จับตา แบไต๋ แก้ไขรัฐธรรมนูญกับ PRIDI Talks #9 x CONLAB /รายงานพิเศษ

ในห้วงเวลาปัจจุบันนี้ ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อหรือเรียกได้ว่าอยู่ท่ามกลางของหลายแยกแพร่งแห่งความโกลาหล หากเดินก้าวข้ามแยกนี้ไปได้เราจะมองเห็นทางออกของวิกฤต ฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพและสวัสดิการต่างๆ แต่หากก้าวเดินถอยหลังนอกจากไม่เห็นทางแล้ว ยังกลับไปชนกับวิกฤตปัญหาเดิมๆ ที่อาจทำให้ประเทศไทยล้มฟุบไม่เป็นท่า

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมาทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ได้สร้างพื้นที่ให้มีการร่วมคิด ร่วมร่าง ร่วมสร้าง ‘รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์’ ในกิจกรรม PRIDI Talks 9 x CONLAB มีการเสวนาจาก 5 วิทยากรทรงคุณวุฒิ และมีกิจกรรมเวิร์กชอปที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ลองร่างรัฐธรรมนูญในฝันฉบับประชาชนด้วย ที่ TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก กรุงเทพฯ

การเสวนาเริ่มต้นโดยการพูดถึงประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญจากการปฏิวัติฝรั่งเศสกับ ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน ถัดมาก็เน้นย้ำความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จุดยืนด้านประชาธิปไตยอย่างก้าวหน้าของท่านปรีดี และสัมผัสถึงจิตวิญญาณประชาธิปไตยและการต่อสู้อย่างสันติโดยผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ และในช่วงกลางของการเสวนาพบกับ ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ ที่พูดถึงการใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตยอย่างฉะฉานตรงประเด็น การพูดถึงปัญหาในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างตรงไปตรงมากับเจ้าสำนัก ilaw ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และตัวแทนของคนรุ่นใหม่อย่างไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ที่มาย้ำถึงปัญหาและสิ่งที่ควรแก้ไขในรัฐธรรมนูญปี 60

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ (คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติหรือไม่

โดย ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน / อดีตเอกอัครราชทูต  

นักเรียนไทยในต่างแดนได้ตั้งคำถามกับท่านปรีดี พนมยงค์ว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิถีหรือไม่?  ท่านปรีดีตอบว่า ณ ที่ใดที่ราษฎรดิ้นรนทนไม่ได้ สังคมจะต้องเปลี่ยนแปลง โดยจะเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประวัติศาสตร์”

ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน (อดีตเอกอัครราชทูต)

ในปี ค.ศ.1788 หรือก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส 1 ปี เกิดความยากจนข้นแค้นไปทั่วทุกหัวระแหง เพราะความฟุ่มเฟื่อยของชนชั้นนำทำให้เงินหมดท้องพระคลัง นำมาซึ่งการเรียกเก็บภาษีจากราษฎรเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ จึงเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นในปี ค.ศ.1789 และเกิดรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 26 สิงหาคม ปี ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากจะพูดถึงสิทธิมนุษยชนและพลเมืองของชาวฝรั่งเศสแล้ว ยังพูดถึงสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์อีกด้วยซึ่งทันสมัยเป็นอย่างมาก

หลังจากเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้ว ในปี ค.ศ.1799 นโปเลียนได้ทำการยึดอำนาจและสถาปณาตนเป็นจักรพรรดิ ดังนั้นการปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้เราได้บทเรียนว่า  “เมื่อมีการล้มระบบการปกครองแบบเก่าแล้ว มันไม่ได้หมายความว่าอำนาจเก่าจะหมดไปโดยสิ้นเชิง จะเห็นได้ว่ามีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกได้”

และในประมวลกฎหมายแพ่งของนโปเลียน หรือ Code Napoleon นี้เอง ที่มีอิทธิพลกับคนไทยมาถึงทุกวันนี้โดยเราอาจไม่เคยรู้มาก่อนคือ ได้กล่าวถึงสิทธิต่างๆ ของคน สิทธิในการค้าขายหรือในผู้ซื้อซึ่งเป็นใครก็ได้ ไม่ได้จำกัดแค่ในวงชนชั้นสูง ซึ่งหลักความเสมอภาพเหล่านี้ก็ได้มีอิทธิพลต่อประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ญี่ปุ่น และไทยในที่สุด   

