“คลองแม่ข่า” แลนด์มาร์คใหม่ล่าสุดสไตล์ญี่ปุ่น ที่เชียงใหม่

ปริญญา ตรีน้อยใส

สองสามปีแห่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ติ่งญี่ปุ่นหิวกระหายยิ่งนัก จนทำให้เกิดกระแสเจแปนเชียงใหม่

ไม่ว่าจะเป็นเสาแดงโทริจำลอง ที่เกือบได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม (ญี่ปุ่น) หรือร้านข้าวซอย Khoa so i ชื่อดัง ไม่นับร้านกาแฟ ร้านชา ร้านราเม็ง ที่พักออนเซน ที่บานสะพรั่งไปทั่วเมือง

เชียงใหม่เลยกลายเป็นจุดหมายแทนญี่ปุ่นชั่วคราว ของนักท่องเที่ยวไทยคนละครึ่ง

ลอยกระทงปีนี้ เทศบาลนครเชียงใหม่เปิดตัวสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ จำลองย่านโกดัง ริมท่าเรือเมืองฮอกไกโด โอตารุขึ้นมา อยู่ไม่ไกลจากแหล่งช้อปปิ้งไนท์บาซาร์ ที่ล่มสลายไปเมื่อไวรัสมงกุฎมา และนักท่องเที่ยวจีนไม่มา

ด้วยบรรยากาศคล้ายๆ อุณหภูมิเย็นๆ ทางเดินราบเรียบสองข้างคลองแม่ข่า รวมทั้งสะพานไม้โค้ง และแสงสีแอลอีดีสว่างไสว เกิดเป็นจุดเซลฟี่ ดื่มกาแฟ และช้อปปิ้งที่คึกคัก แทนไนท์บาซาร์ ริมถนนเจ้าเก่า ที่รกรุงรังไม่น่าดู

นับเป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิด ว่ากันว่า คลองแม่ข่า โอตารุนี้ มาจากการผลักดันของคนหลายกลุ่มร่วมสรรค์สร้างขึ้นมานานหลายปีทีเดียว

 

คลองแม่ข่าและกำแพงดินชั้นนอกของเมืองเชียงใหม่เป็นโบราณสถาน และเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นขอบเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ในประวัติศาสตร์ เพียงแต่ว่า ถูกปล่อยปละละเลยมานาน จึงมีผู้คนบุกรุกสร้างบ้านเรือน เปิดกิจการทำธุรกิจมานมนาน

จน กำแพงดิน เคยเป็นคำเรียกขานแหล่งค้าประเวณีของโสเภณีในยุคอะนาล็อก

ทุกวันนี้กิจการประเภทนั้นเลิกราไปแล้ว ที่เหลืออยู่ก็เปลี่ยนรูปแบบ แต่ร้านค้าและบ้านพักอาศัยยังคงปักฐานอยู่หนาแน่นเหมือนเดิม โดยเฉพาะทางตอนใต้ของเมือง ที่กำแพงดินสลายหายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่

คลองแม่ข่า มีสภาพเป็นท่อระบายน้ำเสียของชุมชนมาช้านาน สร้างปัญหาเน่าเหม็น และตลิ่งทรุดพัง ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ผู้บุกรุกรุ่นโบราณอาจมีฐานะอยู่บ้าง แต่ผู้บุกรุกรุ่นใหม่ล้วนเป็นผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่มีทางเลือกที่อยู่อาศัยอื่น เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งงานคือย่านไนท์บาซาร์

เมื่อข้าราชการและนักวิชาการมีแนวคิดจะอนุรักษ์แนวกำแพงเท่าที่มี และคลองแม่ข่า จึงกำหนดเป็นแผนพัฒนาเมืองเก่า

แต่ก็ไม่ได้ให้แนวทางและระยะเวลาดำเนินงานชัดเจน โดยเฉพาะการรื้อไล่ผู้บุกรุก และแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย

พอดีรัฐบาลทหารมีโครงการบ้านมั่นคง ให้โอกาสผู้ยากไร้มีที่อยู่ แต่ด้วยอยู่ไกลจากเมืองหลวง จึงโชคดี ไม่ได้งบประมาณสร้างทาวน์เฮาส์ราคาประหยัด เหมือนโครงการริมคลองในกรุงเทพฯ หากเหลือแค่งบช่วยเหลือปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเดิม ให้แข็งแรงพออยู่อาศัยได้ระดับหนึ่ง

พอดีเทศบาลนครเชียงใหม่ไม่มีงบประมาณมากพอสร้างสวนสนุกเหมือนที่คลองช่องนนทรีในกรุงเทพฯ การพัฒนาคลองแม่ข่าเลยทำได้แค่ท่อระบายน้ำ รองรับน้ำเสียจากบ้านเรือน และสร้างเขื่อนเรียบง่ายกันตลิ่งทรุด เพื่อสะดวกในการก่อสร้างตลิ่งใหม่ จึงไม่ยึดแนวทางน้ำเดิม ทำให้มีพื้นที่ว่างริมคลอง เมื่อปรับเรียบปูแผ่นปูนแบบธรรมดา ก็กลายเป็นทางเดินเล่นธรรมดา แต่สวยงาม

พอดีเจ้าของบ้านลงมือปรับปรุงบ้านด้วยวิธีชาวบ้าน ที่สำคัญ ไม่ใช่แบบล้านนาที่นักวิชาการชี้ชวน ยังใช้ความสามารถดัดแปลงให้บ้านเป็นร้านค้า จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปขายที่ไนท์บาซาร์เหมือนแต่ก่อน

พอดีมีต้นไม้ใหญ่เหลืออยู่บ้าง อีกทั้งไม่มีงบซื้อต้นไม้พิการมาปลูก เหมือนที่ กทม.ชอบ ชาวบ้านยังช่วยกันปลูกพืชผักสวนครัว อย่างตะไคร้ กะเพรา พริก เป็นต้น เอาไว้เก็บกินเอง

เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น ที่เทศบาลเจียดงบลงไม้ดอกตกแต่งให้สวยงาม

 

สําหรับนักท่องเที่ยวแล้ว ช่วงกลางวันอาจร้อนอยู่บ้าง แต่พอบ่ายร่มเย็นค่ำจะเย็นสบาย ยิ่งช่วงลอยกระทงมีการตกแต่งด้วยโคมกระดาษสี ดวงไฟแอลอีดี คลองแม่ข่า เลยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยามราตรี แทนไนท์บาซาร์

หากเปรียบเทียบกับคลองช่องนนทรีที่ใช้งบประมาณมหาศาล คนออกแบบฟูมฟาย อยากให้เหมือนคลองในเกาหลี ทุกวันนี้กลายเป็นกองขยะต้นไม้ และสุสานทางเดินคอนกรีต ที่ไม่มีใครสนใจ และไม่อยากจดจำ โดยเฉพาะชื่อท่านผู้ว่าฯ เจ้าของโครงการ

แต่สำหรับคลองแม่ข่า เมื่อทุกรายการ ทุกฝ่ายที่ดำเนินการ อยู่ภายใต้ข้อจำกัด ทุกอย่างจึงเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่เสแสร้ง

จนบังเอิญไปคล้ายย่านโกดังท่าเรือ ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในฮอกไกโด ที่ชื่อ โอตารุ •