คุยกับทูต | โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ (จบ)

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) คือหนึ่งในมาตรการหลักภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวของสหรัฐ (NSS) ที่ถูกประกาศในปี 2017 และจากยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก สู่กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF)

สหรัฐอเมริกาเป็นชาติมหาอํานาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก พื้นที่ภูมิภาคนี้ทอดยาวจากชายฝั่งแปซิฟิกไปจรดมหาสมุทรอินเดีย และเป็นที่อาศัยของผู้คนกว่ากึ่งหนึ่งของประชากรโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจเกือบ 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก

รวมทั้งเป็นที่ตั้งของ 7 กองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทหารอเมริกันประจำการอยู่ในภูมิภาคนี้มากกว่าที่อื่นใดนอกสหรัฐ

ด้วยเหตุผลที่ว่าอาเซียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกองกำลังสหรัฐภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกอย่างมากและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะอาเซียนตั้งอยู่ระหว่างสองมหาสมุทรได้รับผลกระทบโดยตรง และต้องเผชิญกับภูมิภาค ที่มีบริเวณกว้างใหญ่ ซึ่งขยายไปถึงแอฟริกาตะวันออก อันจะนำไปสู่ความร่วมมือทางทะเลที่เข้มข้น

สหรัฐมุ่งให้ความสนใจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากภูมิภาคนี้เผชิญความท้าทายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายโรเบิร์ต โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

นายโรเบิร์ต โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ชี้แจงว่า

“ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีความสําคัญยิ่งต่อความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศ เป็นนโยบายต่างประเทศที่มีความสำคัญสูงสุดของเรา”

“ผมขอเน้นย้ำความมุ่งมั่นว่า ผมมาประเทศไทยเพื่อปรับปรุงและกระชับความสัมพันธ์ ระหว่างไทยกับสหรัฐให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นั่นคือหลักการและเป้าหมายที่ผมต้องการจะใช้เวลาและพลังของผมทั้งหมดมุ่งไปยังภารกิจนี้”

“ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-ไทยเริ่มขึ้นเมื่อ 2 ศตวรรษก่อน เรามีความเกี่ยวพันกัน เมื่อชาวอเมริกันเดินทางมาภูมิภาคนี้เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้า เราจึงมีการค้าการลงทุนมากมาย มีความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรือง อนาคตของเราจึงอยู่ในภูมิภาคนี้ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและอีกหลายๆ ด้าน โดยมีการพบกันในการประชุมครั้งสำคัญเมื่อไม่นานมานี้ ระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีไบเดน”

ผู้นำสหรัฐและผู้นำจีน พบกันที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ก่อนเข้าร่วมประชุมผู้นำ G 20 ซึ่งเป็นเวทีหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจขนาดใหญ่

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังได้เคยกล่าวในการประชุมผู้นำกลุ่มภาคี 4 ประเทศ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2021ว่า อนาคตของเราแต่ละประเทศ ซึ่งแท้จริงแล้ว คือทั้งโลกนั้น ขึ้นอยู่กับความยืนยงและเจริญรุ่งเรืองในอีกหลายทศวรรษข้างหน้าของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

และต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม 2021 ประธานาธิบดีสหรัฐแถลงต่อหน้าผู้นำจาก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน (ผู้นำเมียนมาไม่เข้าร่วมการประชุม) รวมทั้งผู้นำจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และรัสเซีย ณ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ว่า

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐในสมัยของเขาจะวางอยู่บนหลักการ 5 ข้อ นั่นคือ เสรีภาพและเปิดกว้าง (Free and Open), เชื่อมโยง (Connected), เจริญรุ่งเรือง (Prosperous), มีความมั่นคง (Secure) และ ยืดหยุ่นยั่งยืน (Resilient)

กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐ

สหรัฐกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

“รัสเซียรุกรานยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 จุดจบของสงครามในครั้งนี้ ผมคิดว่า ขึ้นอยู่กับคนเพียงคนเดียว คือ วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งสามารถยุติสงครามนี้ได้หากเขาต้องการทำเช่นนั้น นี่เป็นสงครามที่ชายคนหนึ่งและกองทัพของเขาได้กระทำการอันโหดร้าย ป่าเถื่อน อย่างน่าสยดสยองและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชาวยูเครนและประเทศยูเครน” เอกอัครราชทูตโกเดค แสดงความคิดเห็น