 

รัฐธรรมนูญ เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ / ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์

รัฐธรรมนูญไม่สามารถทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญจะเป็นกติกาสูงสุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรรัฐ ถ้าเรามีรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยของไทยสมบูรณ์ ดังเช่นเจตนารมณ์ของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มาจากการเลือกตั้ง แต่คนที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประชาธิปไตย คำพูดของฮิตเลอร์ได้แสดงความเป็นเผด็จการอย่างชัดเจน เขาพูดถึงวิธีการที่จะควบคุมประชาชาชนได้อย่างดีที่สุด คือ “ค่อยๆ กีดกัดเสรีภาพออกไปทีละเล็กทีละน้อย ทำลายมันให้หมดไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้ประชาชนรู้ตัว”

ท่านปรีดี พนมยงค์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงอยู่ได้ ต้องประกอบไปด้วยกฎหมาย และกฎหมายที่สำคัญที่สุดคือ “รัฐธรรมนูญ” ที่จะต้องเป็นประชาธิปไตย และระบบการปกครองที่ดี ประชาธิปไตยต้องมีศีลธรรมและต้องมีความซื่อสัตย์

เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ได้หมายความว่าเป็นประชาธิปไตยแค่ทางการเมืองเท่านั้น แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ มีวัฒนธรรม วิธีคิด และทัศนะแบบประชาธิปไตยด้วย การที่เราจะขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้ เบื้องต้นต้องวางกติกาสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญต้องอยู่บนหลักการของประชาธิปไตยเสียก่อน

เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยตามข้อเรียกร้อง ผลสรุปว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ส่วนอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอำนาจของประชาชน

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ (ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์)

ในวันที่ 17-18 มีนาคมที่จะถึงนี้ไม่ว่าผลการลงมติจะออกมาเป็นอย่างไร ในนามของเครือข่ายภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เราจะไม่ยอมแพ้ต่อการเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะเคลื่อนไหว ต่อสู้อย่างสันติ เพื่อให้ประเทศนี้เป็นของประชาชน เพื่อให้รัฐธรรมนูญที่สถาปนาโดยประชาชนเกิดขึ้นจริง

 

รัฐธรรมนูญ เครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตย?

โดย ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ / อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทำไมกฎหมายในประเทศไทยถึงยอมรับการทำรัฐประหารอยู่เรื่อยมา และทำไมคณะปฏิวัติรัฐประหารจึงสามารถยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ ทั้งๆ ที่ในรัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

นั่นก็เพราะคณะปฏิวัติได้มีการรับรองโดยคำพิพากษาฎีกาไว้แล้วมาอย่างยาวนานว่า “คณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย”  ดังนั้นคำพิพากษานี้จึงมีผลและรับรองการทำรัฐประหารตลอดมา

ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ทำไมประชาธิปไตยจึงไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย? 

จริงอยู่ที่การมีรัฐธรรมนูญจะแสดงถึงการปกครองของประเทศนั้นว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ก็อย่าลืมว่าการมีรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประชาธิปไตย บางประเทศมีรัฐธรรมนูญแต่ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะต้องไปดูในเนื้อหาของความเป็นรัฐธรรมนูญด้วย

และอีกเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือหนึ่งหรือสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็น Consensus หรือ ฉันทามติของคนในสังคม ดังนั้น ปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบันคือ เรายังไม่มีฉันทามติว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหน อย่างไร เรายังไม่เคยได้พูดคุยถึงประเด็นปัญหานี้กันอย่างจริงจัง แม้จะเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันแล้ว แต่ก็จะถูกปิดปากไม่ให้พูดถึงปัญหาสำคัญนี้อยู่เสมอ

ศาสตราจารย์โดมินิค ครูซโซ จากปารีส ได้พูดถึงประเทศไทยหากจะใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาวิกฤต โดยรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมี 3 ต้อง ดังนี้

  1. รัฐธรรมนูญที่ดีต้อง “ไม่เป็นตัวปัญหาสร้างเงื่อนไขของวิกฤติความขัดแย้ง” ตัวรัฐธรรมนูญเองต้องไม่ใช่ต้นตอสาเหตุของความขัดแย้งหรือไม่ลงรอบกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างหรือดุลอำนาจทางการเมือง
  2. รัฐธรรมนูญที่ดีต้อง “เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตได้” คือ สามารถเห็นปัญหาในอดีตและแก้ไขมันได้ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  3. รัฐธรรมนูญที่ดีต้อง “มีบทบัญญัติบางเรื่องที่สามารถหยิบยกเครื่องมือหรือรัฐธรรมนูญมาแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้” เช่น การทุจริต หรือคอรัปชั่น ฯลฯ

และอีกเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญมากๆ ในอนาคต คือ “ประชามติ” ซึ่งในต่างประเทศประชามติถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหาคำตอบของความขัดแย้ง เพราะมันได้กลับไปถามประชาชนว่ามีความเห็นอย่างไรในปัญหานั้น ย้อนกลับไปสู่ของประชาชนเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง

รัฐธรรมนูญในอนาคตควรออกแบบให้เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ควรมีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดสิทธิพลเมืองได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่สิทธิในการเลือกตั้งเท่านั้น แต่คือสิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ เสรีภาพในการนัดหยุดงาน หรือเสรีภาพในกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเท่าเทียม ต้องถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

การออกแบบรัฐธรรมนูญควรออกแบบให้มีการเคารพต่อสังคมพหุนิยม ความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย จะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ทรงคุณค่า

กระบวนการออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ว่าอย่างไม่เป็นทางการผ่าน ส.ส.ร. หรือผ่านกลุ่มคนต่างๆ เพื่อทำให้เกิด Dialogue หรือเกิดการพูดคุย เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้กระบวนการทำรัฐธรรมนูญเกิดความรู้สึกความเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้นหากจะมีการฉีกทำลายหรือการล้มล้างรัฐธรรมนูญ จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

และท้องถิ่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้จริง เพราะรัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงความเป็นอิสระของท้องถิ่นไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเคารพในเจตนารมณ์ของท้องถิ่น ความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายต่างๆ เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยจะเติบโตแผ่กิ่งก้านไปได้นั้นต้องมีรากฐานที่แข็งแรงจากท้องถิ่นก่อน

ท่านปรีดีได้พูดถึงท้องถิ่นได้อย่างก้าวหน้ามาก ว่า “เทศบาลเป็นการจำลองการปกครองของรัฐบาลกลางลงมาในส่วนย่อย และได้มุ่งหมายไว้ว่าเราจะได้ยกตำบลทุกตำบล ให้มีสภาพเป็นเทศบาลขึ้น มีการปกครองท้องถิ่น โดยวิธีนี้ราษฎรในท้องถิ่นจะได้ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองของตนเองได้อย่างเต็มกำลัง รวมทั้งจะเป็นการปลุกฝังการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญให้มั่นคงและแผ่ขยายไปทั่วราชอาณาจักร” ถ้าเมื่อไรก็ตามที่การปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ประชาชนตระหนักรู้ถึงสิทธิเสรีภาพในท้องถิ่นของตัวเอง การเลือกผู้แทนเพื่อทำประโยชน์ให้กับคนในท้องถิ่นของตัวเอง จะส่งผลอย่างมากต่อการเมืองระดับชาติ

และการที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ให้ได้นั้น จำต้องมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อไรที่สังคมสามารถขจัดความเลื่อมล้ำได้ เศรษฐกิจก็จะส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

เขียนรัฐธรรมนูญทะลุฟ้า

โดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ / ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw)

รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็มีการพยายามทำให้การแก้ไขยากขึ้นอีก โดยมีสมาชิกรัฐสภาส่งเอกสารให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องที่รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564

และเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ออกคำวินิจฉัยมาแล้วว่า “รัฐสภาสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ แต่! ภายใต้เงื่อนไขต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงมติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง” ดังนั้นจะมีการลงประชามติ 2 รอบ หากมติวาระที่ 3 ผ่าน จะมีการทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะให้มี ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

แต่กว่าจะถึงขั้นตอนดังกล่าว จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่แสดงเจตนารมณ์ของตนเองชัดเจนว่าไม่ต้องการ ส.ส.ร. หรือหากต้องมี แต่ก็ห้ามแก้ไข หมวด 1 กับหมวด 2 โดย ส.ว. ที่จำนวนเกือบๆ 250 คน อ้างว่าไม่ต้องการให้มี ส.ส.ร.เพราะว่ากลัว ส.ส.ร. จะได้เช็คเปล่าเพื่อไปเขียนอะไรก็ได้ รวมถึงประเด็นพระราชอำนาจและหมวดพระมหากษัตริย์ ถึงแม้จะเป็น ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ก็ห้ามเขียนหมวด 1 หมวด 2 ใหม่ และในภายหลังได้ขยายความเพิ่มมาอีกว่า ห้ามแก้บทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจอีก 38 มาตรา

