บันทึกทูตไทย :ไทยยับยั้งทฤษฎีโดมิโนตรงชายแดน | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ในหนังสือ “ชีวิต-ผลงาน วิทยา เวชชาชีวะ ในวาระสิริอายุ 7 รอบ” ที่ผมได้กล่าวถึงเมื่อตอนที่แล้วมีรายละเอียดที่เล่าถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังประเด็นที่ไทยกับทฤษฎีโดมิโนได้อย่างน่าสนใจ

การที่เวียดนามใต้ล่มสลายในปี 2518 เร็วเกินคาดทำให้คนไทยแตกตื่นกันทั้งประเทศ

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ (เขมรแดง) มาประชิดชายแดนไทย-กัมพูชาโดยมีกองกำลังอันน่าเกรงขามของเวียดนามหนุนหลัง

ในวันฉัตรมงคล พฤษภาคม 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ขอให้คนไทยอยู่ในความสงบและสามัคคี อย่าตื่นตระหนก

นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ออกโทรทัศน์ในคืนเดียวกันเพื่อปลอบขวัญประชาชน

พยายามอธิบายว่าเราไม่ได้เป็นคู่ศัตรูกับเขา เราไม่ได้แพ้สงคราม ไม่ต้องกลัว

สิ่งหนึ่งที่คนไทยทั่วไปไม่รู้คือ ในวันรุ่งขึ้นหลังจากไซ่ง่อนแตก ฝ่ายเวียดกงจากเวียดนามได้ติดต่อผ่านสถานทูตไทยที่เวียงจันทน์

เข้ามาเจรจาขอเครื่องบินหลายลำที่กองทัพอากาศของรัฐบาลเวียดนามใต้ได้นำมาจอดไว้ที่สนามบินอู่ตะเภา

แต่คณะผู้แทนไทยโดยมีปลัดแผน วรรณเมธี เป็นหัวหน้า ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องและยืนยันว่าจะปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศในการพิจารณาว่าฝ่ายใดมีกรรมสิทธิ์โดยชอบธรรม

ตามติดมาคือคณะผู้แทนระดับสูงจากเวียดนามเหนือ นัยว่าจะมาปลูกความสัมพันธ์

แต่ก็แสดงท่าทีว่าเป็นผู้ชนะ ทวงค่าปฏิกรรมสงครามโดยอ้างว่าเป็นการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทิ้งระเบิดโดยเครื่องบิน B-52 ของสหรัฐที่บินจากดินแดนไทย

คุณวิทยา เวชชาชีวะ เขียนในหนังสือว่า เขาเชื่อว่าการที่เวียดนามเหนือเข้ามาด้วยท่าทีที่ดูเหมือนเป็นการขู่ไทยเป็นตัวเร่งให้รัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ และนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์เลื่อนกำหนดการเดินทางไปเยือนจีนให้เร็วขึ้น

จากเดิมกำหนดว่าจะไปเดือนธันวาคม ก็สั่งท่านทูตอานันท์ ปันยารชุน ให้ไปบอกจีนว่าไทยอยากขอไปเยือนโดยเร็วที่สุด

จีนก็ตอบสนองโดยดี ให้ไปปลายเดือนมิถุนายน

ปลายเดือนมิถุนายน นายกฯ คึกฤทธิ์เดินทางไปกรุงปักกิ่ง โดยในคณะมีเตช บุนนาค หัวหน้ากองเอเชียตะวันออก และวิทยาในฐานะผู้อำนวยการกองนโยบาย

ก่อนเดินทางคุณวิทยาได้หารือกับเพื่อนร่วมงานที่กองนโยบาย นิตย์ พิบูลสงคราม กับสวนิต คงสิริ ว่าต้องโยงเรื่องเวียดนามกับจีนเข้าด้วยกันให้ได้

เพราะเวียดนามกลัวจีนอยู่ประเทศเดียว

ประเด็นหารือสำหรับนายกรัฐมนตรีจึงเขียนตามนั้น

เมื่อถึงเวลา นายกฯ คึกฤทธิ์นั่งโต๊ะประชุมตรงข้ามกับเติ้ง เสี่ยวผิง

ถามท่านเติ้งว่าถ้ามีประเทศใดประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้มักใหญ่ใฝ่สูงหวังเป็นเจ้าในภูมิภาค (regional hegemony) จีนจะว่าอย่างไร

ท่านเติ้งฟังล่ามแปลเสร็จก็ตบโต๊ะผาง!

