ก่อนจะมาเป็น ‘นอท กองสลากพลัส’

“นอท-พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์” ซีอีโอบริษัทลอตเตอรี่ออนไลน์ “กองสลากพลัส” เป็นหนึ่งในนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ถูกกล่าวถึงในหลายแง่มุมมากที่สุด ณ ยุคปัจจุบัน

เว็บไซต์ FEED เพิ่งมีนัดพูดคุยกับนักธุรกิจหนุ่มรายนี้ ว่าด้วยประเด็นร้อนแรงโชกโชนจำนวนมาก ซึ่งข้องเกี่ยวกับช่วงชีวิตที่ผ่านมาของเขา

นี่คือเนื้อหา “ภาคแรก” ที่บอกเล่าเรื่องราวสุดพลิกผัน ก่อนเขาจะกลายมาเป็น “นอท กองสลากพลัส”

นอทเล่าว่าตนเองเกิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาก บ้านของเขาตั้งอยู่ริมถนน สภาพบ้านและหลังคาทำจากสังกะสีผุๆ ด้านหน้าใช้แผ่นผ้าใบขึงปิดไว้ ในบ้านมีเตียงอยู่เพียงเตียงเดียว และไม่มีห้องน้ำ

พ่อของเขาทำอาชีพเร่ขายผลไม้ ส่วนแม่ก็ประกอบอาชีพขายของชำให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เวลาจะขายของก็ดันผ้าใบหน้าบ้านให้เปิดออกไป เวลาจะนอนก็ดึงผ้ามาปิดบ้านไว้

ตอนเด็ก นอทเคยถูกครูในโรงเรียนบูลลี่ว่าเป็น “ไอ้ขี้ในป่า” เพราะที่บ้านไม่มีส้วมหรือห้องน้ำให้ใช้ เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่หลายคนเรียกว่า “เพิงหมาแหงน” จนถึงอายุ 17 ปี

ก่อนจะพาตัวเองไปพานพบกับ “จุดเลวร้ายที่สุด” ในชีวิต

ตอนนั้น เด็กหนุ่มวัย 17 ปี กำลังถลำลึกลงไปในวงจรอุบาทว์ของ “ยาบ้า” ทั้งในฐานะผู้เสพและผู้ค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพครอบครัว (แม่ของเขาร้องไห้ทุกวัน) ขณะที่ตัวเองก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร่างกายผ่ายผอม ปากแห้งแตก ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นขี้ยา

กระทั่งวันหนึ่ง นอทเริ่มรับสภาพตนเองไม่ไหว จึงตัดสินใจเลิกยาบ้าและบุหรี่ แล้วหนีออกจากบ้านเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อหางานทำ

เขาทำ “งานกลางคืน” อยู่ประมาณ 7 ปี ก่อนกลับบ้านไปบวช แต่งงาน และมีลูก แล้วหันมาทำงานประจำเป็น “พนักงานส่งเอกสาร” (แมสเซนเจอร์) และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าช่าง

หลังทำงานประจำอยู่ 3 ปี นอทเริ่มรู้สึกถึงภาวะหมดหนทางเจริญเติบโต เขาจึงลาออกมาเปิด “ร้านเกม” และนี่ก็คือ “จุดเปลี่ยน” ที่พาเขาเข้าสู่ “วงการออนไลน์”

ช่วงเวลาที่เปิดร้านเกม-อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ถือเป็นช่วงที่นอทมีเวลาว่างเยอะมาก เขาจึงค้นคว้าข้อมูลในโลกออนไลน์ไปเรื่อยๆ จนพบวิธีหาเงินผ่านอินเตอร์เน็ตในยุคนั้น (เมื่อ 11 ปีก่อน) ด้วยการขายสินค้าให้กับแพลตฟอร์มหนึ่ง จนได้เงินก้อนแรกประมาณ 60,000 บาท

“เมื่อก่อนคู่แข่งน้อย มันเลยง่าย ใครเอาสินค้าของเขาไปขายได้ เขาจะแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ 4-8 เปอร์เซ็นต์ คิดง่ายๆ ว่าผมขายทีวีตัวหนึ่งพันเหรียญ (สหรัฐ) เนี่ย ผมได้ค่าคอมพ์ 80 เหรียญ ก็ได้เท่ากับ 2,400 บาทต่อวัน เพราะฉะนั้น เดือนละแสนสองแสนมันไม่ใช่เรื่องยาก”

