ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง |
เผยแพร่ |
ต้องบอกว่า ไม่บ่อยครั้งที่นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน โดยเฉพาะ “มติชนสุดสัปดาห์” ได้สนทนาแบบยาวๆ ในหลายเรื่องหลายประเด็น
ซึ่งนักบริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยวัย 52 ปีคนนี้ ถือเป็นผู้หญิงมุสลิมคนแรกของบ้านเราที่ได้นั่งเก้าอี้รองผู้ว่าฯ
โดยก่อนหน้าจะมาเป็นรองผู้ว่าฯ นราธิวาส เคยเป็นรองผู้ว่าฯ พัทลุง เมื่อปี 2559
กับคำถามที่ว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้ขึ้นเป็นรองผู้ว่าฯ หญิงมุสลิมคนแรก นางพาตีเมาะแจกแจงว่า เดิมขึ้นเป็นรองผู้ว่าฯ ที่จังหวัดพัทลุงก่อนได้ปีหนึ่ง เมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งการที่ผู้หญิงมุสลิมคนหนึ่งได้เป็นรองผู้ว่าฯ ถือเป็นโอกาสของพื้นที่ที่ชี้ให้เห็นถึงที่ยืนของสตรีมุสลิม ที่ไม่ใช่ง่ายนักที่จะมีแบบนี้ เลยได้รับการโยกย้ายกลับไปที่ จ.นราธิวาส เพราะจริงๆ ดั้งเดิมก็เป็นคนในพื้นที่ คือเป็นคนยะลาที่ ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา
ว่าไปแล้วเธอเป็นผู้หญิงเก่งที่ไต่เต้าขึ้นมาด้วยความรู้ความสามารถจริงๆ เพราะคงมีเด็กจากโรงเรียนวัดไม่กี่คนที่ขึ้นมายืนผงาดในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ได้
อย่างที่เจ้าตัวย้อนอดีตให้ฟังว่า “ดิฉันเป็นเด็กนักเรียนบ้านนอกมาจากโรงเรียนวัดลำใหม่ เป็นเด็กที่มีโอกาสได้ศึกษา และมีโอกาสได้เข้าสู่ระบบราชการ ทำให้ชีวิตมีโอกาสเติบโต เพราะฉะนั้น พื้นฐานก็มาจากคนพื้นที่ สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนในการที่จะนำมาซึ่งการสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ด้วย จึงเป็นที่มาว่าทำไมถึงย้ายไปนราธิวาส และมีชื่อแปลกๆ แบบนี้เป็นรองผู้ว่าฯ ด้วย”
“สิ่งเหล่านี้มาจากกระบวนการศึกษาที่เราได้รับมา แต่ว่าดิฉันทำงานในกระทรวงมหาดไทยนี่ยาวเป็น 20 กว่าปีแล้ว เรียนจบมัธยมจากโรงเรียนสาธิตปัตตานี มีพื้นฐานการเรียนมาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาด้วย คือโรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนพัฒนาวิทยา ยะลา และจบจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ มอ. หาดใหญ่ คณะวิทยาการจัดการ เส้นทางชีวิตที่มาถึงวันนี้ได้ ส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาล้วนๆ เลย เพราะไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีต้นทุนสูง”
“แต่มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างยากจนด้วยซ้ำไป แต่ได้โอกาสจากพ่อแม่ที่สร้างให้”
ถึงตรงนี้ ทำให้อยากรู้ว่า ที่ว่ายากจน ไม่ทราบว่าคุณพ่อคุณแม่ทำอาชีพอะไร
รองผู้ว่าฯ พาตีเมาะตอบว่า เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ทำนาทำสวนทั่วไป ไม่ได้มีฐานะอะไรมากมาย
“ดิฉันรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสย้ายไปทำงานในพื้นที่ของตัวเอง และอยากจะบอกให้สังคมในบ้านเราได้รับรู้ว่า การศึกษาเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความสันติสุข จะนำมาซึ่งโอกาสของคน ความเข้มแข็งของคน โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิม ซึ่งหลักคำสอนของศาสนาเองก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้พื้นที่ของสตรีไม่ได้มีมากพอ เมื่อได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่อย่างนี้ เลยทำให้เราได้เข้าไปเติมเต็มช่องว่างให้พวกเขาค่อนข้างจะเยอะ”
ด้วยความที่เป็นมุสลิมหญิงคนแรกที่นั่งตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ผู้คนย่อมคาดหวังมาก
“ถ้ามองในมุมของตัวเองคงไม่ใช่เรื่องของแรงกดดัน เพราะว่าที่ผ่านมาก็อยู่กับแรงกดดันมาตลอดอยู่แล้วในความที่เป็นผู้หญิงมุสลิมที่ทำงานในระบบราชการ แต่ตัวเองมองในมุมเป็นความท้าทายมากกว่า”
“ในส่วนของการเป็นรองผู้ว่าฯ หญิงที่มีความแตกต่างจากผู้ชาย วันนี้ก็มีอะไรหลายอย่างเยอะเหมือนกัน สมมติว่าพอเราตัดสินใจจะทำอะไรก็มีเสียงประมาณว่า เอ๊ย…อันนี้ทำได้ยังไง ทำไมถึงไปทำแบบนั้น…อันนี้ก็เป็นธรรมดาของคนทำงาน แต่บอกได้เลยว่าในความเป็นรองผู้ว่าฯ วันนี้ คือความภูมิใจของคนในจังหวัดชายแดนใต้ คือแรงบันดาลใจ และเป็นแรงกระตุ้นให้ต้องไปสร้างให้ลูกให้หลานของเรา”
“มันคือความรู้สึกว่านี่คือการบริหารงานของรัฐ นี่คือความจริงใจของรัฐบาลที่ได้ดูแลลูกหลานของเขาให้ได้มีโอกาสทำงานขึ้นตำแหน่งอย่างที่เขาควรจะได้ เพราะว่าเราต้องยืนยันด้วยตัวเองอย่างมั่นใจเลยว่าการได้เป็นรองผู้ว่าฯ ในวันนี้ได้มาจากการพิสูจน์การทำงานที่ใช้เวลาระยะหนึ่ง มันเป็นบทพิสูจน์ทุกครั้งที่ลงไปก็บอกน้องๆ ว่า…สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงาน คือความอดทน ความมั่นใจ ความมุ่งมั่นของเราและความชัดเจนของเราด้วย”
“อย่างดิฉันเองก็มีความชัดเจนในตัวมาก ถามว่ามีความทะเยอทะยานไหม…ตอบว่าไม่… แต่มีความชัดเจนที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่า หากมีโอกาสในวันนี้ก็ขอให้เดินทางไปถึงการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะนั่นหมายถึงเกียรติคุณศักดิ์ศรีของความเป็นพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนี้คือความภูมิใจ ซึ่งที่ผ่านมากระแสในพื้นที่นี้ก็ได้รับการตอบรับดีมากเลยตอนที่ได้ขึ้นเป็นรองผู้ว่าฯ ใหม่ๆ กระแสของคนในพื้นที่นำมาซึ่งการเติมเต็ม ลดช่องว่างบางอย่างในความไม่เข้าใจกันระหว่างรัฐกับประชาชน”
“ดิฉันกลายเป็นจุดเติมเต็ม กลายเป็นต้นแบบของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้นแบบนี้ก็จะเป็นต้นแบบที่ดีงามอย่างหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างรัฐกับประชาชน และเป็นแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่มากเลย แต่อันนี้ต้องยอมรับว่ามันไม่ง่ายนัก”
เมื่อถามถึงสไตล์การทำงาน รองผู้ว่าฯ หญิงท่านนี้ตอบว่า “เป็นคนทำงานแบบตรงไปตรงมา อาศัยความตั้งใจ ความจริงใจอย่างเดียวเลย ในวันนี้ประชาชนเชื่อมั่นเรามาก แต่ในหลักของการบริหารมันก็มีอะไรเยอะ ความเชื่อมั่นอย่างเดียวก็ไม่พออีก มีอีกหลายๆ อย่างที่จะต้องเข้ามา เพราะฉะนั้น การที่ได้มีโอกาส การที่ได้เรียนรู้ หรือได้วิธีคิดใหม่ๆ กับสิ่งที่เรามีอยู่ถือเป็นเรื่องดี”
“ดิฉันเองอยากจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนในพื้นที่ อยากจะให้เขาได้เรียนรู้กับความเป็นสมัยใหม่ การพัฒนาของโลกหลายๆ อย่าง ถามว่าแรงต้านมีไหม ก็มี แรงกดดันมีไหม แรงเสียดทานอะไรต่างๆ ก็มี…เยอะด้วย …แต่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถผ่านไปได้บนพื้นฐานของความอดทน เราต้องอดทนต่อกัน ต้องมีความเชื่อมั่นต่อกัน เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่จะนำมาซึ่งความอดทนหรือความศรัทธาคือ การที่เราทำงานอย่างตรงไปตรงมาและหมั่นพูดคุยปรึกษาหารือกันตลอด”
สำหรับปัญหาชายแดนภาคใต้ที่เรื้อรังมานาน มีบทบาทในการแก้ปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน
“ดิฉันมองว่าเป็นโอกาส ด้วยความเชื่อมั่นว่าปัญหาชายแดนใต้ โดยเฉพาะเรื่องความไม่สงบเป็นปัญหาหลักที่ทุกคนมอง อันที่จริงแล้วตอนนี้ก็มีความเชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่า เหตุการณ์นี้จะนิ่งหรือสงบได้ก็อยู่ที่ผู้หญิง ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้หญิงจะนำมาซึ่งความสันติสุข”
“และมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ซึ่งคนที่จะทำความเข้าใจได้ดีที่สุดก็คือผู้หญิง ไม่ใช่รองผู้ว่าฯ ที่เป็นผู้หญิง แต่คือผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่นั่นแหละ”
“เพราะฉะนั้น ในความเป็นรองผู้ว่าฯ ในความเป็นผู้หญิง สิ่งหนึ่งที่เรามองคือจะต้องลงไปทำงานในระดับกลุ่มสตรี ซึ่งดิฉันมีความเชื่อว่าเป็นผู้มีความเหมาะสมและมีอิทธิพลที่จะเชื่อมโยงไปทำให้เกิดความสงบในพื้นที่ได้”
“อย่างไรก็ตาม การเดินไปถึงความสงบ ยากที่จะบอกว่าวันนี้ความรุนแรงจะหยุดหรือไม่หยุด แต่ว่าความยั่งยืนที่จะทำให้เกิดความสงบนั่นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้น คนที่จะสร้างความยั่งยืนได้ดีที่สุดก็คือกลุ่มผู้หญิง ซึ่งเชื่อมั่นว่าความไม่สงบหรือการยุติ จะต้องอยู่ในระดับของหมู่บ้าน ถ้าหมู่บ้านหรือชุมชนนิ่ง อย่างอื่นจะนิ่งตามไปด้วย”
คิดอย่างไรกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติเมื่อไร แม้จะมีความพยายามในการเจรจากัน
“ถ้ามองจากตัวเลขสถิติ จะเห็นว่าวันนี้ตัวเลขเหล่านั้นเบาไปเยอะ ทั้งตัวเลขของคนเสียชีวิตและตัวเลขจำนวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็น้อยลงไปเยอะ”
“แต่ถามว่ายุติไหม…ไม่…หากถามต่อว่าจะยุติในอีก 2-3 ปีนี้ไหม ก็ไม่ใช่อีกอยู่ดี… แต่สิ่งหนึ่งที่เรามีความเชื่อมั่นว่า การมีมาตรการในเชิงป้องกันหรือดูแล จะเป็นมาตรการหนึ่งที่จะไปหยุดความรุนแรงได้ในบางส่วน แล้วก็ด้วยความเชื่อมั่นอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราหวังความสงบ ถ้าเราหวังจะให้หยุดยิง อาจจะยังช้าไปบ้าง แต่ถ้าเราหวังที่จะให้เกิดความสงบแบบยั่งยืน เราก็จะต้องดูไปถึงเรื่องการศึกษาของคนด้วย จะต้องไปสร้างความเข้าใจ”
“วันนี้อาจจะเห็นบรรยากาศเลยว่ามีการพูดคุยเจรจา อันนี้คือกระบวนการขั้นตอนหนึ่ง ไม่ใช่ว่าแค่ไปคุยแล้วเรื่องทั้งหมดจะยุติ ไม่ใช่ …เป็นแค่เพียงกระบวนการหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันอีกเยอะ อีกหลายรอบหลายยก”
“แล้วก็ด้วยพื้นฐานของความเข้าใจหรือพื้นฐานของความแตกต่างของความคิดในตัวเอง กลุ่มความคิดต่างก็มีอยู่ ไม่ได้ปฏิเสธเสียเลยว่าไม่มี แต่จะทำอย่างไรให้กลุ่มที่มีความเห็นต่างเหล่านี้ลงมาสู้ในรูปแบบในวิถีของชาวโลกที่เขาใช้กัน ไม่ใช่ในลักษณะของการวางระเบิดก่อความรุนแรง”
“ดิฉันมองว่าวิธีเหล่านี้น่าจะเป็นวิธีที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้เสร็จทีเดียวเลยคงยาก เพราะต้องยอมรับว่า ความคิดคนยังมีอยู่ ความคิดหรือแนววิธีที่จะสู้ด้วยความรุนแรงก็ยังมีอยู่ แล้ววันนี้ก็มีการใช้ความรุนแรงไปโยงกับวิถีชีวิตประจำวันของคน”
“อย่างเช่นในเรื่องของความขัดแย้งกันแล้วเอาวิธีรุนแรงมาใช้ อันนี้เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาใหม่ เราคงต้องกลับไปทบทวนอีกหลายๆ วิธีก่อนหน้านี้แล้วนำมาใช้ เพราะวันนี้มองว่าการเจรจาอย่างเดียวมันคงเป็นไปไม่ได้”
ทั้งหมดนี้คงทำให้เห็นแล้วว่ารองผู้ว่าฯ หญิงมุสลิมที่ชื่อ “พาตีเมาะ สะดียามู” เธอคือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของนักบริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแม้จะไม่ใช่แกนหลักในการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่มุมมองของเธอก็ทำให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าปัญหานี้ยังคงอยู่คู่กับประเทศไทยไปอีกนาน