“นี่คือสงครามที่วลาดิมีร์ ปูติน เป็นผู้เลือก และผมคิดว่าคนทั้งโลกควรลุกขึ้นยืนหยัด โดยบอกให้เขาหยุด และต้องหยุดเดี๋ยวนี้ และต้องถอนกำลังออกทันที พร้อมชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ที่ถูกกระทำ”

“โปรดอย่าลืมว่า เราทุกคนต้องชื่นชมความกล้าหาญของประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy), ประชาชนชาวยูเครน และกองทัพยูเครนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และประชาธิปไตย โดยสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ในการต่อสู้ครั้งนี้”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระวโรกาสให้ เอกอัคราชทูตสหรัฐ เฝ้าถวายสักการะ

ในความเหมือนและความแตกต่างของแต่ละประเทศที่ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต

“แน่นอนว่า ความแตกต่างกันนั้นมีหลายอย่าง แต่ก็มีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ภาษา หรือวัฒนธรรม”

“ในตูนิเซีย อารบิกเป็นภาษาราชการ ภาษาต่างประเทศที่ใช้ทั่วไปคือ ฝรั่งเศส ผมจึงพูดฝรั่งเศสมากกว่าอังกฤษ”

“ส่วนความคล้ายคลึงกันในความหมายของการเป็นเอกอัครราชทูต นั่นคือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ท้ายที่สุดก็มักจะเกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อกับผู้คน การพยายามสร้างความเชื่อมโยงกันในการดำเนินภารกิจ”

“สำหรับผมก็จะพยายามดำเนินงานเช่นเดียวกันกับคนไทย รัฐบาลไทย โดยการหาวิธีเชื่อมโยงสถาบันต่างๆ ระหว่างสหรัฐและไทย ดังนั้น ความคล้ายคลึงกันจึงมีในแง่ที่ว่า ประสบการณ์ในอดีตจะเอื้อประโยชน์ให้แก่การทำงานอย่างแน่นอน”

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกิจกรรมวาดภาพบนกำแพงสถานเอกอัครราชทูต

กิจกรรมที่ให้ความสนใจสูงสุดในชีวิต

“ผมมีความสนใจในหลายๆ เรื่อง แต่หากเป็นเรื่องส่วนตัว ความสนใจสูงสุดในชีวิตของผมคือ ภรรยาและครอบครัว”

“การวิ่งเป็นกิจกรรมที่ผมรัก จึงใช้เวลามากในเรื่องของการวิ่ง ผมวิ่งเป็นหลักทุกวัน สำหรับที่กรุงเทพฯ คือสวนลุมพินี และสวนเบญจกิติ และหลายปีที่ผ่านมาก็ได้ลงแข่งในหลายรายการ นอกจากนี้ ที่สนใจคือ ดนตรี ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวรรณคดี”

“ผมชอบไปพิพิธภัณฑ์ และที่ได้ไปชมมาแล้ว ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร”

งานเทศกาลลอยกระทงที่เชียงใหม่

“เมื่อครั้งผมไปเยี่ยมสถานกงสุลเชียงใหม่ ก็ได้ร่วมงานเทศกาลลอยกระทง, ชมพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. และในโอกาสเดียวกันนี้ กองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม (AFCP) ได้มอบทุน 150,000 เหรียญสหรัฐเพื่อช่วยอนุรักษ์เรือนโบราณล้านนา 9 หลังที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย”

“ที่กรุงเทพฯ วัดที่ผมได้ไปเยี่ยมชม คือวัดโพธิ์ วัดอรุณฯ ล่าสุด ผมไปร่วมงานกาชาดที่สวนลุมพินี มีประชาชนไปร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก”

“ส่วนเรื่องอาหาร ผมชอบอาหารไทย และอาหารริมทางสตรีตฟู้ด เช่น ไก่ย่าง ลูกชิ้นเสียบไม้ และกล้วยทอด”

“ในความเป็นจริง ผมอยากพูดคุยกับคนไทยทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็น และแบ่งปันความหวัง ความฝัน ในสิ่งที่พวกเขาต้องการจากการเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน เพื่อที่เราจะได้ช่วยกันสร้างให้เกิดเป็นความจริงขึ้นมาในที่สุด ขอบคุณและสวัสดีครับ” •

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin