ย้อนอ่านคำพิพากษาศาลรธน. ผลัก“สมัคร”ตกเก้าอี้นายกฯ ว่าด้วยปม“ลูกจ้าง-ค่าตอบแทน”

ข่าวใหญ่เมื่อปี 2551 คือการพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ของ นายสมัคร สุนทรเวช อันเนื่องจากรายการโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป”

คดีนี้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เมื่อ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา พร้อมคณะ ส.ว. ไปยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด

หากมีการกระทำตามมาตรานี้ จะทำให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7)

เป็นคดีที่สร้างความขุ่นมัวให้นายสมัคร และบ่นถึงเรื่องนี้มาตลอดอย่างต่อเนื่อง…

AFP PHOTO / AFP PHOTO / AFP
AFP PHOTO / AFP PHOTO / AFP

วันที่ 9 กันยายน 2551 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของ ส.ว.จำนวน 29 คน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้องที่ 1-2 ตามลำดับ เพื่อขอให้วินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบ 182 วรรคสาม และมาตรา 91 กรณีการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และรายการ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ดังนี้

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจง การแก้ข้อกล่าวหา เอกสารประกอบ พยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และคำเบิกความจากพยานบุคคลแล้ว เห็นว่าคดีทั้ง 2 มีพยานหลักฐานที่เพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ โดยมีการกำหนดประเด็นที่พิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 267 เพราะเหตุผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งใดในบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่มุ่งหาผลประโยชน์ กำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวหรือไม่

มีปัญหาประการแรกที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัดหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ซึ่งบัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างของบุคคลใด เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นไปโดยชอบ ป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันจะก่อให้เกิดสถานการณ์ขาดจริยธรรมซึ่งยากในการตัดสินใจทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ฐานขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงขัดกันในลักษณะที่ประโยชน์ส่วนตัว จะได้มาจากการเสียไปซึ่งประโยชน์สาธารณะ

การทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบรรลุผล จึงไม่ใช่แปลความคำว่า “ลูกจ้าง” ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เพียงหมายถึงลูกจ้างตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือตามกฎหมายภาษีอากรเท่านั้น เพราะกฎหมายแต่ละฉบับย่อมมีเจตนารมณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งแตกต่างกันไปตามเหตุผล และการบัญญัติกฎหมายนั้นๆ

ทั้งกฎหมายดังกล่าวก็ยังมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และยังมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์แตกต่างจากกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย

อนึ่ง รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การปกครองประเทศ เนื่องจากตั้งรับรองสถานะของสถาบันและสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กำหนดพื้นฐานการดำเนินการของรัฐ เพื่อให้รัฐได้ใช้เป็นหลักใช้ปรับกับสภาวการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ดังนั้น คำว่าลูกจ้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 จึงมีความหมายกว้างกว่าคำนิยามของกฎหมายอื่น โดยต้องแปลตามความหมายทั่วไป ซึ่งตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายของคำว่าลูกจ้างว่า หมายถึงผู้รับจ้างทำการงานผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิคำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หากมีการตกลงเป็นผู้รับจ้างทำการงานแล้ว ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าลูกจ้าง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ทั้งสิ้น

มิฉะนั้นผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ที่รับจ้างรับค่าจ้างเป็นรายเดือนในลักษณะสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีก็สามารถทำงานต่อไปได้ โดยเปลี่ยนค่าตอบแทนจากค่าจ้างรายเดือน มาเป็นสินจ้างตามการทำงานที่ทำ เช่น แพทย์เปลี่ยนจากเงินเดือนมาเป็นค่ารักษาตามจำนวนคนไข้ ที่ปรึกษากฎหมายก็เปลี่ยนจากเงินเดือนมาเป็นค่าปรึกษาหรือค่าทำความเห็นมาเป็นรายครั้ง ซึ่งก็ยังผูกพันกันในเชิงผลประโยชน์กันอยู่ระหว่างเจ้าของกิจการกับผู้ที่รับทำงานให้ เห็นได้ชัดเจนว่ากฎหมายย่อมไม่มีเจตนารมณ์ให้หาช่องทางหลีกเลี่ยงให้ทำได้โดยง่าย

