เทียบการรักษาสถานีรถไฟยูติกา-การทุบสถานีรถไฟโคราช ทุบทิ้งประวัติศาสตร์ประเทศ

ช่วงก่อนสิ้นปี มีข่าวที่ผมอ่านแล้วเกิดความรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก คือข่าวจาก น.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 26 ธันวาคม 2565 ที่โปรยหัวข่าวว่า

ปิดตำนาน 122 ปี เตรียมทุบทิ้ง “สถานีรถไฟโคราช”

หัวข่าวรองโปรยว่า

“ร.ฟ.ท.” เตรียมทุบทิ้ง ตำนาน 122 ปี “สถานีรถไฟโคราช” เริ่มกุมภาพันธ์ 2566 เล็งสร้างสถานีใหม่ รองรับไฮสปีด-รถไฟทางคู่ หนุนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น

เนื้อข่าวเพิ่มเติมเสนอว่า ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีแผนรื้อถอนสถานีรถไฟนครราชสีมา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เนื่องจากจะมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นสถานีใหม่ที่ทันสมัย รองรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) และรถไฟรางคู่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย และรองรับผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้จัดนิทรรศการรำลึกสถานีรถไฟโคราช 122 ปีขึ้น เพื่อให้พี่น้องชาวจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนนักท่องเที่ยว ได้ร่วมย้อนรำลึกตำนานเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 21-25 ธันวาคม 2565 โดยย้อนรำลึกประวัติศาสตร์อันยาวนานของสถานีรถไฟเก่าแก่กลางเมืองย่าโม

และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระราชดำริให้สร้างเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ใช้สัญจร และเข้าถึงย่านการค้าที่สำคัญในอนาคตอันใกล้

ผมอ่านข่าวข้างต้นด้วยความรู้สึกเศร้า สลดหดหู่ใจเป็นอย่างมาก เกิดคำถามขึ้นมามากมาย ดังต่อไปนี้ คือ

จู่ๆ ร.ฟ.ท.ก็ออกมาบอกว่าจะทุบทิ้งสถานีรถไฟโคราช 122 ปี เพื่อสร้างสถานีใหม่อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ร.ฟ.ท.เคยสำรวจความคิดเห็นคนโคราช (และคนไทยทั่วประเทศ) ไหม ว่าเขายินดีให้ทุบทิ้งสถานีรถไฟเก่าที่เป็นตำนาน 122 ปีหรือไม่ อย่างไร

ไม่ใช่ทำอะไรตามอำเภอใจของฝ่ายบริหาร ร.ฟ.ท.เพียงฝ่ายเดียว

ถ้า ร.ฟ.ท.จะสร้างสถานีรถไฟโคราชใหม่ ทำไมไม่ขึ้นอาคารใหม่อีกหนึ่งหลังใกล้กันกับสถานีเก่า ตอนเริ่มสร้างทางรถไฟนั้น รัชกาลที่ 5 ได้เวนคืนที่ดินราษฎรสองข้างทางรถไฟไว้ให้จำนวนมาก น่าจะเพียงพอที่จะขึ้นอาคารอีกหลังได้

หรือ ร.ฟ.ท.เอาที่ดินข้างสถานีรถไฟไป “หากิน” เซ้งให้สร้างอาคารพาณิชย์ไปหมดแล้ว

ต้องรำลึกว่า สถานีนครราชสีมาเปิดให้บริการในฐานะสถานีโคราช พิธีเปิดดำเนินการโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ 21 ธันวาคม 2443

ร.ฟ.ท.จะทุบทิ้งสถานีรถไฟ ควรคำนึงถึงหัวอกของราษฎรที่ยอมเสียสละโดนเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางรถไฟตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว มิฉะนั้น บรรพบุรุษเหล่านั้นจะรุมสาปแช่งผู้บริหาร ร.ฟ.ท.ขณะนี้

ขณะเดียวกัน เมื่อจะสร้างทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง ก็มีการออก พ.ร.ฎ. (พระราชกฤษฎีกา) เวนคืนกันแนวเขตเวนคืนเมืองโคราชเพื่อสร้างทางรถไฟไว้ 800 เมตร โดยเฉพาะบริเวณสถานีรถไฟโคราชมีการกันแนวเวนคืนไว้ 800 เมตร อีกทั้งมีข่าวว่าที่จุดนี้แต่เดิมมีที่ดินของการรถไฟอยู่หลายร้อยไร่ทางทิศใต้

ทำไมการรถไฟฯ ไม่ไปสร้างสถานีใหม่บนที่ดินของตัวเองที่มีอยู่หลายร้อยไร่ทางทิศใต้นั้น จะต้องมาทุบทิ้งสถานีรถไฟโคราชเก่าเพื่ออะไร

ผมเปรียบเทียบสถานีรถไฟโคราชกับสถานีรถไฟยูติกา (Utica Station) ของเมืองยูติกา รัฐนิวยอร์ก ที่ถือว่าเป็นสถานีรถไฟหัวเมืองในอเมริกา ไม่ใช่สถานีใหญ่อย่าง เพนสเตชั่นในนิวยอร์ก, สถานีฟีลาเดลเฟีย หรือสถานียูเนี่ยนสเตชั่นในวอชิงตัน ดี.ซี.

