลจำพวกเต่า ปลา นก และสัตว์ป่าเสียชีวิตเพราะพากันกินเศษขยะพลาสติกอัดแน่นเต็มกระเพาะ

ขณะเดียวกัน ชาวโลกยอมรับว่า พลาสติกมีประโยชน์ในการใช้สอยอย่างมากมาย จึงมีคำถามว่าจะทำอย่างไรจึงลดปริมาณใช้พลาสติกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

และทำอย่างไรจึงสามารถนำพลาสติกมารีไซเคิลกลับเอาไปใช้ใหม่ได้อีกครั้งเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม?

 

ในบ้านเรา ปัญหาขยะพลาสติกเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร จนกระทั่งในปี 2563 รัฐบาลชุดนี้เรียกร้องให้ภาครัฐ เอกชนร่วมมือกันจัดการขยะพลาสติกด้วยความสมัครใจเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม เลิกใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ

การรณรงค์เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มได้ผลดีทีเดียวเพราะบริษัทผู้ผลิตเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มแล้ว ส่วนถุงพลาสติกก็ได้ผลเฉพาะในห้าง ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อเท่านั้น แต่การรณรงค์ลดการใช้กล่องโฟมใส่อาหาร หลอดพลาสติก ซ้อนส้อมพลาสติกยังไม่เห็นผลดี

เมื่อไม่นานมานี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมายอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อปี 2564 ทำให้การสั่งอาหารผ่านออนไลน์ได้รับความนิยมและเติบโตเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านมีไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง หรือเพิ่ม 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับก่อนโควิดระบาดในปี 2564 ที่มีจำนวนราว 35 ล้าน-45 ล้านครั้ง

การสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แต่ละครั้ง สร้างขยะพลาสติกราว 7 ล้านชิ้น เช่น กล่องใส่อาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ซ้อนส้อมพลาสติก ถุงน้ำซุป ถุงพลาสติกใส่อาหาร

เท่ากับว่าช่วงโควิดเขย่าไทย ขยะพลาสติกที่มาจากฟู้ดเดลิเวอรี่มีมากกว่า 840 ล้านชิ้นต่อปี

 

คุณภราดร จุลชาติ ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกผ่านสื่อว่า เป็นเรื่องยากที่จะเลิกใช้พลาสติกในธุรกิจรับส่งอาหาร เนื่องจากสะดวกต่อการใช้งาน เพราะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในปัจจุบันยังไม่สามารถใส่ของร้อนได้

“ยังมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนที่เพิ่มสูงเพราะพลาสติกชีวภาพมีราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป แถมยังมีพลาสติกชีวภาพปลอมอีกต่างหาก ฉะนั้น ผู้บริโภคควรรับผิดชอบต่อขยะที่อยู่ในมือ ด้วยการนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เช่น แยกขยะเปียกแห้งออกจากกันเพื่อนำไปทำปุ๋ยและเชื้อเพลิง” คุณภราดรแนะนำอย่างนั้น

อีกทางออกในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก นอกจากลดหรือเลิกใช้พลาสติกไปเลย ก็เปลี่ยนจากพลาสติกไปใช้ไม้ หลายประเทศมีความพยายามทำ แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นเนื่องจากวัตถุที่มาจากไม้แพงกว่าพลาสติกอย่างน้อยๆ 20%

ร้านแมคโดนัลด์ที่ญี่ปุ่น เพิ่งประกาศเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกใส่อาหารและอุปกรณ์กินอาหาร เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดกระดาษ ช้อนส้อมทำจากไม้ใน 2,900 สาขาทั่วประเทศ

มาตรการดังกล่าว แมคโดนัลด์คุยว่า จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกราวๆ 900 ตันต่อปี

 

มีมุมมองจากคุณมาเรียนเน เลห์นิส คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารฟอร์บส์ สหรัฐ ผ่านบทความชื่อ “ผลลัพธ์ที่ซ่อนเร้นจากวิกฤตพลาสติกโลก” ชี้ว่า มวลมนุษยชาติล่มสลายลงนั้นอาจไม่ใช่เหตุภาวะโลกร้อน อากาศวิปริต หรือสงครามนิวเคลียร์ แต่มาจากขยะพลาสติกท่วมทะลักโลกก็เป็นได้

ทุกหนแห่งในโลกใบนี้ ล้วนมีพลาสติกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในน้ำดื่ม ในอากาศ อาหารที่เรากิน ชิ้นส่วนพลาสติกที่ซุกซ่อนปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพร่างกายของคนและบรรดาสัตว์สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

คุณเลห์นิสยังฉายภาพให้เห็นว่า เวลานี้โลกกำลังเผชิญภาวะขยะพลาสติกท่วมทะลักอย่างไร

แต่ละปี พบเศษขยะพลาสติกลอยฟ่องในทะเล 11 ล้านตัน คาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะพุ่งไปถึง 29 ล้านตัน สัตว์ใต้ทะเลราว 73% กลืนกินเศษชิ้นพลาสติก ส่งผลให้สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ อย่างเช่นเต่า

ไมโครพลาสติกพบในผลไม้ ผัก โดยเฉพาะแอปเปิลมีชิ้นส่วนพลาสติกปนเปื้อนมากที่สุด ใน 83% ของกลุ่มตัวอย่าง ขวดน้ำพลาสติกพบพลาสติกปนเปื้อนในน้ำ

นักวิจัยจีนพบว่าเกลือทะเลมีไมโครพลาสติกปนเปื้อน 550-691 ชิ้นส่วนต่อเกลือ 1 กิโลกรัม

นักวิจัยเอาตัวอย่างเบียร์เยอรมัน 24 ยี่ห้อไปตรวจสอบในห้องทดลองพบว่าทุกยี่ห้อมีไมโครพลาสติกปนเปื้อน

“เลห์นิส” บอกว่า ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมผลการทดสอบกลุ่มตัวอย่าง 97% ของเด็กๆ ชาวเยอรมันจึงมีพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในระบบร่างกาย

วันนี้ แม้เรายังไม่เห็นผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัวของพลาสติก แต่สัญญาณร้ายๆ ที่ส่งเตือนชาวโลกให้ระวังเอาไว้นั่นคือภาวะเสื่อมของระบบการสืบพันธุ์ หลังพบเชื้ออสุจิของผู้ชายมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ

ฉะนั้น ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าผู้ชายจะไม่มีเชื้ออสุจิเหลือไว้สืบพันธุ์อีกต่อไปเพราะพิษจากพลาสติกนั่นเอง •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]