บอกว่าจีนจะไม่มีวันที่จะทนต่อการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค

คุณชายคึกฤทธิ์รวมทั้งทุกคนในคณะไทยก็ยิ้มออก

คุณวิทยามองว่านั่นคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของความสัมพันธ์ไทย-จีน

เป็นการร่วมมือกัน “แก้ลำ” เวียดนามเรื่อยมาจากการ “ทำโทษ” ของจีนต่อมา จนร่วมหัวจมท้ายกับอาเซียน ในการต่อต้านการรุกรานกัมพูชาของเวียดนามที่ยืดเยื้อมาอีกกว่าหนึ่งทศวรรษ

 

พอนายกฯ คึกฤทธิ์กลับจากการเยือนจีน นักข่าวถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง เมืองจีนดีไหม คงต้อง “ซูเอี๋ย” เขาแล้วใช่ไหม

(อย่าลืมว่าตอนนั้นมีคนไทยน้อยคนที่เคยไปเมืองจีน)

คุณชายคึกฤทธิ์ก็บอกว่า “โอ๊ย! ไม่เห็นมีอะไรดีเลย เป็ดปักกิ่งยังสู้เป็ดย่างสกาลาของไทยเราไม่ได้เลย”

คุณวิทยาบอกว่า การตอบที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันแบบนี้แสดงถึงชั้นเชิงสูงทางการเมืองของนายกฯ คึกฤทธิ์

เพราะหากแสดงความชื่นชมประเทศที่ไทยเคยถือว่าเป็นศัตรูก่อนหน้านั้นไม่นาน ก็อาจถูกฝ่ายชาตินิยมขวาจัดกระหน่ำได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางบรรยากาศการเมืองในประเทศที่ร้อนแรง

และหลังจากกรุงพนมเปญถูกเขมรแดงยึดได้ไม่นาน ในบ่ายของวันที่ 12 พฤษภาคม 2518 ก็เกิดเหตุการณ์ที่สหรัฐถือว่าเป็นศึกฉากสุดท้ายของสงครามเวียดนาม

นั่นคือการที่เขมรแดงบุกยึดเรือบรรทุกสินค้าอเมริกันชื่อ “มายาเกซ” (SS Mayaguez) ซึ่งล้ำเข้าไปในน่านน้ำกัมพูชา

สหรัฐซึ่งเพิ่งถอนตัวออกจากเวียดนามใต้อย่างหมดท่าเมื่อสองสัปดาห์ก่อนรับไม่ได้ที่ประเทศเล็กอีกประเทศหนึ่งอย่างกัมพูชามา “ตบหน้า” ซ้ำ

จึงวางแผนเร่งด่วนเตรียมช่วงชิงเรือมายาเกซกลับคืน

โดยขอใช้ฐานทัพอากาศอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการ

โดยติดต่อประสานตรงกับฝ่ายทหารไทย ได้รับอนุญาตให้ใช้อู่ตะเภาได้

สร้างความไม่พอใจในหมู่นักศึกษาประชาชนที่ออกมาประท้วงต่อต้านสหรัฐอย่างกว้างขวาง

ในจังหวะนั้นมีการประชุมอาเซียนประจำปีที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ รัฐมนตรีชาติชายเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม มีปลัดแผนและคุณวิทยาอยู่ในคณะ

รัฐมนตรีชาติชายสั่งงานกับปลัดแผน ซึ่งมอบหมายให้คุณเตช บุนนาค ทำงานร่วมกับคุณวรพุทธิ์ ชัยนาม หัวหน้ากองอเมริกา ร่างหนังสือประท้วงสหรัฐ

คุณวิทยาเล่าว่าการที่สหรัฐ “ข้ามหัว” รัฐบาลพลเรือน แสดงให้เห็นประหนึ่งว่าผู้กุมอำนาจแท้จริงในประเทศหาใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่