สถานียูติกาสร้างมา 117 ปี เป็นรุ่นน้องสถานีโคราชนิดหน่อย สร้างมารองรับสมัยรถไฟท้องถิ่นเชื่อมเข้าไปแคนาดา ต่อมาระบบรถไฟอเมริกาเปลี่ยนเป็น Amtrak วิ่งทั่วประเทศ เป็นรถไฟความเร็วสูงระดับหนึ่ง (ยังไม่เท่าชินคันเซ็นของญี่ปุ่น) ก็ยังใช้อาคารสถานีรถไฟยูติกาดั้งเดิมรองรับผู้โดยสาร ไม่เห็นต้องไปทุบทิ้งเพื่อสร้างอาคารใหม่แต่อย่างใด

หนุ่มสาวเมืองยูติกา เวลาทำพิธีแต่งงานจะตั้งโต๊ะเลี้ยงฉลองกันในสถานี

ต้องยอมรับความจริงว่า สถานีรถไฟระหว่างทางจะมีแค่ผู้โดยสารเปลี่ยนผ่านขึ้นลงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีผู้โดยสารหนาแน่นเหมือนสถานีต้นทางหรือปลายทางจนล้นหลามอาคารสถานีแต่อย่างใด

จึงไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องทุบทิ้งสถานีเก่าเพื่อสร้างสถานีใหม่ไปทำไม ถ้าจะสร้างใหม่ก็สร้างอีกแห่งหนึ่งใกล้ๆ กันไปเลย

ที่จริง ไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารสถานีใหม่ด้วยซ้ำไป ดูสถานียูติกาเป็นตัวอย่าง

เปรียบเทียบเรื่องนี้กับสถานียูติกาหรือสถานี 122 ปีแห่งอื่นในอเมริกา ขอบอกว่า บ้านนี้เมืองนี้จะไม่มีวันทุบทิ้งสถานีรถไฟเก่าอายุร้อยกว่าปีโดยเด็ดขาด มีแต่เก็บไว้ให้ลูกหลานภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติ

ยกตัวอย่างเช่น สถานีรถไฟเรดดิ้งที่เป็นสถานีรถไฟยุคแรกของอเมริกา สมัยนี้ไม่มีรถไฟวิ่งออกจากสถานีเรดดิ้งแล้ว แต่ตัวสถานีก็ยังอยู่ หอระฆังรถไฟขนาดใหญ่หน้าสถานียังยืนเด่นเป็นสง่า บอกเล่าประวัติอันเคยรุ่งโรจน์ของรถไฟเรดดิ้ง

ไม่จำเป็นต้องทุบสถานีเรดดิ้งเพื่อสร้างศูนย์การค้าเหมือนบางประเทศ

ปลายปี 2664 เคยมีข่าวว่า ร.ฟ.ท.จะทุบทิ้งสถานีหัวลำโพง เนื่องจากจะเปิดใช้สถานีบางซื่อเต็มศักยภาพ และจะไม่มีรถไฟวิ่งเข้าหัวลำโพงแล้ว

ไม่คำนึงว่าหัวลำโพงสร้างมาแล้ว 105 ปี (สร้างปี 2459) ถอดแบบความงดงามมาจากสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ก่อสร้างเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะยุคเรอเนสซองส์ วัสดุก่อสร้างมาจากเยอรมนี บันไดและเสาอาคารเป็นหินอ่อน เพดานเป็นไม้สักสลักลายนูน มีกระจกสีที่ช่องระบายอากาศทั้งหน้าและหลัง มีนาฬิกาบอกเวลาเก่าแก่เท่ากับตัวอาคาร ติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางยอดโดม ยังใช้งานได้ทุกวันนี้

คนที่คิดทุบทิ้งหัวลำโพง เป็นคนสิ้นคิด คนที่อนุมัติสิ้นคิด สิ้นชาติยิ่งกว่า

ยังโชคดีที่มีเสียงคัดค้านการทุบหัวลำโพง ตอนนี้จึงเงียบๆ ไป แต่ไม่มีข่าวว่ายกเลิกการทุบทิ้งไปแล้ว อาจจะรอจังหวะโผล่มาทุบหัวลำโพงตูมทันทีเลยก็เป็นได้

แต่วันนี้ ร.ฟ.ท.กำลังจะทุบสถานีโคราชแล้ว

ช่างไม่คำนึงว่า การทุบสถานีรถไฟ 122 ปี คือการทุบประวัติศาสตร์ชาติไทย

แล้วจะเหลืออะไรไว้ให้ลูกหลานภาคภูมิใจในความเป็นไทย?