เมื่อได้รับ “รายได้ออนไลน์ก้อนแรก” นอทก็ตัดสินใจศึกษาการทำธุรกิจในช่องทางนี้อย่างจริงจัง ทั้งจากการอ่านข้อมูลในเว็บไซต์ หรือบางครั้งก็ไปเรียนรู้เพิ่มเติมจากวงสัมมนาต่างๆ

เมื่อพรรษาแก่กล้าขึ้น นอกจากการขายสินค้าออนไลน์แล้ว นอทจึงมีอีกหนึ่งอาชีพหลักเป็นผู้จัดสัมมนาสอนวิธีหาเงินทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งโดยรวม เขาสามารถสร้างรายได้สูงสุดกว่า 2 ล้านบาทต่อเดือน ทว่า ชีวิตของชายหนุ่มคนนี้ก็ดิ่งลงเหวอีกครั้ง

“ช่วงนี้เป็นช่วงที่ประสบความสำเร็จ เราก็ไปหลงใหลได้ปลื้มกับเงินล้านครั้งแรก ก็ใช้แต่เงินโดยไม่ทำงาน เที่ยว ติดผู้หญิง จนชีวิตมันดิ่งเหว ครอบครัวลำบาก ลูกต้องออกจากโรงเรียน ภรรยาต้องทำขนมเค้กกล้วยหอม ขายได้วันละ 300 (บาท) เพื่อซื้อนมให้ลูกคนเล็ก โดยที่เราไม่มีเงินมาจุนเจือครอบครัว

“ก็เป็นอย่างนั้นอยู่ประมาณสัก 2-3 เดือน พอเรารู้สึกตัว เราก็กลับมาตั้งสติ แล้วก็พลิกฟื้นขึ้นมาได้”

แม้จะพยายามกลับตัว แต่สภาพแวดล้อมในโลกอินเตอร์เน็ตก็ผันแปรไป เพราะแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่ทำให้นอทสร้างเนื้อสร้างตัวได้ มีนโยบายแบนบัญชีผู้ขายของชาวไทยเป็นจำนวนมาก โดยให้เหตุผลว่าคนขายของในไทย รวมถึงนอท ทำผิดกฎกติกาของแพลตฟอร์ม

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสภาวะขาดแคลนรายได้ นอทจึงตระหนักว่าการหากินในช่องทางแบบนั้น เปรียบเสมือนเรากำลังยืมจมูกคนอื่นหายใจ

ในช่วงเวลาเดียวกัน โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กเพิ่งเริ่มเข้ามาทำตลาดที่ประเทศไทย ขณะที่การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกก็ได้รับความนิยมอย่างสูง อดีตพ่อค้าออนไลน์ผู้นี้จึงทดลองนำเอาทั้งสองสิ่งมารวมกัน ผ่านการตั้งเพจเฟซบุ๊กเผยแพร่คลิปไฮไลต์ฟุตบอลอังกฤษ แม้ว่าตนเองจะไม่ได้ชื่นชอบหรือสนใจกีฬาชนิดนี้มาก่อนก็ตาม

“ตัดสินใจทำเพจไฮไลต์ฟุตบอลพากย์ไทย ชื่อว่า ‘กูว่าแล้วมันต้องยิง’ ขึ้นมา ซึ่งมันผิดกฎหมาย ละเมิดลิขสิทธิ์ชาวบ้านเขา แต่ตอนนั้นยังเป็นเด็ก อยากหาเงิน เพราะไปเห็นว่า (แบนเนอร์) โฆษณาตามเพจฟุตบอลหรือเว็บ (ไซต์) ฟุตบอล ตำแหน่งหนึ่งเขาได้เงิน 3 แสนกว่าบาท ดูที่เขาแปะๆ แล้วนับๆ เดือนหนึ่ง 5-6 ล้านบาท เราก็เลยมองว่ามันเป็นช่องการตลาดที่น่าสนใจ”

หลังทำเพจไฮไลต์ฟุตบอลต่างประเทศ (ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์) อยู่ประมาณ 7-8 ปี และสร้างยอดผู้ติดตามได้มากขึ้นเรื่อยๆ นอทก็เจอ “จุดเปลี่ยนทางธุรกิจ” ครั้งสำคัญ

ที่จะทำให้สังคมไทยได้รู้จักเขาในนาม “นอท กองสลากพลัส”

(ติดตามอ่านเนื้อหาส่วนหลังนี้ได้ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับหน้า)