คุยกับทูต | โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ (2)

หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ได้ร่วมงานกับภาคีไทยมาเป็นเวลากว่า 60 ปีเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนอเมริกัน ไทย และนานาชาติ ผ่านทางการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ตลอดจนโครงการริเริ่มด้านสาธารณสุขต่างๆ

“AFRIMS เป็นหุ้นส่วนที่สำคัญมากในด้านสุขภาพ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย เรามีความสัมพันธ์และความร่วมมือร่วมใจกัน ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยทางการแพทย์ของไทยและของสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับโรคต่างๆ ทุกประเภท ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”

นายโรเบิร์ต โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย

นายโรเบิร์ต โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย กล่าวถึง ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (สวพท.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐ) (USAMD-AFRIMS)

“ภารกิจของกองอำนวยการหน่วยแพทย์ทหารบกสหรัฐ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (USAMD-AFRIMS) คือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เหล่าทหาร และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจโดยพัฒนาการแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรคติดเชื้อต่างๆ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการวิจัยเชิงเฝ้าระวังในทวีปเอเชีย”

กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้มีความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดผ่านศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข (TUC) และ AFRIMS มาอย่างต่อเนื่อง ร่วมศึกษาวิจัยทดลองทางคลินิกโรคเขตร้อน การผลิตวัคซีนเอชไอวี และวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก รวมทั้งตั้งแต่ช่วงแรกที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ช่วยสืบค้นผู้สัมผัส และการตรวจทางห้องปฏิบัติการหาเชื้อโควิด-19 ซึ่ง AFRIMS เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการวิจัยทางการแพทย์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด

นายโรเบิร์ต โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกาย้อนหลังไปถึงปี 1818 ประเทศไทยและสหรัฐเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดและผู้ร่วมมือทางการทูตมายาวนาน มีความสัมพันธ์กันหลากหลายมิติทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคงและการทหาร”

“เมื่อมาถึงเมืองไทย ผมเริ่มต้นจากการเข้าถึงตามสถานที่ต่างๆ และพูดคุยกับผู้คน เพื่อรับฟังและทำความเข้าใจในความต้องการของเขา ผมอยากได้ยินว่าคนไทยสนใจอะไรเพื่อจะได้คิดหาวิธีสร้างคอนเน็กชั่นใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ ในการถักทอพรมผืนนี้ ผมต้องการหาวิธีกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในแบบที่ทั้งสองฝ่ายต่างเลือกที่จะทำและคิดว่าจะเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เชื่อมโยงการศึกษาระหว่างนักเรียนและครูอาจารย์ของทั้งสองประเทศ หรือจะเป็นโครงการของรัฐบาลต่อรัฐบาลก็ตาม และนั่นคือเป้าหมายของผม”

เอกอัครราชทูตโกเดค เยี่ยมชมศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) สหรัฐฯ ซึ่งทำงานกับ กระทรวงสาธารณสุขของไทย

“ในปี 2023 ไทยและสหรัฐอเมริกาจะร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 190 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน อันเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือที่มั่นคงและแข็งแกร่ง เพื่อให้เกิดโอกาสและความมั่งคั่งต่อทั้งชาวไทยและชาวอเมริกัน เราเป็นหุ้นส่วนกันกว่าสองศตวรรษ ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ธุรกิจต่อธุรกิจ มหาวิทยาลัยต่อมหาวิทยาลัย ประชาชนต่อประชาชน เป็นพรมหรือผืนผ้าที่ถักทอได้หลายรูปแบบ และเป็นพรมหรือผืนผ้าที่ผมต้องการถักให้ถูกต้องสวยงามกว่านี้”

ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างกันที่ดำเนินมากว่าสองศตวรรษ นับตั้งแต่สนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ปี 1833 ความเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาจากกติกามะนิลา (Manila Pact) ปี 1954 แถลงการณ์ร่วมถนัด-รัสก์ ปี 1962 และสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ปี 1966

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยโกเดค และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS)

“การฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 190 ปีนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวของไทย-สหรัฐ ซึ่งได้มีการลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แอนโทนี เจ. บลิงเคน กับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐ ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (Communiqu? on Strategic Alliance and Partnership) ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2022”

“ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงความเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดและความสัมพันธ์อันยาวนานของมิตรภาพ ที่ได้กำหนดเป้าหมายกลยุทธ์ของเราตามค่านิยมและความสนใจร่วมกัน”

เอกอัครราชทูตโกเดค เยี่ยมชมศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) สหรัฐฯ ซึ่งทำงานกับ กระทรวงสาธารณสุขของไทย

“ผมเป็นเอกอัครราชทูตครั้งแรกประจำตูนิเซีย ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางทวีปแอฟริกาเหนือ เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์และเสน่ห์ที่หลากหลาย ตูนิเซียในช่วงนั้น อยู่ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีเบน อาลี (Zine El Abidine Ben Ali) ซึ่งเป็นเผด็จการ งานที่ได้รับมอบหมายจึงถือว่าท้าทายมาก ผมคิดว่าจากการประเมินสถานการณ์ต่างๆ เราดำเนินความสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสมแล้ว และผมอยู่ในตูนิเซีย 3 ปี ต่อมา จึงเป็นเอกอัครราชทูตประจำเคนยาอีก 6 ปี”

“เราทำหลายอย่างเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างตูนิเซียกับสหรัฐอเมริกา และเคนยากับสหรัฐอเมริกา ผมมีความสุขมากที่ได้รู้จักผู้คนมากมายและทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นของทั้งสองประเทศดังกล่าว”

“จากการที่ผ่านประสบการณ์มามากในฐานะนักการทูต ก็ต้องเรียนรู้วิธีปรับตัว เรียนรู้วิธีการ ปฏิบัติงานในสถานที่ใหม่ๆ และอย่างที่พูดไปก่อนหน้านี้ จากการรับฟังผู้คนเพราะผมมาด้วยความคิดและหัวใจที่เปิดกว้าง เพื่อที่จะได้เห็น และได้เข้าใจ ในความเป็นจริงของแง่มุมต่างๆ และนำไปประมวลเรื่องราวและประเด็นสำคัญทั้งหมดที่เราได้ยินได้ฟังมา”

“แต่ตอนนี้ ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้มาอยู่ที่นี่…ประเทศไทย”

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS)

“ส่วนจะมีบุคคลทางการเมืองระดับสูงของสหรัฐมาเยือนไทยหรือไม่นั้น ยังเร็วเกินไปที่จะพูดในตอนนี้ แต่เอาเป็นว่าผมมุ่งมั่นทำงานเพื่อให้มี การเยี่ยมเยือนกันและกันของผู้นำระดับสูงทั้งสองประเทศเสมอ เป็นการกระชับสัมพันธภาพในความสัมพันธ์รอบด้านของเรา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์”

“ตัวอย่างเช่น อาจจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเราต้องเคารพในกระบวนการเลือกตั้ง และตั้งตารอดูผลที่จะตามมา ส่วนเรื่องการประท้วงในไทย ในต่างประเทศก็เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงขึ้นหลายแห่งเช่นกัน เป็นสิ่งที่ท้าทายเราเสมอ”

“ผมไม่ได้ดูแลกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ประเทศเพื่อนบ้านของไทย เพราะเรามีสถานทูตสหรัฐในประเทศเหล่านั้นทั้งหมด แต่ผมเคยไปกัมพูชามาก่อน เมื่อหลายปีมาแล้ว และก็เคยอยู่ที่พม่า ได้มีโอกาสพบบุคคลสำคัญมากมาย ตั้งแต่ผู้นำของสหรัฐ, นางแมเดอลีน ออลไบรต์ อดีต รมว.ต่างประเทศหญิงคนแรกของสหรัฐ, นางออง ซาน ซูจี, เนลสัน แมนเดลา, บารัก โอบามา จนถึงประธานาธิบดีคนปัจจุบัน”

“สำนักงานของผู้แทนการค้าสหรัฐ (US Trade Representative) เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานบริหารของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ (Executive office of the President) ดังนั้น ในทางเทคนิคแล้ว หน่วยงานของเราจึงเป็นส่วนหนึ่งของทำเนียบขาว” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin

คุยกับทูต | โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ (1)