ข้อเท็จจริงได้จากการไต่สวนผู้ถูกร้อง หลังจากผู้ถูกร้องเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ผู้ถูกร้องยังเป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ให้กับ บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะกิจการงานที่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ได้กระทำร่วมกันกับผู้ถูกร้องมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายปี โดยบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เพื่อมุ่งค้าหากำไร ไม่ใช่เพื่อการกุศลสาธารณะ และผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะ และภารกิจเมื่อได้กระทำในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำและนิติสัมพันธ์ที่อยู่ในขอบข่ายที่มาตรา 267 ประสงค์จะป้องปรามเพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคธุรกิจเอกชนแล้ว

ทั้งยังปรากฏจากคำให้สัมภาษณ์ของผู้ถูกร้องในหนังสือ “สกุลไทย” ฉบับที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 23 ตุลาคม 2544 หน้า 37 อีกด้วยว่า การทำหน้าที่พิธีกรกิตติมศักดิ์รายการโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป” ที่ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 10.30-11.00 น. ทางสถานีไอทีวี ผลิตรายการโดยบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัดนั้น ผู้ถูกร้องได้รับเงินเดือนจากบริษัทเดือนละ 8 หมื่นบาท

AFP PHOTO / SAEED KHAN
AFP PHOTO / SAEED KHAN

สำหรับหนังสือของ นายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ที่มีถึงผู้ถูกร้องลงวันที่ 15 ธันวาคม 2550 ปรึกษาว่าผู้ถูกร้องจะดำเนินการอย่างไรในการเป็นพิธีกรรับเชิญในรายการ “ชิมไปบ่นไป” และหนังสือของผู้ถูกร้องมีถึงนายศักดิ์ชัย ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2550 แจ้งว่าผู้ถูกร้องจะทำให้เปล่าๆ โดยไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นค่าน้ำมันรถเหมือนอย่างเคยนั้น ผู้ถูกร้องไม่เคยแสดงหนังสือทั้ง 2 ฉบับนี้มาก่อนจะถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งเรียกให้ชี้แจง โดยผู้ถูกร้องชี้แจงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 และยังคงยืนยันเสมือนว่าก่อนเดือนธันวาคม 2550 ผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าน้ำมันรถเท่านั้น

ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความของนางดาริกา รุ่งโรจน์ พนักงานบัญชีของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด และหลักฐานทางภาษีอากรดังกล่าวข้างต้น ที่ว่าก่อนหน้านั้นผู้ถูกร้องได้รับค่าจ้างแสดง ไม่ใช่ค่าน้ำมันรถ อันเป็นข้อพิรุธ ส่อแสดงว่าเป็นการทำหลักฐานย้อนหลัง เพื่อปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าตอบแทนของผู้ถูกร้อง ทั้งผู้ถูกร้องเองเบิกความว่าผู้ถูกร้องไม่ได้รับค่าน้ำมันรถ และค่าใช้จ่าย น่าจะเป็นการนำเงินไปให้คนขับรถมากกว่า ก็ขัดแย้งกับคำชี้แจงของผู้ถูกร้อง ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ที่ให้การว่า การที่ผู้ถูกร้องได้รับเชิญไปในรายการ “ชิมไปบ่นไป” น่าจะได้รับค่าพาหนะ โดยค่าพาหนะจะได้รับเฉพาะเมื่อไดไปออกรายการเท่านั้น ถ้าไม่ไปออกรายการตามที่เชิญมากก็ไม่ได้รับค่าพาหนะ จึงรับฟังเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้

พยานหลักฐานทั้งหมดมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องทำหน้าที่พิธีกรในรายการ “ชิมไปบ่นไป” หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยผู้ถูกร้องยังคงได้รับค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินจากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องเป็นพิธีกรให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการรับจ้างการทำงานตามความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 แล้ว กรณีถือได้ว่าผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)

AFP PHOTO / SAEED KHAN
AFP PHOTO / SAEED KHAN

อนึ่ง มีตุลาการรัฐธรรมนูญ 6 คน เห็นว่าผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาว่าผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งใดในบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัดหรือไม่อีก

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 3 คน เห็นว่าการเป็นพิธีกร การใช้ชื่อรายการ “ชิมไปบ่นไป” และใช้รูปใบหน้าของผู้ถูกร้องในรายการของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้แก่กิจการที่ทำนั้น ในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนร่วมกัน ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกร้องให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วน โดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน และไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาว่า ผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 หรือไม่อีก

อาศัยเหตุผลข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ จึงวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 จึงเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคหนึ่ง (1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือ จึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181