หน้าที่ของ ส.ว. ไม่ว่าจะลงมติอย่างไรก็ตามต้องอธิบายเหตุผลในการลงมติต่อประชาชนได้ และต้องเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นด้วย แล้วร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันนี้กำลังจะให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 100% ด้วย หาก ส.ว.อ้างว่าการให้มี ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้ง 100% จะทำให้ใครก็ไม่รู้จะมาได้เช็คเปล่าเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงเรื่องกษัตริย์อย่างไรก็ได้ นั่นแปลว่าท่าน ส.ว. คิดว่าประชาชนจะเลือกคนแบบนั้น แสดงว่าท่าน ส.ว. รู้อยู่แล้วว่าประชาชนส่วนมากของประเทศต้องการความเปลี่ยนแปลงในประเด็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ยังไม่มีใครรู้ เพราะยังไม่เคยมีการลงคะแนนในเรื่องนี้มาก่อน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw))

สุดท้ายไม่ว่าผลการลงมติจะเป็นอย่างไรตลอดระยะเวลาที่ต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญกันมา ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนทั้งหมดนี้จะไม่มีทางเริ่มใหม่ สิ่งที่ผ่านมาแล้วเป็นบันไดแต่ละก้าวที่จะนำเราไปข้างหน้า เพื่อโอกาสที่มากขึ้น เป้าหมายของการแก้รัฐธรรมนูญอาจจะไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนตัวบทกฎหมายที่เขียนเป็นตัวอักษร แต่เราต้องการสร้างสังคมแบบใหม่ที่ดีขึ้น

 

3 เสาหลักของรัฐธรรมนูญก้าวหน้า

โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ / ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB)

หากเราตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มีปัญหา แล้วคำตอบปลายทางของรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้านี้เป็นอย่างไร ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมี 3 ก้าวด้วยกันคือ

  1. ก้าวพ้นจากวิกฤต ทำอย่างไรให้กฎหมายสูงสุดของประเทศเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคมจริงๆ หากมีคนที่มีความเห็นที่แตกต่างอย่างน้อยก็ต้องยอมรับในกติกา และรัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นเงื่อนไขของวิกฤตการเมืองในอนาคตด้วย
  2. ก้าวสู่ประชาธิปไตย ในรัฐธรรมนูญควรมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  3. ก้าวทันโลกอนาคต ทำอย่างไรที่เราจะออกแบบโครงสร้างรัฐให้คล่องตัวว่องไวในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น

    พริษฐ์ วัชรสินธุ (ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB))

ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ขัดกับความเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีใน 3 ก้าว คือ

1. (ไม่สามารถ) ก้าวพ้นจากวิกฤต ย้อนกลับไปดูการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2557-2559 จะเห็นว่าประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมเลย รัฐธรรมนูญถูกร่างโดยคนใน คสช. ไม่เปิดกว้างให้ประชาชนได้มีโอกาสมาแสดงความเห็น และคนที่ร่างรัฐธรรมนูญในตอนนั้นก็ไม่มีเจตนาหรือออกแบบรัฐธรรมนูญให้เป็นกลางมี เพียงเจตนาที่จะสืบทอดระบบ คสช. เท่านั้น

รวมถึงมีกระบวนการที่ไม่เป็นกลางด้วย ถึงแม้จะผ่านการลงประชามติรับร่างฯ จาก 16 ล้านคนตอนปี 59 มาแล้ว แต่การลงประชามติในตอนนั้นไม่ได้เป็นประชามติที่เสรีและเป็นธรรม ไม่มีการส่งต่อข้อมูลที่ทั่วถึงและเปิดให้ประชาชนทุกฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือคัดค้าน และที่มากไปกว่านั้นคือ กลายเป็นสนามการลงประชามติที่ไม่เท่าเทียม เพราะในตอนที่ทุกฝ่ายรณรงค์เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญปี 60 มีฝ่ายที่คัดค้านหรือไม่รับร่างฯ ด้วย ซึ่งหลายคนกลับถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน

2. (ไม่สามารถ) ก้าวสู่ประชาธิปไตย ในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีความถดถอยในรายละเอียดของสิทธิบางอย่าง เช่น สิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข สิทธิเสรีภาพในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีมีอากาศสะอาดก็ถูกถอดถอนไปจากรัฐธรรมนูญปี 40

สิทธิเสรีภาพที่เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกคุ้มครองในเชิงปฏิบัติ แต่ทำไมเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์โดยสุจริต กลับมีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ความจริงควรจะครอบคลุมแค่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายเท่านั้น นอกจากนี้รัฐธรรมนูญปี 60 ยังมีการเพิ่มข้ออ้างให้การจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน เมื่อก่อนหากรัฐจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของเรา จะต้องชี้แจงให้เห็นชัดว่าการกระทำของเราไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น แต่ก็มีมาตรา 25 ที่เพิ่มเข้ามาว่า เมื่อการกระทำของเราไปกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อย

รัฐมีเหตุผลหรือข้ออ้างเพิ่มเติมในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเรา รวมถึงการเพิ่มอำนาจของ 4 องค์กรที่ไม่มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนเลย คือ 1.วุฒิสภา 2.ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 3. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ 4.สถาบันพระมหากษัตริย์ แทนที่สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนควรจะมีหน้าที่สูงสุดหากเทียบกับองค์กรอื่น

3. (ไม่สามารถ) ก้าวทันโลกอนาคต คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดฉบับหนึ่ง ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญทั่วโลก และยังจำกัดสิทธิของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีก หากแม้รัฐบาลนั้นคิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถทำได้

เกิดความเลื่อมล้ำในรัฐธรรมนูญสูงขึ้น คุณภาพชีวิตของประชาชนมีความเปราะบางขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดหลังจากการระบาดของโควิด-19 รัฐควรมีความก้าวหน้าในการวางหลักประกันสวัสดิการใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยมีมาการในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ เช่น สิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน

ลดความสำคัญของการกระจายอำนาจลง การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษต้องมีผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยคนในพื้นที่ หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 40 รัฐธรรมนูญปี 60 นี้ไม่มีการพูดถึงการกระจายอำนาจเลย

 

วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

กับดักที่เราเจอในปัจจุบันคือการถูกบีบบังคับให้ต้องเลือก ระหว่างการร่างใหม่ทั้งฉบับกับแก้ไขรายมาตรา วาทกรรมนี้มักถูกใช้มาตลอดในการพยายามที่จะบอกเราว่าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องเลือก แต่ต้องทำสองสิ่งนี้ควบคู่และคู่ขนานกัน เพราะถ้าร่างฯ ใหม่ทั้งฉบับจะใช้ระยะเวลานาน อาจจะใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี นั่นหมายความว่าหากระหว่างที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา มีการยุบสภาหรือมีการเลือกตั้ง เรายังจะต้องอยู่ภายใต้กติกาเดิม จะยังมี ส.ว. 250 คนมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม ดังนั้นจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่แก้ไขรายมาตราก็ไม่ได้

แต่ถ้าเราจะแก้ไขรายมาตราโดยที่ไม่สนใจการร่างฯ ใหม่ทั้งฉบับก็ไม่ได้ เพราะว่าในหลายมาตรามีปัญหามากและมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้

 

รณรงค์ในการแก้ไขรายมาตราและปลด 3 อาวุธ  

  1. ปลดอาวุธวุฒิสภา ด้วยการยกเลิกระบบรัฐสภาแบบคู่ กลับไปใช้ระบบรัฐสภาเดี่ยวแบบเดี่ยว
  2. ปลดอาวุธศาลและองค์กรอิสระ โดยต้องมีที่มาที่ยึดโยงกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีการแต่งตั้ง ส.ว. หรือรีเซ็ตที่มาขององค์กรอิสระ และให้มีกระบวนการสรรหากรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านการลงคะแนนของ ส.ส.
  3. ปลดอาวุธยุทธศาสตร์ชาติ อย่าให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเครื่องมือให้คสช.ใช้เล่นงานพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้

นอกจากการจับตาการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ถึงเวลาที่เราต้องแก้รายมาตราด้วย โดยการเริ่มจากการรณรงค์ให้ยกเลิกวุฒิสภา และปรับไปใช้สภาเดี่ยวที่ท่านปรีดีเสนอที่จะมีแต่สภาผู้แทนราษฎร