คุยกับทูต | นาเกช ซิงห์ อินเดีย มหาอำนาจเกิดใหม่ (1)

สหประชาชาติคาดว่าในไม่ช้าอินเดียจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าจีน เพราะวันนี้อินเดียมีจำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของอินเดียจึงมีการเลือกตั้งขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกเหนือจากการเป็นประเทศต้นแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

“อินเดียกับไทยมีความผูกพันกันในมิติทางศาสนาและวัฒนธรรมตั้งแต่โบราณกาล”

นายนาเกช ซิงห์ (Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำราชอาณาจักรไทยคนล่าสุด เริ่มต้นการสนทนา

“เนื่องจากอินเดียมีอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ไพศาล ทำให้ลักษณะภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศที่อินเดียมีความแตกต่างกันมาก โดยตอนเหนืออยู่ในเขตหนาว ขณะที่ตอนใต้อยู่ในเขตร้อน แต่ถึงอย่างไร ผมก็ชอบอากาศที่มีความเย็นมากกว่า”

นายนาเกช ซิงห์ (Nagesh Singh) เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา งานล่าสุดก่อนมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตอินเดียประจำราชอาณาจักรไทย คืออธิบดีกรมพิธีการทูต กระทรวงต่างประเทศอินเดีย

โดยก่อนหน้านั้นเป็นกงสุลใหญ่อินเดียประจำเมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา

นายนาเกช ซิงห์ (Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำราชอาณาจักรไทย

ในความสัมพันธ์ไทย-อินเดียยุคใหม่ นอกจากจะเป็นความสัมพันธ์ทางการศึกษา ศาสนาและศิลปวัฒนธรรมแล้ว

ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ก็เป็นอีกสะพานหนึ่งที่เชื่อมให้ไทยและอินเดียได้ติดต่อกัน

มีนักธุรกิจไทยไปลงทุนที่อินเดีย และมีนักธุรกิจอินเดียมาลงทุนที่ประเทศไทย

“ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นไปอย่างใกล้ชิดกันและอบอุ่นมาก เราไม่เพียงแต่เป็นประเทศเพื่อนบ้านทางทะเลเท่านั้น แต่เรายังเป็นเพื่อนบ้านที่มีอารยธรรม มีการแบ่งปันค่านิยมเดียวกัน ผมพูดถึงประเพณี ความศรัทธาของศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ที่ผูกพันเราไว้ด้วยกัน อินเดียมีเรื่องรามเกียรติ์ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะพระราชพิธี ซึ่งไทยก็มีเหมือนกัน รวมทั้งด้านภาษา ผมหมายถึงอิทธิพลของภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีที่มีต่อภาษาไทย”

นายนาเกช ซิงห์ (Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำราชอาณาจักรไทย

“ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า เรามีรากฐานที่แข็งแกร่งทางประวัติศาสตร์ ประเพณี ศาสนา ค่านิยมร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคปัจจุบัน การค้า การลงทุน หรือความสัมพันธ์ทางการเมืองก็ดี เราไม่มีข้อพิพาทระหว่างกัน นอกจากนั้น เรามีกลุ่มคนอินเดียพลัดถิ่น (Indian diaspora) ในไทย ซึ่งช่วยได้มากในการเป็นสะพานเชื่อมมิตรภาพระหว่างไทย-อินเดีย และการติดต่อกันระหว่างประชาชน”

“เมื่อปี 2022 มีคนบอกว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 1.9 ล้านคน ในจำนวนนี้นักท่องเที่ยวอินเดียมีมากเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย ตัวเลขก็ประมาณ 800,000 อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อผู้คนไปมาหาสู่กัน พอเจอกัน ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้น เพราะเราเข้าใจกันมากขึ้น พูดสั้นๆ ว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันของเรานี้ดีมาก”

“ต้องบอกว่ามีอะไรอีกมากมาย โดยเฉพาะในด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคง วัฒนธรรม การแสดง ศิลปะ การแลกเปลี่ยนนักเรียน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เราสามารถร่วมกันทำได้มากขึ้น”

เอกอัครราชทูตนาเกช ซิงห์ ประชุมร่วมกับ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

อินเดียเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพรมแดนอินเดีย-เมียนมาเพื่อเชื่อมต่อทางกายภาพสู่อาเซียนด้วยทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย (India-Myanmar-Thailand Trilateral Highway)

“ทางหลวงไตรภาคี (TLH) เป็นการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างอินเดีย เมียนมา และไทย และเชื่อมโยงกับแผนการเชื่อมต่อของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางการค้า ตอนนี้การเชื่อมต่อกลายเป็นเรื่องที่พูดกันทั่วโลก ผู้คนกำลังพูดถึงการเชื่อมต่อ ซึ่งคำนี้มีคำจำกัดความที่หลากหลาย อาจเป็นการเชื่อมต่อระบบดิจิทัล อาจเป็นผู้คนที่เดินทางโดยเครื่องบินหรือเรือ”

“เมื่อเส้นทางหลวงไตรภาคีระหว่างไทย เมียนมา และอินเดียเสร็จสมบูรณ์ จะยิ่งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น”