การหักหน้ารัฐบาลไทยครั้งนั้น ในขณะที่กระแสต่อต้านอเมริกากำลังเชี่ยวกราก ไม่เปิดทางอื่นให้รัฐบาลคึกฤทธิ์นอกเหนือไปจากการยื่นประท้วงที่สหรัฐละเมิดอธิปไตยของไทย

กระทรวงการต่างประเทศเรียกเอกอัครราชทูตอานันท์กลับจากวอชิงตัน “เพื่อปรึกษาข้อราชการฯ”

เรียกร้องให้สหรัฐมีหนังสือขอโทษ

และให้ทบทวนข้อตกลงต่างๆ ที่มีกับสหรัฐ

นับเป็นจุดที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐตกต่ำที่สุด

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ไทยวิตกกังวลมากขึ้นเริ่มในช่วงปลายปี 2521

วันที่ 25 ธันวาคม (วันคริสมาสต์) ปีนั้น เวียดนามบุกกัมพูชา ขับเขมรแดงออกไป ยึดกรุงพนมเปญสำเร็จภายในวันที่ 7 มกราคมของปีถัดไป

และแต่งตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดที่มีเฮง สัมริน เป็นนายกรัฐมนตรี

กองกำลังเวียดนามไล่ล่าเขมรแดงเข้ามาประชิดและรุกล้ำชายแดนไทย มีการปะทะกับทหารไทยและทำให้ราษฎรตามชายแดนบาดเจ็บล้มตายจำนวนไม่น้อย

“ที่น่ากลัวที่สุดสำหรับไทยคือไม่รู้ว่าเวียดนามจะหยุดการรุกรานที่ชายแดนกัมพูชาแค่นั้น หรือจะหาเหตุรุกต่อลึกเข้ามาในดินแดนไทย…” คุณวิทยาเล่า

พอดีจีนซึ่งสนับสนุนเขมรแดงได้ส่งกองกำลังขนาดใหญ่บุกเวียดนาม

ที่เรียกกันว่า “สงครามสั่งสอน”

ทำให้เวียดนามต้องเบี่ยงความสนใจส่งกองกำลังไปชายแดนภาคเหนือ

หลายปีให้หลัง คุณวิทยาคุยกับนักการทูตเวียดนาม ได้ความว่าที่มาเมืองไทยตอนแรกแล้วทำท่าขู่นั้น ความจริงเป็นแต่เพียงต้องการชิมลางว่าเพื่อนบ้านจะร่วมมือกันรับมือจีนได้ไหม

“ซึ่งสอดคล้องกับรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศทำเสนอนายกฯ คึกฤทธิ์เมื่อพฤษภาคม 2518 ว่าเวียดนามอาจไม่ได้มาอย่างที่เรากลัวกัน แต่อาจมาชิมลางหาเพื่อน และต่อมาก็พบว่าในเอกสารทางการของเวียดนามเองก็ระบุเช่นนั้น”

คุณวิทยาสรุปว่า

“ในที่สุดแล้ว ทฤษฎีโดมิโนที่ตั้งสมมุติฐานว่าหากเวียดนามตกเป็นคอมมิวนิสต์ จะทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกว้างไปกว่านั้นกลายเป็นคอมมิวนิสต์กันหมดประดุจโดมิโนที่ล้มเรียงรายก็ถูกพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริง…”

ไทยเป็นประเทศที่ยับยั้ง “ปรากฏการณ์โดมิโน” หรือ stopped the domino effect ไม่ล้มตาม

และทำให้ภูมิภาคยืนหยัดต่อไปได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

ในบทนี้ของหนังสือเล่มนี้ คุณวิทยาสรุปว่า

“กลยุทธ์เล็กๆ น้อยๆ การมีความคิดร่วมกัน หรือการที่รัฐมนตรีชาติชายไปดึงจีนเข้ามาโดยเร็ว เหมือนกับในประวัติศาสตร์โบราณที่ไทยมักเข้าหาจีนเมื่อมีปัญหากับเวียดนาม…”

(สัปดาห์หน้า : การทูตไทยเมื่อเวียดนามบุกเขมร…และจีนลุยเวียดนาม)