“การส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่แค่สำหรับภูมิภาค แต่เราไม่สามารถบอกชาวเมียนมาว่าพวกเขาต้องทำอะไร หรือมีรัฐบาลประเภทไหน เพราะ เรายึดมั่นการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น แต่สำหรับอินเดีย เมียนมาเป็นเพื่อนบ้าน เรามีพรมแดนที่ยาวไกลระหว่างกัน และเราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด”

เอกอัครราชทูตนาเกช ซิงห์ เข้าเยี่ยมคาราวะ ฯพณฯ พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย

ทางหลวงดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Act East ของอินเดีย ซึ่งสืบทอดมาจากนโยบาย Look East เป็นความคิดริเริ่มทางการทูตเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างอินเดียและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

“โดยตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา มีความเชื่อมต่อกันระหว่างรัฐบาลอินเดียและผู้ปกครองคนปัจจุบันในย่างกุ้ง”

“เพราะเราเชื่อมั่นว่าการคว่ำบาตรไม่ได้ผล อินเดียไม่เคยสนับสนุนการคว่ำบาตรต่อประเทศใดๆ และเราคิดว่า การปรึกษาหารือคือหนทางข้างหน้าที่จะนำทุกคนมาพบกัน แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีการการเจรจาที่คืบหน้า และก็อย่างที่พูดไปแล้วว่า อินเดียไม่แทรกแซงความสัมพันธ์ของผู้อื่น ในฐานะเพื่อนบ้าน เราเชื่อว่าเราควรพูดคุยกับใครก็ตามที่มีอำนาจในเมียนมาและดูว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ระหว่างกันได้อย่างไร”

“นโยบายต่างประเทศของอินเดียเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ที่เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนพหุภาคีและแสวงหาแนวทางร่วมกันเพื่อความมั่นคง ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และการกำจัดอันตรายที่มีอยู่เช่นการก่อการร้าย”

“จะเห็นได้จากการที่อินเดียเป็นสมาชิกของ BRICS, SCO, QUAD, I2U2 และ G20”

เอกอัครราชทูตนาเกช ซิงห์ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อแนะนำตัวเนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่

BRICS เป็นอักษรย่อใช้เรียกกลุ่มประเทศกําลังพัฒนา ที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) ประกอบด้วยประเทศ บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa)

SCO คือ องค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ เป็นองค์การการเมือง เศรษฐกิจและการทหารระหว่างทวีป ซึ่งเป็นองค์การภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดตามด้านภูมิศาสตร์และประชากร ประกอบด้วย 9 ชาติสมาชิกคือ จีน อินเดีย อิหร่าน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ปากีสถาน รัสเซีย ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน

QUAD – กลุ่มภาคี 4 ประกอบด้วย 4 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย

I2U2 – ‘I’ ย่อมาจากอินเดียและอิสราเอล และ ‘U’ แทนสหรัฐอเมริกาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

G 20 -ประกอบด้วยผู้แทนสหภาพยุโรป และอีก 19 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย) และประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 11 ประเทศ (อาร์เจนตินา บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี)

ทั้งนี้ ขนาดเศรษฐกิจของสมาชิก G20 คิดเป็นร้อยละ 90 ของเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 2 ใน 3 ของโลก

นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายนเรนทรา โมดี (ขวา) นาย นาเกช ซิงห์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำราชอาณาจักรไทย (ซ้าย)

“นั่นคือการจัดแนวร่วมที่หลากหลายอันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของเรา ซึ่งไม่ได้ต่อต้านใคร แต่เราอยู่เคียงข้างทุกคน” เอกอัครราชทูตอินเดียกล่าว

“โดยอินเดียจะกลายเป็นมหาอำนาจใหญ่ และด้วยจำนวนประชากรที่มากกว่าจีนในไม่ช้า”

ศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงที่อินเดียแสดงบทบาทโดดเด่นอย่างมาก โดยเฉพาะ 10 ปีหลังมานี้ จนอินเดียได้รับการขนานนามว่าเป็น “มหาอำนาจเกิดใหม่” (Emerging Power)

ภายในทำเนียบเอกอัครราชทูตอินเดีย

“แต่จุดแข็งของอินเดียไม่ใช่แค่จำนวนประชากรเท่านั้น ยังมีสิ่งอื่นๆ อีก เศรษฐกิจก็กำลังไปได้ดีมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพิ่งดีตอนนี้ เรามีเศรษฐกิจ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ และเราเพิ่งแซงหน้าอังกฤษ กลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก”

IMF ระบุว่า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกของโลก เรียงจากใหญ่สุดลงไปนั้นได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และอินเดีย ตามลำดับ ส่วนอังกฤษเองกลับตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 6

เอกอัครราชทูตอินเดีย สรุปว่า

“สิ่งที่พูดก็คือไม่ใช่แค่ประชากร แต่เป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจของเรา การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเรา เราผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคมากเป็นอันดับสามของโลก เรามีโครงการอวกาศ และโปรแกรมนิวเคลียร์ ที่แข็งแกร่งมาก ดังนั้น ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หลายคนจึงทราบดีว่า อินเดียมีความแข็งแกร่งในด้านไอทีและให้บริการต่างๆ ได้ดีเพียงใด” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin